- Details
- Category: กลต.
- Published: Friday, 28 February 2020 10:52
- Hits: 2111
ก.ล.ต. แถลงแผนยุทธศาสตร์ปี 2563 –2565 ภายใต้แนวคิด ‘ขับเคลื่อน เปลี่ยนผ่าน ก้าวนำสู่ความยั่งยืน’
ปี 2563 –2565 ภายใต้แนวคิด ‘ขับเคลื่อน เปลี่ยนผ่าน ก้าวนำสู่ความยั่งยืน’ โดยนายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการ ก.ล.ต. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ กล่าวในหัวข้อ ‘มอง 3 ปีข้างหน้ากับการขับเคลื่อนตลาดทุนไทย’ นางสิริวิภา สุพรรณธเนศ รองเลขาธิการ กล่าวในหัวข้อ ‘เปิดมิติใหม่ของการระดมทุน’นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ รองเลขาธิการ หัวข้อ’เสริมสร้างความพร้อมแข่งขัน สร้างภูมิคุ้มกันวัยเกษียณ’นายศักรินทร์ ร่วมรังษี รองเลขาธิการ กล่าวเรื่อง ‘เตรียมพร้อมให้เท่าทันอาชญากรรมเศรษฐกิจยุคดิจิทัลเพื่อความเชื่อมั่นตลาดทุน’และนายกำพล ศรธนะรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ กล่าวถึง ‘ก.ล.ต.สู่องค์กรดิจิทัลเพื่อตลาดทุน’ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก
นอกจากนี้ ยังมีเสวนาในหัวข้อ “มุมมองต่อแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต.” ซึ่งได้รับเกียรติจากนายสันติ วิริยะรังสฤษฎ์ ประธานบรรณาธิการ วารสารการเงินธนาคาร ผศ. ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และ ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ร่วมสะท้อนมุมมองต่อแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2563 – 2565
ก.ล.ต. วาง 4 เป้าหมายตอบโจทย์การพัฒนาทุกมิติ เพื่อขับเคลื่อน 7 แผนยุทธศาสตร์ปี 2563-2565 มุ่งเน้นการเข้าถึงตลาดทุนเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน สร้างความสามารถในการแข่งขัน และการกำกับดูแลที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง สอดคล้องแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนระดับรอง
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดงานแถลงแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต.
ปี 2563 –2565 ภายใต้แนวคิด ‘ขับเคลื่อน เปลี่ยนผ่าน ก้าวนำสู่ความยั่งยืน’ โดยนายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการ ก.ล.ต. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมนำเสนอแผนโดยนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ และคณะผู้บริหารร่วมบรรยาย เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก
นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ในยุคที่ภูมิทัศน์ของตลาดทุนไทยเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง รวดเร็วและซับซ้อน ก.ล.ต. จะต้องปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง การกำหนดทิศทางและนโยบายจำเป็นต้องสอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาต่าง ๆ รวมถึงนโยบายของรัฐบาล เพื่อไปสู่เป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จึงจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริง แผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. จึงกำหนดจากประเด็นหลัก คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน การสร้างโอกาสการเข้าถึง การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน และการสร้างความน่าเชื่อถือ และจะต้องนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ผลภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและคาดเดาได้ยาก กุญแจสำคัญที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้ คือ แนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน มีประสิทธิภาพ และด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน”
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ปี 2563 –2565 ก.ล.ต. ได้คำนึงถึงสถานการณ์ปัจจุบัน แนวโน้มและความท้าทายในอนาคต โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้ตลาดทุนทำหน้าที่ตอบโจทย์สำคัญของประเทศ และถือเป็นครั้งแรกที่การจัดทำแผนมุ่งเน้นความสอดคล้องกับทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) รวมถึงแผนแม่บท 23 ประเด็น และนโยบายรัฐ 12 ด้าน โดย ก.ล.ต. พร้อมขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ที่มุ่งเป้าหมายหลัก 4 ด้าน คือ ยั่งยืน-เข้าถึง-แข่งได้และเชื่อมโยง-เชื่อถือได้ และเพื่อให้สามารถบรรลุผลตามเป้าหมาย ก.ล.ต. ได้กำหนด ‘แผนองค์กรเข้มแข็ง’ด้วยคำจำกัดความ “DECIDE” กล่าวคือ Delegate - Empowerment – Communication – Integration – Development – Engagement ในการร่วมกันสร้างองค์กร ก.ล.ต. ให้มั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกับตลาดทุนไทย
นางสิริวิภา สุพรรณธเนศ รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวในหัวข้อ “เปิดมิติใหม่ของการระดมทุน” ว่า ก.ล.ต. ต้องการเปิดกว้างให้ธุรกิจทุกขนาดสามารถระดมทุนได้ โดยวางแนวทางกำกับดูแลด้วยหลักการเปิดเผยข้อมูล (disclosure) เพื่อไม่ให้เป็นต้นทุนกับธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มการระดมทุนในช่องทางที่เหมาะกับผู้ลงทุนยุคใหม่ พร้อมกับส่งเสริมให้เกิดผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน และมีแผนที่จะดำเนินงานด้านการให้ความรู้การลงทุนแก่ประชาชนทุกกลุ่ม
นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวถึงหัวข้อ “เสริมสร้างความพร้อมแข่งขัน สร้างภูมิคุ้มกันวัยเกษียณ” ว่า การเสริมสร้างความพร้อมในการแข่งขันของตลาดทุนไทย ก.ล.ต. จะลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของตัวกลาง ควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้ลงทุน ขณะเดียวกันมีแผนที่จะส่งเสริมการออมเพื่อวัยเกษียณผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและผลิตภัณฑ์การลงทุนที่สร้างภูมิคุ้มกันสำหรับวัยเกษียณ
นายศักรินทร์ ร่วมรังษี รองเลขาธิการ ก.ล.ต. บรรยายในหัวข้อ ‘เตรียมพร้อมให้เท่าทันอาชญากรรมเศรษฐกิจยุคดิจิทัลเพื่อความเชื่อมั่นตลาดทุน’ ว่า ระบบการกำกับดูแลในยุคดิจิทัล ก.ล.ต. ต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันและการบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้วยหลัก “4จ: หาให้เจอ จับให้ได้ จบให้เร็ว เจ็บให้จำ” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุน
นายกำพล ศรธนะรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวในหัวข้อ ‘ก.ล.ต. สู่องค์กรดิจิทัลเพื่อตลาดทุน’ ว่า ก.ล.ต. ปรับเปลี่ยนสู่องค์กรดิจิทัลโดยนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการทำงาน พร้อมกับสร้างโครงสร้างพื้นฐานกลาง (shared infrastructure) เพื่อเชื่อมต่อให้ภาคธุรกิจทั้งรายเดิมและรายใหม่สามารถต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงยกระดับอุตสาหกรรมในเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์และมีการซักซ้อมเพื่อให้มั่นใจว่าสามารถจัดการความเสี่ยงได้
นอกจากนี้ ยังมีเสวนาในหัวข้อ “มุมมองต่อแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต.” โดยได้รับเกียรติจาก คุณสันติ วิริยะรังสฤษฎ์ ประธานบรรณาธิการ วารสารการเงินธนาคาร ผศ. ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล คุณไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และ ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ร่วมสะท้อนมุมมองต่อแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2563 – 2565 โดยผู้ร่วมเสวนาให้ความเห็นต่อแผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. เชิงบวกและกล่าวชื่นชมว่ามีความครบถ้วนรอบด้าน พร้อมทั้งเสนอแนะ ก.ล.ต. ให้ส่งเสริมประชาชนให้เข้าถึงการลงทุนด้วยการให้ความรู้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และช่องทางที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย และสนับสนุนให้บริษัทที่จะเข้าระดมทุนมีความพร้อมและมีความเข้าใจในการเป็นบริษัทมหาชน รวมทั้งควรเพิ่มเติมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาตลาดทุนที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้น
ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ ปี 2563-2565 ทั้ง 7 ด้าน มีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาตลาดทุนอย่างยั่งยืน (Ecosystem for sustainable capital market) ส่งเสริมให้ผู้ระดมทุนเห็นประโยชน์และสามารถผนวก ESG เข้ากับการดำเนินธุรกิจ และเปิดเผยข้อมูลผ่าน one-report ส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์การลงทุนเพื่อความยั่งยืน เช่น Green Bond และ Social Bond พร้อมกับสนับสนุนให้มีผู้ทำหน้าที่ประเมินในไทย (local reviewer) และจัดทำมาตรฐานด้าน ESG รวมทั้งผลักดันให้มีศูนย์รวมข้อมูล ESG ที่จำเป็นต่อการตัดสินใจลงทุน จัดทำแผนด้านความยั่งยืนภาคการเงินและตลาดทุน ซึ่งรวมถึงด้านสิทธิมนุษยชนให้มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน
(2) ส่งเสริมให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขทางการเงินในระยะยาว (Financial well-being) มุ่งให้ความรู้ทางการเงินเพื่อกระตุ้นพฤติกรรมการออมและการลงทุนอย่างต่อเนื่องกับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดผ่านช่องทางที่เหมาะสม สนับสนุนมาตรการการลงทุนเพื่อรองรับการเกษียณอายุผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) และผลักดันการลงทุนผ่านกองทุนรวม รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การลงทุนระยะยาว
(3) สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ (SMEs/Startups Growth & financing) โดยมีเครื่องมือให้ SMEs และ Startups สามารถเลือกใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับประเภท ขนาดและการเติบโตโดยออกหลักเกณฑ์รองรับการระดมทุน เปิดทางให้กิจการดังกล่าวสามารถเสนอขายหลักทรัพย์ประเภทหุ้นและหุ้นกู้แปลงสภาพแก่ผู้ลงทุนโดยตรงและการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ ควบคู่ไปกับการบ่มเพาะ SMEs/Startups ที่มีศักยภาพและความพร้อม
(4) เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และสร้างโอกาสจากความเชื่อมโยงกับต่างประเทศ (Enabling regulatory framework & connectivity) โดยปรับปรุงกฎเกณฑ์ (Regulatory Guillotine) ลดขั้นตอน กระบวนการ และต้นทุนที่ไม่จำเป็น รวมทั้งสร้างความยืดหยุ่นในการประกอบธุรกิจ และปรับเกณฑ์ใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป สามารถแข่งขันได้ ขณะเดียวกัน ก.ล.ต. ยังสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจด้วยการมีบทบาทในเวทีโลก เป็นพันธมิตรกับองค์กรระหว่างประเทศและตลาดทุนชั้นนำ ตลอดจนมีบทบาทในการเป็นสปริงบอร์ดให้กับตลาดทุนกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV springboard) เพื่อช่วยยกระดับการเติบโตของภูมิภาคอย่างมีคุณภาพ เช่น การผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการในตลาดทุนระหว่างกันได้อย่างเป็นรูปธรรม
(5) ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเพิ่มศักยภาพตลาดทุนและยกระดับการกำกับดูแล (Digital for capital market) พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ในการเข้าถึงตลาดทุน ปรับปรุงกฎเกณฑ์การทำความรู้จักลูกค้า (e-KYC) รวมทั้งจัดทำ single form เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ผู้ลงทุนสามารถเปิดบัญชีได้เร็วและง่าย และทบทวนความเหมาะสม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ อีกทั้งยกระดับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (cyber resilience)
(6) เพิ่มศักยภาพในการป้องกันและบังคับใช้กฎหมายในตลาดทุนไทย (Effective enforcement) เดินหน้ายกระดับการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการกระทำผิดและบังคับใช้กฎหมาย ( E-enforcement) โดยพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อรองรับการกำกับดูแลการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล การตรวจจับความผิดปกติ การชี้พฤติกรรมและพิสูจน์รวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมกับสนับสนุนการใช้สิทธิดำเนินคดีแบบกลุ่ม และจัดตั้งกองทุนเยียวยาความเสียหายของผู้ลงทุน กรณีได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ
(7) ติดตามประเมินความเสี่ยงเชิงระบบได้อย่างเท่าทัน (Systemic risk) เพื่อป้องกันความเสียหายไม่ให้ลุกลามไปในวงกว้าง โดยการพัฒนาฐานข้อมูลให้สามารถติดตามและประเมินความเสี่ยงเชิงระบบ การจัดทำแผนฉุกเฉินรองรับวิกฤตซึ่งเชื่อมโยงกับผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนและหน่วยงานกำกับดูแลอื่น และมีแผนดำเนินการกรณีเกิดเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดทุนและภาคการเงิน
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web