- Details
- Category: กลต.
- Published: Friday, 13 December 2019 18:09
- Hits: 4387
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก.ล.ต. ขอเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
เรียกร้องการลงทุนอย่างยั่งยืน
โดย นางสาวเสาวนีย์ สุวรรณรงค์
ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายธุรกิจจัดการลงทุน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ประธานกรรมการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว
ทีมโฆษก และฝ่ายตราสารหนี้
ความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ “ESG” เป็นเรื่องที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ เพราะนอกจากจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต สภาพความเป็นอยู่ของคนในชุมชนและสังคมแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ ความเสี่ยง ในการดำเนินธุรกิจ ต้นทุนการระดมทุน มูลค่าสินทรัพย์ ผลการดำเนินงาน ความอยู่รอดของธุรกิจ ตลอดจนการเติบโตอย่างยั่งยืนของกิจการ รวมถึงผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับด้วย
ก.ล.ต. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุน จึงมุ่งส่งเสริมกิจการในตลาดทุน ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด ผ่านการจัดกิจกรรมที่สร้างความตระหนักรู้ และนำ ESG ไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างคุณค่าในกระบวนการทำธุรกิจ ตลอดจนเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้สังคมและผู้ลงทุนรับทราบ เพื่อให้สามารถใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนได้ โดยผลักดันให้ผู้ลงทุนสถาบันต่างๆ นำประเด็นด้าน ESG มาประกอบการวิเคราะห์ คัดเลือกหลักทรัพย์ และตัดสินใจลงทุนภายใต้ “หลักธรรมาภิบาลการลงทุน” หรือ I Code ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติในการลงทุนในกิจการที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่จะส่งผลให้ผลตอบแทนของเงินลงทุนเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
ปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรา ขณะเดียวกันล้วนเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ ความเสี่ยงต่อภาคประชาชนและภาคธุรกิจในระดับที่สูงขึ้นหากทุกฝ่ายไม่ตระหนักและร่วมกันรับผิดชอบ อาทิ ผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่มีต่อการท่องเที่ยวและผลผลิตทางการเกษตร ผลกระทบด้านสังคม ในการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรมของกิจการ รวมถึงการผลิตและบริการที่เชื่อมโยงกับชุมชน สังคม และธุรกิจต่อเนื่องอื่น รวมทั้งผลกระทบต่อการบริหารจัดการและผลการดำเนินงานของกิจการอันเนื่องจากการขาดธรรมาภิบาลที่ดี เช่น ทุจริต หรือ ฉ้อโกง
หลายท่านอาจมองว่า การประกอบธุรกิจที่คำนึงถึง ESG ทำให้กิจการมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายสูงขึ้น แต่ในความเป็นจริง นอกจาก ESG จะส่งเสริมภาพลักษณ์ของกิจการแล้ว ยังอาจช่วยสร้างรายได้ หรือ พัฒนากระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนอีกด้วย เช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้ในโรงงาน การเปลี่ยนขยะเป็นเชื้อเพลิงเพื่อลดต้นทุนการผลิต หรือแปรรูปขยะเป็นผลิตภัณฑ์ ที่มีมูลค่าเพิ่ม การคิดค้นสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการสร้างคุณค่าแก่สินค้า ขยายตลาดใหม่ และเพิ่มรายได้จากกลุ่มลูกค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
จึงไม่แปลกใจที่ผู้ลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักลงทุนสถาบันต่างให้ความสำคัญและนำเรื่อง ESG ประกอบการตัดสินใจลงทุน จากสถิติการลงทุนที่ยั่งยืนทั่วโลกมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 23 ล้านล้านเหรียญ ในปี 2559 มาอยู่ที่ 31 ล้านล้านเหรียญในปี 2561 คิดเป็นหนึ่งในสามของสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ทั้งหมดของผู้ลงทุนสถาบัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีกองทุนหุ้นมากกว่า 1,500 กองที่เลือกลงทุนในกิจการที่ปฏิบัติตามกรอบ ESG มูลค่าสินทรัพย์รวม 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2553 ขณะที่บริษัทจดทะเบียนไทยหลายรายก็ได้คะแนน ESG ดีในระดับเวทีโลก ทำให้มีโอกาสได้รับความสนใจและได้รับเงินทุนมากกว่าด้วย
สำหรับกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันในประเทศต่างให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ยั่งยืนมากขึ้นเช่นกัน โดยปัจจุบัน มีหน่วยงานเข้าร่วมรับการปฏิบัติตาม I Code จำนวน 64 ราย ในจำนวนดังกล่าวมี บลจ. 27 ราย ยิ่งไปกว่านั้นยังมี บลจ. อีก 22 ราย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และผู้ลงทุนสถาบันอื่นๆ อีก 10 ราย (มี AUM รวมกันกว่า 10.8 ล้านล้านบาท) ที่ประกาศเจตนารมณ์ลงนามแนวปฏิบัติการระงับลงทุนในบริษัทที่ไม่คำนึงถึง ESG (Negative List)
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ถือเป็นกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง โดยปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 377 กองทุน จากนายจ้างจำนวน 19,316 ราย จำนวนสมาชิกรวม 3.06 ล้านกว่าคน ขนาดเงินลงทุนรวมกันใหญ่กว่า 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเงินลงทุนของสมาชิกเพื่อใช้ยามเกษียณ ดังนั้น จะดีหรือไม่หากเรา ในฐานะสมาชิกกองทุนเรียกร้องผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ “ไม่ให้ลงทุนในกิจการที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล” เพราะการเลือกลงทุนที่ถูกต้องย่อมมีผลอย่างมากต่อผลตอบแทนในระยะยาวของสมาชิกกองทุน
ก.ล.ต. ขอเป็นต้นแบบการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยกำหนดแนวนโยบายให้กับ บลจ. ที่บริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงาน ก.ล.ต. ให้ดำเนินตามแนวนโยบาย ESG โดย “ไม่ให้ลงทุนในกิจการที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล” เพื่อเน้นการสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืน และมีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้สิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน ดำรงอยู่และเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
ก.ล.ต. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การผลักดันเรื่องดังกล่าวจะเห็นผลเป็นการเปลี่ยนแปลงในทิศทางเดียวกัน ในตลาดทุนและภาคการเงินต่อไป เพราะ “หากโลกยั่งยืน ธุรกิจก็ยั่งยืน ผลการลงทุนก็ยั่งยืน”
AO12229
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web