- Details
- Category: กลต.
- Published: Thursday, 25 September 2014 17:47
- Hits: 3290
ก.ล.ต.ร่วมกับ มก. เผยผลวิจัย ชี้ผู้ลงทุนควรใช้หลายปัจจัยประกอบการพิจารณาสุขภาพบริษัทจดทะเบียน
ก.ล.ต. จัด SEC Working Papers Forum ครั้งที่ 3 ร่วมกับคณะบริหารธุรกิจและคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในหัวข้อ'สำรวจสุขภาพบริษัทจดทะเบียน'
ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า งานสัมมนา SEC Working Papers Forum ครั้งที่ 3 ที่ ก.ล.ต. ร่วมกับ 4 สถาบันการศึกษานำเสนอผลงานวิจัยเกี่ยวข้องกับตลาดทุน ครั้งนี้ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเสนอผลงานวิจัยภายใต้หัวข้อ “สำรวจสุขภาพบริษัทจดทะเบียน” เผย 3 ผลการศึกษาพบว่า แบบจำลองที่พัฒนาขึ้นอาจใช้อ้างอิงสำหรับการพยากรณ์สถานะของบริษัทจดทะเบียนและให้ผลในทิศทางเดียวกับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของทริสเรตติ้ง และมีผลการศึกษาที่ปรากฏว่าหลักทรัพย์ในกลุ่มที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนมือสูง มีตัวแปรบางตัวที่สะท้อนถึงพัฒนาการทางการเงินที่ดีอย่างมีนัยสำคัญ ชี้ให้เห็นถึงโอกาสและแนวทางการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน ขณะที่ผู้ลงทุนควรอาศัยหลายปัจจัยในการพิจารณาเลือกลงทุนบริษัทจดทะเบียนส่วนผลการศึกษาเรื่องการซื้อหุ้นโดยผู้ใกล้ชิดกับข้อมูลภายในและจำนวนกรรมการบริษัท สามารถบอกทิศทางการจัดการกำไรของบริษัทได้ชัดในบริษัทกลุ่มธุรกิจการเงิน
ดร.ณัฐวุฒิ คูวัฒนเธียรชัย ผู้วิจัยจาก คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอันดับความน่าเชื่อถือกับโอกาสประสบความตกต่ำทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นการหาแบบจำลองที่เหมาะสม เพื่อใช้พยากรณ์โอกาสที่บริษัทจะประสบปัญหาทางการเงิน โดยใช้ข้อมูลและเทคนิคที่ไม่ซับซ้อน สามารถนำผลการพยากรณ์จากแบบจำลองมาจัดอันดับความน่าเชื่อถือ แล้วเปรียบเทียบกับอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันจัดอันดับ ผลปรากฏว่าแบบจำลอง MDA ที่พัฒนาขึ้น สามารถพยากรณ์สถานะของบริษัทจดทะเบียนได้ดีกว่าแบบจำลองมาตรฐานของ Altman* รวมถึงสามารถพยากรณ์โอกาสประสบประสบปัญหาทางการเงินได้โดยเป็นไปในทิศทางเดียวกับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของทริสเรตติ้ง
รศ.ดร.ภัทรกิตติ์ เนตินิยม ผู้วิจัยจาก คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงของตัวแปรทั้ง 9 ตัว ประกอบด้วย อัตราการเปลี่ยนแปลงของกําไรขั้นต้น หนี้สิน รายได้รวม กระแสเงินสด ราคาหุ้น กําไรต่อหุ้น ปริมาณกระแสเงินสด ปริมาณกําไรต่อหุ้น และจํานวนครั้งการติด Turnover list แล้วนำมาทดสอบกับกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนมือสูงพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีพัฒนาการทางการเงินที่ดี เช่น การขยายตัวของสินทรัพย์ ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือ ความสามารถในการทำกำไร ดังนั้น ในอนาคตหากมีการปรับปรุงเกณฑ์การควบคุมการซื้อหลักทรัพย์ อาจเพิ่มตัวแปรที่สะท้อนพัฒนาการทางการเงินเข้ามาเพื่อให้สะท้อนผลตอบแทนที่เหมาะสมตามปัจจัยพื้นฐานของหลักทรัพย์นั้น
ดร.สุนทรี เหล่าพัดจัน ผู้วิจัยจาก คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ผลการศึกษาระบุการซื้อหุ้นโดยผู้ที่ใกล้ชิดกับข้อมูลภายในบริษัท สำหรับกรณีของบริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงิน สามารถบอกทิศทางการจัดการกำไรของบริษัทจดทะเบียนได้ ขณะที่ข้อมูลด้านบรรษัทภิบาลที่มีความสำคัญ คือจำนวนกรรมการ
*แบบจำลองมาตรฐานของ Altman คือ แบบจำลองพยากรณ์การล้มละลายของ Altman หรือที่รู้จักกันในนาม Altman’s Z-score model
หมายเหตุ: การเผยแพร่งานวิจัยเป็นการดำเนินงานตามบันทึกความร่วมมือระหว่าง ก.ล.ต. กับสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ 4 แห่ง ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย แลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างภาควิชาการกับผู้บริหารในตลาดทุน และนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตลาดทุน