WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SEC ก.ล.ต. เผยแนวคิดเพิ่มประเภทหลักทรัพย์ที่สามารถกู้ซื้อและวางเป็นประกันเพื่อเพิ่มอำนาจซื้อในบัญชีมาร์จิ้น

  ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นการเพิ่มประเภทหลักทรัพย์ที่บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) สามารถให้ลูกค้าบัญชีมาร์จิ้นกู้ซื้อได้ พร้อมทั้งขยายประเภทหลักประกันที่ลูกค้าสามารถนำมาวางเพื่อเพิ่มอำนาจซื้อได้ โดยเป็นหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องและมีราคาอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าสามารถลงทุนได้ตามกลยุทธ์ที่ต้องการ และใช้ประโยชน์จากหลักทรัพย์ที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ บล. สามารถให้บริการลูกค้าได้ครบวงจรมากขึ้น

  หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (บัญชีมาร์จิ้น) ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2540 นั้น กำหนดให้ บล. สามารถให้ลูกค้ากู้เงินได้เฉพาะเพื่อการซื้อหลักทรัพย์จดทะเบียน โดยลูกค้าต้องวางเงินสดหรือหลักทรัพย์จดทะเบียนเป็นหลักประกันเริ่มต้นกับ บล. ก่อน โดยยังไม่สามารถนำตราสารหนี้หรือหน่วยลงทุนมาวางเป็นหลักประกันเพื่อเพิ่มอำนาจซื้อกับ บล. ได้

 ก.ล.ต. จึงมีแนวคิดในการเพิ่มประเภทหลักทรัพย์ที่ บล. สามารถให้ลูกค้ากู้ยืมเงินเพื่อการลงทุนนอกเหนือจากหลักทรัพย์จดทะเบียน โดยเป็นหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องและมีราคาตลาดหรือราคาอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ ซึ่งได้แก่ (1) ตราสารหนี้ที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย และเป็นตราสารหนี้ภาครัฐหรือตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade) และ (2) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่กำหนดวันซื้อขายหน่วยลงทุนทุกวันทำการ และไม่มีข้อจำกัดด้านการโอนและการจำนำ นอกจากนี้ จะอนุญาตให้นำหลักทรัพย์ดังกล่าวมาใช้เป็นหลักประกันเพื่อเพิ่มอำนาจซื้อให้แก่ลูกค้าได้อีกด้วย

 ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าวจะช่วยให้ลูกค้ามีทางเลือกการลงทุนที่หลากหลาย และสามารถใช้ประโยชน์จากหลักทรัพย์ดังกล่าวเพื่อเพิ่มอำนาจซื้อได้ ในขณะที่ บล. สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า และยังอาจช่วยเพิ่มสภาพคล่องและพัฒนาตลาดรองตราสารหนี้และตลาดกองทุนรวมได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี บล. จะต้องปรับปรุงระบบงานและการบริหารจัดการความเสี่ยงให้รองรับประเภทหลักทรัพย์ที่อนุญาตเพิ่มเติมด้วย

 ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://capital.sec.or.th/webapp/phs/upload/phs1531118542hearing_26_2561.pdf ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือโทรสาร 0-2033-9999 หรือทาง e-mail [email protected] หรือ [email protected] จนถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2561

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!