- Details
- Category: คลัง
- Published: Saturday, 30 August 2014 22:17
- Hits: 2971
คลังเร่งอัดเงินเข้าระบบ 1 แสนล. ลุ้นลงทุนด้านคมนาคมเริ่มติดเครื่อง
แนวหน้า : คลังเร่งอัดเงินเข้าระบบ1แสนล.ภายใน 3 เดือน-ลุ้นลงทุนด้านคมนาคมเริ่มติดเครื่อง เร่งเทงบดัน GDP ถึง 2%
กระทรวงการคลัง เผยเตรีมเร่งเทเงินงบประมาณเข้าระบบ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วง 3 เดือนสุดท้าย หวังดันตัวเลขจีดีพีปี57 โต 2 % ชี้ 3 เดือนแรกปีงบ 58 ต้องเบิกจ่ายให้ได้ 30 % ตั้งเป้าเบื้องต้นน่าจะถึง 1 แสนล้านบาท เชื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ช่วยปลุกเศรษฐกิจ และเรียกความมั่นใจนักลงทุนกลับคืนมา
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 หรือช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ จะต้องเร่งเบิกจ่ายให้มากกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าเบิกจ่ายไว้ที่ 30 % จากปกติ 25 % ของวงเงินงบประมาณรวม 2.575 ล้านล้านบาท เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ตามที่ประมาณการไว้ทั้งปีที่ 2 % ต่อปี
นอกจากนี้ สศค.เชื่อว่ารายจ่ายของรัฐบาลเป็นส่วนที่สำคัญ โดยเชื่อว่าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ เนื่องจากจะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนกับภาครัฐ ซึ่งจะสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน และจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี โดยสศค.ประเมินว่าหากรัฐเบิกจ่ายงบประมาณจำนวน 1 แสนล้านบาท จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวเท่ากับ 0.7-0.8%
“สศค.จะยังไม่ออกมาตรการอะไรเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือ เพราะเชื่อว่ารัฐบาลมีเม็ดเงินเพียงพอที่สามารถดำเนินการได้ เราต้องดูกระสุนของเราให้ดี ต้องเตรียมพร้อมไว้ ซึ่งในภาคปฏิบัติจะต้องเร่งเบิกจ่ายให้ได้เร็วที่สุด ส่วนการปฏิรูปภาษีที่กระทรวงการคลังดำเนินการอยู่นั้น จะยังไม่ช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากนัก มองว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเห็นผลชัดเจนขึ้นในระยะยาว“ นายเอกนิติ กล่าว
นายเอกนิติ กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคภาคเอกชนในเดือนก.ค.ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัว 3.6% ต่อปี ตามสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลาย แต่การบริโภคในหมวดสินค้าคงทนยังคงหดตัว สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งที่หดตัว-37.5% ต่อปี เป็นผลมาจากโครงการรถคันแรกในปีที่ผ่านมา ทำให้ฐานสูงเมื่อเทียบกับปีนี้
ด้านการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนได้จากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวได้ 5.5% ต่อปี แต่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังคงหดตัว -21.5% ต่อปี สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์พบว่า หดตัว -11.1% ต่อปี เช่นเดียวกับยอดขายปูนซิเมนต์หดตัว-0.4% ต่อปี
สำหรับ การใช้จ่ายภาครัฐมีอัตราเร่งขึ้น โดยพิจารณาจากการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนก.ค.ที่ผ่านมาพบว่า รัฐบาลสามารถเบิกจ่ายงบประมาณรวมได้จำนวน 2 แสนล้านบาท ขยายตัว 17.0% ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -1.1% ต่อปี สะท้อนให้เห็นถึงการมีส่วนสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาครัฐภายหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.57
ขณะที่อุปสงค์ต่างประเทศกลับมาหดตัวอีกครั้ง สะท้อนจากการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนก.ค.57 ที่มีมูลค่า 18.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว -0.9% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าขยายตัว 3.9% เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป ยังฟื้นตัวไม่ดีเท่าที่ควร รวมถึงส่งออกไปยังกลุ่มอาเซียน+5 ยังคงหดตัว โดยประเทศคู่ค้าอย่างจีนขยายตัวติดลบ -1.7% จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 3.2% อย่างไรก็ตาม สศค.เชื่อว่าส่งออกทั้งปียังคงเป็นไปตามเป้าที่ 1.5% ต่อปี เนื่องจากการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ทั้งกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม มีแนวโน้มดีขึ้นมากกว่ากลุ่มประเทศยูโรโซน
สำหรับ เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานมีสัญญาณดีขึ้น โดยการผลิตในภาคเกษตรกรรมขยายตัว 4.3% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -0.6% ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในหมวดยางพารา และมันสำปะหลัง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ภัยแล้งเริ่มคลี่คลายลง ทำให้ผลผลิตออกมาเพิ่มขึ้น ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ระดับ 89.7 ซึ่งเป็นผลมาจากผู้ประกอบการมีระดับความเชื่อมั่นมากขึ้นจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายประกอบกับการดำเนินกิจการมีทิศทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอี ขณะที่ในภาคการท่องเที่ยวสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา มีจำนวนทั้งสิ้น 1.92 ล้านคน หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ -10.9% ต่อปี
ด้านเสถียรภาพในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.2%ต่อปี ขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับ 1.0% ของกำลังแรงงานรวม สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศที่อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 169.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.7 เท่า สามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้
คลังเร่งอัดฉีดเงินกระตุ้นศก. ธ.กรุงเทพคาดจีดีพีQ3/57โต3%
ไทยโพสต์ * คลังเร่งเบิกจ่ายดันเม็ดเงินลงระบบช่วยกระตุ้นเศรษฐ กิจ เมินใช้มาตรการภาษี ชี้ไม่ใช่เวลาเหมาะสม ด้าน ธปท.ยืนจีดีพีปีนี้โต 1.5% ด้านแบงก์กรุงเทพคาดจีดีพีไตรมาส 3 โต 3% เชื่อไตรมาส 4 โต 5-6% ลุ้นยกเลิกกฎอัยการศึกรับไฮซีซั่นท่องเที่ยว
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ได้รายงานให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รับทราบถึงสถานการณ์และภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ว่ามีแนวโน้มการฟื้นตัวดีขึ้น ภายหลัง คสช.เข้ามาบริหารประเทศและปลดล็อกข้อจำกัดทางการเมืองให้คลี่คลายลง ส่งผลให้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐขยายตัวได้ดีขึ้น ทำให้คาดว่าการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐในปีงบประมาณ 2557 จะขยายตัวได้ที่ 91% จากปัจจุบันอยู่ที่ 75%
"สศค.ประเมินว่าภาครัฐยังมีเม็ดเงินเหลือเพียงพอที่จะใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ นอกจากนี้ในการเบิกจ่ายงบประ มาณปี 2558 กรรมาธิการได้มีการเสนอให้ภาครัฐเพิ่มอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาส 1 เพิ่มเป็น 30% จากปกติเบิกจ่ายที่ 25% เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเบื้องต้น สศค.ประเมินว่าหากภาครัฐ สามารถเบิกจ่ายเม็ดเงินงบประ มาณภาพรวมได้ 1 แสนล้านบาท จะช่วยสนับสนุนจีดีพีได้ 0.7-0.8%" นายเอกนิติกล่าว
นายเอกนิติกล่าวว่า สศค.ได้เสนอให้ดึงเครื่องมือทางการคลัง โดยเฉพาะการเบิกจ่ายเม็ดเงินเพื่อเข้าสู่ระบบมาเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญแทน พร้อมทั้งมองว่าหากจะมีการจัดทำแพ็กเกจ กระตุ้นเศรษฐกิจจริง จะต้องมีการศึกษาและเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้าน เพื่อให้มาตรการมีประสิทธิภาพที่สุด และไม่ใช่มาตรการที่เป็นประชานิยมจนเกินไป พร้อมทั้งเห็นว่าในขณะนี้ไม่ ใช่เวลาที่เหมาะสม ที่จะใช้มาตร การภาษีในการขับเคลื่อนเศรษฐ กิจ เพราะภาษีเป็นเรื่องระยะยาว และไม่ใช่แนวทางกระตุ้นเศรษฐ กิจที่ดีด้วย
นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประ เทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การปรับตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจใหม่ เพิ่มขึ้นหรือไม่ คงจะต้องรอผล การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในรอบเดือน ก.ย.2557 โดยขณะนี้ยังคงประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ไว้ที่ 1.5% และมีโอกาสที่จะปรับประ มาณการได้หากเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2557 เติบโตได้ในระดับ 4% ซึ่งจากการติดตาม ธปท.มีความเชื่อมั่นว่าภาวะเศรษฐ กิจในช่วง 4 ไตรมาสหลังจากนี้ หรือช่วงไตรมาส 3-4 ปี 2557 และไตรมาส 1-2 ปี 2558 ก็มีแนวโน้มที่ขยายตัวต่อเนื่องในระ ดับ 4-5%
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า คาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาส 3/2557 จะเติบโตที่ 3% และโต 5-6% ในไตรมาส 4/2557 ส่วนทั้งปีคาดว่าจะโตมากกว่า 2% หากครึ่งปีหลังรัฐบาลยกเลิกกฎ อัยการศึก เพื่อรองรับช่วงไฮซี ซั่นของการท่องเที่ยวในไตรมาส 4 ทำให้สร้างรายได้ต่อเนื่องในไตรมาส 4 ปีนี้ ถึงไตรมาส 1/2558 รวมถึงภาครัฐต้องผลักดันการลง ทุนขนาดใหญ่อย่างน้อย 2 ราย การออกมาให้เป็นรูปธรรม เพื่อแสดงให้นักลงทุนต่างประเทศเห็นว่าหน่วยงานรัฐสามารถดำเนินนโย บายให้เป็นความจริงได้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเพิ่มการลงทุนจากต่างชาติในช่วงครึ่งปีหลังได้.