- Details
- Category: คลัง
- Published: Saturday, 30 August 2014 22:15
- Hits: 3413
รายย่อย-ผู้พิการนับหมื่นยื่นขอโควต้า โวยกองสลากขาดความพร้อม
แนวหน้า : พล.ต.ฉลองรัฐ นาคอาทิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค.ถึงวันที่ 31 ส.ค.นี้ สำนักงานสลากได้เปิดให้ผู้ที่ได้รับโควต้าสลากรายย่อย มูลนิธิบางส่วนที่มีโควต้าสลาก 43 ล้านฉบับ และอีก 2 ล้านฉบับที่เป็นสลากการกุศล ได้เข้ามาแสดงตัวเพื่อขอรับบัตรผู้ค้าสลาก โดยผู้ค้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑลจะได้บัตรสีส้ม ผู้ค้าต่างจังหวัดจะได้บัตรสีเขียว ซึ่งการเข้ามาแสดงตนจะกำหนดตามลำดับที่โดยเฉลี่ยวันละ 3,500 คน ตั้ง 08.00 - 15.00 น. ส่วนผู้ที่ได้โควตาที่เหลือคือนิติบุคคล องค์กรต่างๆ มูลนิธิ ให้นำเอกสารมาแสดงตัววันที่ 31 ส.ค. เพื่อนำเป็นหลักฐานในการรับสลากของงวดวันที่ 16 ก.ย. ซึ่งจะเริ่มเปิดจำหน่ายให้ผู้ค้าในวันที่ 1 ก.ย. นี้
สำหรับ ประเด็นเรื่องเลขดังที่มีคนกว้านซื้อเกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนั้น คงเป็นเรื่องของความต้องการของประชาชนเอง แต่ในส่วนของสำนักงานสลาก ยืนยันเรื่องกระบวนการออกรางวัลจะมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ไม่มีการล๊อคเลขแน่นอน
รายงานข่าวจากสำนักงานสลาก กล่าวว่า บรรยากาศที่สำนักงานสลากที่สนามบินน้ำมีประชาชนหลายหมื่นรายเดินทางเข้ามาเพื่อขอยื่นใบสมัครเป็นผู้ค้าสลาก ตามข่าวที่นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะประธานคณะกรรมการสำนักงานสลาก ได้ให้สัมภาษณ์สื่อว่าจะมีการเปิดรับลงทะเบียนประชาชนรายย่อย คนพิการที่สนใจอยากได้โควตาเข้ามาเป็นผู้ค้าสลากรายใหม่ โดยจะนำโควตาของรายเก่าที่ไม่มาแสดงตัวหรือทำผิดเงื่อนไข มาใช้วิธีการสุ่มรายชื่อเพื่อจัดสรรให้คนที่มาขึ้นทะเบียนในวันนี้ ส่งผลให้มีทั้งประชาชนรายย่อย และผู้พิการหลายหมื่นรายแห่เข้ามาขอลงทะเบียนตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา
ขณะที่สำนักงานสลาก ไม่ได้เตรียมความพร้อมด้านนี้ไว้อย่างเต็มที่ จึงได้แต่ขอให้ประชาชนรายย่อย และผู้พิการยื่นคำร้องขอเป็นผู้ค้าสลากไว้ ส่งผลให้ประชาชนรายย่อย และผู้พิการไม่พอใจ เพราะต้องการจะได้ความชัดเจนว่าจะได้โควตาหรือไม่เลย
แหล่งข่าวในวงการผู้ค้าสลาก กล่าวว่า จากมาตรการแก้ปัญหาสลากเกินราคา ที่สำนักงานสลากฯ ได้ออกมาได้แก่ การเลื่อนเวลาจำหน่ายสลากผู้ค้าสลากให้มีเวลารวมเลขชุดได้น้อยลง การให้ผู้ค้ารายย่อย 3 หมื่นรายทั่วประเทศ และ 95 มูลนิธิมาแสดงตัวเพื่อรับบัตรผู้ค้าตั้งแต่วันที่ 28 - 31 ส.ค. รวมถึงให้ผู้ค้ารายใหญ่ นิติบุคคล ต้องแสดงวิธีการกระจายสลาก และการสั่งปั้มตราสีน้ำเงินที่สลากรายย่อย 45 ล้านฉบับ เพื่อแก้สลากระหว่างรายย่อยกับรายใหญ่ รวมถึงให้เจ้าของโควตาต้องมารับสลากด้วยตนเองเว้นแต่มีเหตุจำเป็นถึงมอบอำนาจได้ เชื่อว่ามาตรการเหล่านี้จะไม่ทำให้ราคาสลากลดลงได้ โดยชี้ว่ามาตรการติดบัตรผู้ค้า เคยทำมาหลายครั้งแล้วในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ไม่มีผลเพราะบางคนติดบ้างไม่ติดบ้าง
ทั้งนี้ เชื่อว่าในช่วงแรกของงวด 16 ก.ย. จะเกิดปัญหาบ้างเช่น ผู้ที่ได้โควตาแล้วเอาไปขายต่อพวกยี่ปั๊วรายใหญ่ แรกๆ อาจจะกล้าๆกลัว แต่สุดท้ายก็คงกลับไปขายเป็นเล่มให้เหมือนเดิม ส่วนพวกที่กระทบมากคือพวกพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ที่เร่ขาย ปั่นจักรยาน คนเหล่านี้ไม่มีโควตา ที่ถูกบีบจากมาตรการนี้และอาจทำให้ต้องหยุดขายสลากไป เพื่อรอดูความชัดเจน ทั้งนี้คาดว่าน่าจะมีคนประมาณ 20 % ที่เตรียมเอกสารหลักฐานไม่ทัน เพราะกรณีขององค์กร มูลนิธิ นิติบุคคล ต้องเตรียมหนังสือค้ำประกันหรือแบงก์การันตีจากธนาคารไปด้วย
"ไม่เกิน 3 เดือนก็กลับมาขายเกินราคาเหมือนเดิม เพราะคนที่คิดมาตรการไม่เข้าใจสินค้าสลาก ว่ามีวิถี วงจรไม่เหมือนสินค้าตัวอื่น อย่างถ้างวดไหนเลขไหนดังคนพอใจจะซื้อที่ใบละ 200 -300 บาทก็ยอมซื้อกัน มาตรการเก่าที่พิมพ์สลากแยกสีสมัยที่นายวราเทพ รัตนากร เป็น รมช.คลัง ยังจะเห็นผลและตรวจสอบง่ายกว่า " แหล่งข่าว กล่าว
สำหรับ บรรยากาศสำนักงานสลาก ที่สนามบินน้ำมีประชาชนรายย่อยหลายหมื่นรายเดินทางเข้ามาเพื่อขอยื่นใบสมัครเป็นผู้ค้าสลาก หลังสำนักงานสลาก ฯ เปิดรับสมัครผู้ค้ารายใหม่ เพื่อจะนำโควตาของรายเก่าที่ไม่มาแสดงตัวหรือทำผิดเงื่อนไขครั้งนี้ มาใช้วิธีการสุ่มรายชื่อเพื่อจัดสรรให้คนที่มาขึ้นทะเบียนได้รับโควตาสลาก ส่งผลให้มีทั้งประชาชนรายย่อย และผู้พิการหลายหมื่นรายแห่เข้ามาขอลงทะเบียนตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา ทั้งนี้คาดว่าเพื่อลดความแออัดทางสำนักงานเตรียมเปิดลงทะเบียนผู้ค้าทางออนไลน์ เพื่อเตรียมสุ่มจับรายชื่อผู้ที่โควตาในวันที่ 1 - 5 ก.ย. นี้