- Details
- Category: คลัง
- Published: Monday, 09 October 2017 17:48
- Hits: 2792
รมช.คลัง เผยพ.ร.บ.ศุลกากรจะช่วยอำนวยความสะดวกการค้า - หนุนการลงทุนดึงนักลงทุนเข้า EEC
รมช.คลัง เผยพ.ร.บ.ศุลกากร ที่จะบังคับใช้ 13 พ.ย.นี้ จะช่วยอำนวยความสะดวกการค้า การสนับสนุนการลงทุน หวังดึงนักลงทุนเข้า EEC ชี้ภาษีที่ดินฯ อยู่ในชั้นคณะกรรมาธิการ ยันบังคับใช้ 1 ม.ค.62 แน่นอน
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า พ.ร.บ.ศุลกากร 2560 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 พฤศจิกายนนี้ นั้น เป็นการยกร่างกฎหมายเดิมที่ใช้มา 91 ปี เพื่อให้ทันสมัย อำนวยความสะดวกในด้านการค้า รวมถึงลดภาระของเจ้าหน้าที่ด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำเรื่องกฎหมายลำดับรอง โดยมีคณะกรรมการ 9 คณะทำงาน ซึ่งมองว่า สิ่งสำคัญ คือ การลดทอยอำนาจเจ้าหน้าที่ในการใช้ดุลยพินิจน้อยลงด้วย และยึดหลักธรรมาภิบาล
โดยกฎหมายกรมศุลฉบับนี้ มีนโยบายหลัก 3 เรื่อง คือ 1.การอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะในเรื่องของการสนับสนุนการลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทย ที่จะลดกระบวนการและพิธีการทางศุลกากรให้มีความคล่องตัวมากขึ้น มีการนำระบบไอทีเข้ามาสนับสนุนการทำงาน 2.การสร้างความโปร่งใสในการทำงานของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร โดยมีประเด็นสำคัญ คือ การปรับลดวงเงินสินบนรางวัล จาก 55% ของเงินค่าขายของกลางหรือเงินค่าปรับ ประมาณ 20% สำหรับเงินสินบนที่มีการแจ้งการกระทำผิดซึ่งหน้าที่ ไม่ใช่งานเอกสาร 20% สำหรับรางวัลให้เจ้าหน้าที่ที่ตรวจพบการกระทำผิด ทั้ง 2 กรณีจะถูกกำหนดวงเงินไว้ไม่เกินคดีละ 5 ล้านบาท รวมถึงมีการลดระยะเวลาในการประเมินอากรเหลือ 3 ปี
และเรื่องที่ 3 คือ การเน้นการสนับสนุนการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนและโลจิสติกส์ในภูมิภาค โดยปรับปรุงเรื่องการจัดตั้งเขตปลอดภาษีให้มีความทันสมัย คล่องตัว สะดวก รวดเร็ว ดึงดูดนักลงทุนให้มาลงทุนในระเบียงเศณษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล การลดขั้นตอนการอำนวยความสะดวก สำหรับสินค้าถ่ายลำที่มาพักไว้ก่อนส่งไปประเทศที่ 3 ที่ ท่าเรือและสนามบินเพื่อส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสินค้าถ่ายลำในภูมิภาค
ด้านภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยืนยันว่า จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2562 อย่างแน่นอน โดยขณะนี้อยู่ในชั้นคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะมีการเก็บข้อมูลจริง โดยพิจารณาว่า ขณะนี้เกษตรกรเสียภาษีบำรุงท้องที่ จัดเก็บที่เท่าไหร่ และหากเปลี่ยนเป็นฐานภาษีใหม่จะเป็นอย่างไร ขณะที่ที่อยู่อาศัย ขณะนี้เพดานที่พิจารณา คือ ปรับลดเพดานจัดเก็บที่อยู่อาศัยตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป จากเดิมที่กำหนดที่อยู่อาศัยตั้งแต่ 50 ล้านบาทจะต้องเสียภาษี โดยเบื้องต้นหากปรับลดอัตราลงมาแล้ว จะทำให้มีผู้เสียภาษีดังกล่าวเพิ่มขึ้นประมาณ 30,000 ราย
ทั้งนี้ ยืนยันว่า จะสามารถสรุปร่างกฎหมายดังกล่าวได้ภายในปีนี้อย่างแน่นอน โดยการจัดเก็บภาษีนั้นจะเป็นแบบขั้นบันได และในระยะแรกในการจัดเก็บนั้น จะเน้นการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้เสียภาษีอย่างแน่นอน
“ทุกอย่างจะต้องพิจารณาอย่างเหมาะสม รอบคอบ จะต้องให้ได้ข้อมูลครบถ้วน เพราะการจัดเก็บแต่ละอย่างนั้นไม่เหมือนกัน กระบวนการในการทำก็จะแตกต่างกันด้วย ถามว่า บ้าน 30 ล้านบาท จะเสียยังไง ก็คือ เสีย 10 ล้านบาทที่เกินเราจะ Wave 20 ล้านบาท และเสียส่วนที่เกินขึ้นไป ก็จะเป็นขั้นบันไดขึ้นไปว่าจะเป็นอย่างไร”นายวิสุทธิ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่มีกระแสว่าการใช้บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจขนาดใหญ่ มากกว่าการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ว่า การดำเนินการดังกล่าว เป็นการเพิ่มความสามารถในการจับจ่ายซื้อสินค้าของผู้มีรายได้น้อยให้มากขึ้น เพราะผู้มีรายได้น้อยยังจำเป็นต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากรัฐอยู่ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม โดยร้านค้าที่ผู้มีรายได้น้อยจะเข้าไปใช้บัตรได้นั้น จะต้องเป็นร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านค้าที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเงื่อนไขไว้แล้ว จึงไม่ได้เป็นไปตามกระแสที่ออกมาอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ หากในอนาคตผู้มีรายได้น้อยมีรายได้สูงขึ้น ก็ไม่จำเป็นที่ต้องได้รับบัตรดังกล่าวอีก ก็ถือว่าเป็นการลดภาระการดูแลของรัฐลงได้ แต่ในเบื้องต้นก็จะต้องดูแลให้ผู้มีรายได้น้อยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นก่อน ส่วนเงื่อนไขในการใช้บัตรมีความชัดเจน หากทำผิดระเบียบจะถูกยึดบัตรทันที ซึ่งส่วนนี้กรมบัญชีกลางติดตามดูแลอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม การลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยในปีต่อๆไป อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางในการลงทะเบียนใหม่ โดยอาจจะไม่ต้องมาลงทะเบียนเช่นเดิม แต่อาจใช้ข้อมูลเดิมมาพิจารณา เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวกมากที่สุด แต่ทั้งหมดยังไม่ได้ข้อสรุป ต้องรอผลการศึกษาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย