- Details
- Category: คลัง
- Published: Friday, 29 September 2017 17:47
- Hits: 3215
สบน.เผย ณ สิ้นส.ค.60 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 6.27 ล้านลบ. คิดเป็น 41.92% ของจีดีพี เพิ่มขึ้น 49,883 ลบ.เทียบเดือนที่ผ่านมา
สบน.เผย ณ สิ้นส.ค.60 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 6.27 ล้านลบ. คิดเป็น 41.92% ของจีดีพี เพิ่มขึ้น 49,883 ลบ.เทียบเดือนที่ผ่านมา . เผย ครม.อนุมัติแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบ 61 วงเงิน 1.5 ล้านลบ. เป็นแผนก่อหนี้ใหม่กว่า 5.8 แสนลบ. ประเมินปีงบ 61 หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 42.7% ก่อนเพิ่มเป็น 44.8% ในปี 62 ยัน ปี 61-65 หนี้สาธารณะยังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังไม่เกิน 60% ของจีดีพี
นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ เปิดเผยว่า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิงหาคม 2560 อยู่ที่ 6.27 ล้านล้านบาท หรือ 41.92% ของจีดีพี โดยเป็นหนี้รัฐบาล 4.86 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 966,596 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน 432,369 ล้านบาท หนี้หน่วยงานรัฐ 14,643 ล้านบาท โดยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 49,833 ล้านบาท
สำหรับ การกู้เงินตามแผนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 และพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2560 รวมถึงเพื่อการบริหารหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 36,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้ระยะสั้นเพิ่มขึ้น 25,000 ล้านบาท และเงินกู้ระยะยาวเพิ่มขึ้น 11,000 ล้านบาท เนื่องจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อนำไปลงทุนในการพัฒนาประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนเข้มแข็ง
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2561 โดยกำหนดวงเงินรวมที่ 1.50 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย แผนการก่อหนี้ใหม่ 582,026 ล้านบาท และแผนการบริหารหนี้เดิมวงเงิน 920,950 ล้านบาท รวมทั้งรับทราบแผนการบริหารหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่ต้องขออนุมัติจากครม.อีก 161,433 ล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้คาดการณ์ระดับหนี้สาธารณะ ต่อจีดีพี และภาระหนี้ต่องบประมาณในระยะ 5 ปี ประกอบด้วยปีงบประมาณ 2561-2565 โดยยืนยันว่า ยังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไม่เกิน 60% ของจีดีพี และสัดส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณไม่เกิน 15% โดยประมาณการว่าปีงบประมาณ 2561 หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 42.7% และ 44.8% ในปีงบประมาณ 2562 ส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณปี 2561 คาดอยู่ที่ 9% และ 9.3% ในปีงบประมาณ 2562
ปีงบประมาณ
สัดส่วน (%) 2561 2562 2563 2564 2565
หนี้สาธารณะคงค้าง/ GDP 42.7 44.8 46.9 48.6 49.6
ภาระหนี้/งบประมาณ 9 9.3 9.7 10.3 10.7
รายละเอียดกลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลาง (Medium -Term Debt Management Strategy : MTDS) และแนวทางการบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจ ปีงบประมาณ 2561 –2565
1. เป้าหมายในการบริหารหนี้ระยะกลาง (MTDS Target) ปีงบประมาณ 2561 –2565
คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะได้เห็นชอบกลยุทธ์การบริหารหนี้ระยะกลางโดยกำหนดเป้าหมายสัดส่วนหนี้(Target Debt Composition) ระยะกลาง 5 ปี (ปีงบประมาณ 2561-2565) และตัวชี้วัด 1 ปี (ปีงบประมาณ 2561)เพื่อใช้ในการกำกับการกู้เงินและบริหารหนี้สาธารณะให้บรรลุวัตถุประสงค์เพื่อให้สามารถระดมทุนได้ครบเต็มจำนวน มีต้นทุนการกู้เงินต่ำในระยะยาวและอยู่ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ส่งเสริมการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศและเพื่อเป็นการควบคุมตัวชี้วัดความเสี่ยงทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย ความเสี่ยงด้านการปรับโครงสร้างหนี้ รายละเอียดปรากฏตามตารางข้างล่าง ดังนี้
ตารางเป้าหมายในการบริหารหนี้ระยะกลางสำหรับปีงบประมาณ 2561-2565
และตัวชี้วัดความเสี่ยงของหนี้รัฐบาลประจำปี2561
ตัวชี้วัด ตัวชี้วัด 5 ปี (MTDS) ตัวชี้วัด 1 ปี
(ปีงบประมาณ2561-2565) (ปีงบประมาณ 2561)
ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อสภาวะตลาดเอื้ออำนวย
(Foreign Exchange Risk) การกู้ใหม่ควรปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนทันที
ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย(Interest Rate Risk) คงสัดส่วนหนี้อัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 85ของหนี้ทั้งหมด คงสัดส่วนหนี้อัตราดอกเบี้ยคงที่
คงสัดส่วนหนี้ที่ต้องปรับอัตราดอกเบี้ย(Debt re-fixing)ใน 1 ปีให้อยู่ในกรอบร้อยละ18 -24 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 85ของหนี้ทั้งหมด
ของหนี้ทั้งหมด คงสัดส่วนหนี้ที่ต้องปรับอัตราดอกเบี้ย(Debt re-fixing)ใน 1 ปีให้อยู่ในกรอบร้อยละ15– 20ของหนี้ทั้งหมด
ความเสี่ยงด้านการปรับโครงสร้างหนี้(Refinancing Risk) ขยายอายุเฉลี่ยของหนี้(Average time to maturity)ของหนี้รัฐบาลให้อยู่ในระดับไม่เกิน 14 ปี ขยายอายุเฉลี่ยของหนี้(Average time to maturity)ของหนี้รัฐบาลให้อยู่ในระดับไม่เกิน 12 ปี
คงสัดส่วนหนี้ที่ครบกำหนดชำระใน 1 ปี ให้อยู่ในกรอบร้อยละ10-14 ของหนี้ทั้งหมด คงสัดส่วนหนี้ที่ครบกำหนดชำระใน 1 ปี ให้อยู่ในกรอบร้อยละ8 -12 ของหนี้ทั้งหมด คงสัดส่วนหนี้ที่ครบกำหนดชำระใน 3 ปี ให้อยู่ในกรอบร้อยละ25-30 ของหนี้ทั้งหมด คงสัดส่วนหนี้ที่ครบกำหนดชำระใน 3 ปี ให้อยู่ในกรอบร้อยละ30 -35 ของหนี้ทั้งหมด
Inflation-Linked Bond (ILB) คงสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 5 ของหนี้ทั้งหมด
2. แนวทางการบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจ (SOEs Debt Management Strategy)
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแนวทางการบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจเพื่อประโยชน์ในการบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจให้มีแนวทางการบริหารต้นทุนและความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงการคลังจึงเห็นควรกำหนดแนวทางการบริหารหนี้รัฐวิสาหกิจ ภายใต้หลักการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset-Liability Management: ALM) โดยบริหารกระแสเงินสดจากสินทรัพย์และหนี้สินให้สอดคล้องกัน ทั้งนี้ เนื่องจากความเสี่ยงด้านหนี้ของรัฐวิสาหกิจอาจส่งผลกระทบต่อภาระงบประมาณของรัฐบาลในอนาคต ซึ่งรวมถึงภาระในการชำระหนี้แทนและการให้เงินอุดหนุนแก่รัฐวิสาหกิจ การบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมจะช่วยลดความผันผวนของภาระหนี้และลดความเสี่ยงต่อภาระทางการคลังของรัฐบาลได้ รัฐวิสาหกิจแต่ละรายจึงควรมีแนวทางในการบริหารความเสี่ยง ดังนี้
ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
กรณีรัฐวิสาหกิจมีรายได้เป็นเงินบาทและไม่มีสินทรัพย์หรือรายได้อื่นๆ ที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้รัฐวิสาหกิจเร่งปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของหนี้ต่างประเทศ (โดยการใช้เครื่องมือทางการเงินต่างๆเช่น การทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) การซื้อเงินตราต่างประเทศและฝากไว้ในบัญชีเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign currency deposit: FCD) หรือการแปลงหนี้สกุลเงินต่างประเทศเป็นหนี้สกุลเงินบาท (Cross currency swap)) และหากมีการก่อหนี้ใหม่ในสกุลเงินต่างประเทศ ควรดำเนินการปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนทันทีกรณีรัฐวิสาหกิจมีสินทรัพย์หรือรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศ รัฐวิสาหกิจควรบริหารสัดส่วนสกุลเงินของรายได้และรายจ่ายให้มีความสอดคล้องกัน (Natural Hedge) เพื่อลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย
รัฐวิสาหกิจควรบริหารสัดส่วนหนี้อัตราดอกเบี้ยคงที่และอัตราดอกเบี้ยลอยตัวให้เหมาะสมโดยคำนึงถึงปัจจัยด้านต้นทุนและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และพิจารณาให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดรัฐวิสาหกิจควรประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยต่อภาระหนี้ในแต่ละปี เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาเลือกใช้เครื่องมือกู้เงินให้เหมาะสม
ความเสี่ยงด้านการปรับโครงสร้างหนี้
รัฐวิสาหกิจควรพิจารณาเลือกใช้เครื่องมือกู้เงินให้สอดคล้องกับระยะเวลาการลงทุนของโครงการ เช่น การลงทุนในโครงการระยะยาว ควรใช้เงินกู้ที่มีระยะเวลาสอดคล้องกัน
รัฐวิสาหกิจควรกระจายภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในแต่ละปีไม่ให้กระจุกตัวมากจนเกินไป โดยเฉพาะหนี้ที่จะครบกำหนดในระยะ 1-3 ปี เพื่อลดความเสี่ยงด้านการปรับโครงสร้างหนี้ และควรคำนึงถึงความสามารถในการใช้เครื่องมือกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐวิสาหกิจตามสภาวะตลาด
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย