- Details
- Category: คลัง
- Published: Thursday, 21 August 2014 22:58
- Hits: 2764
คลังกู้โปะงบขาดดุล-หนุนลงทุนรัฐบาล-รัฐวิสาหกิจ เคาะแผนบริหารหนี้ 1.4 ล้านล้าน
แนวหน้า : คลังอนุมัติแผนบริหารหนี้งบปี’58 วงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท มีทั้งเคลียร์หนี้เก่าและกู้ใหม่ เพื่อลงทุนของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ เตรียมชงเรื่องให้คสช.พิจารณาสัปดาห์หน้า ขณะที่ 10 เดือนแรกปีงบประมาณ’57 รัฐบาลมีรายได้ 1.67 ล้านล้านบาทหลุดเป้า 1.32 แสนล้านบาท เหตุเก็บภาษีได้น้อย
น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะที่มีนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานได้อนุมัติแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2558 วงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท เป็นการบริหารหนี้เก่า 7.9 แสนล้านบาท และเป็นการกู้ใหม่ 3.8 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการกู้ของรัฐวิสาหกิจ (รสก.) ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เช่น บริษัทการบินไทยที่มีแผนกู้เงิน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องบินใหม่ โดยจะเสนอแผนการบริหารหนี้สาธารณะให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบในสัปดาห์หน้า
สำหรับ การกู้ใหม่ 3.8 แสนล้านบาท จะเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 2558 จำนวน 2.5 แสนล้านบาท ที่เหลือเป็นการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการกู้เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง 2.4 ล้านล้านบาท ที่ คสช. เห็นชอบแล้วซึ่งจะมีการกู้เงินลงทุนในปีงบประมาณ 2558 วงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการลงทุนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ม.)
ส่วนแผนการกู้เงินใหม่นั้นจะมีทั้งการออกพันธบัตรรัฐบาล การออกตั๋วเงินระยะสั้น และการออกพันธบัตรออมทรัพย์เพื่อขายให้กับประชาชนตามนโยบายของคสช. คาดว่าจะออกเป็นวงเงินประมาณ 1-3 หมื่นล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะออกพันธบัตรออมทรัพย์อายุ 3 ปี 5 ปี 7 ปี และ 10 ปี ถึงจะสอดคล้องกับการลงทุนและให้ประชาชนได้รับผลตอบแทนสูงสุด
น.ส.จุฬารัตน์กล่าวว่า แผนการบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2558 มีการพิจารณาให้สอดคล้องกับแผน พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับ ที่ 11 และยุทธศาสตร์การบริหารประเทศของ คสช. โดยเฉพาะแผนการลงทุนด้านคมนาคมขนส่งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในระยะกลางและยาว
อย่างไรก็ตาม ทางสบน.ยังไม่ได้พิจารณาค้ำประกันเงินกู้วงเงิน 2.8 หมื่นล้านบาท ให้กับบริษัทการบินไทยที่ต้องการกู้ไปเสริมสภาพคล่อง ซึ่งขณะนี้บริษัทการบินไทยได้ส่งแผนฟื้นฟูมาให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาแต่ยังต้องให้ คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน พิจารณาเห็นชอบก่อน และหากต้องการให้กระทรวงการคลังค้ำประกันก็เสนอมาให้พิจารณาได้
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556-กรกฎาคม 2557) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,678,589 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 132,209 ล้านบาท หรือ 7.3% เนื่องจากภาษีที่จัดเก็บจากฐานการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าและอากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ ซึ่งเป็นผลจากการหดตัวของมูลค่าการนำเข้า ประกอบกับการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากผลประกอบการของภาคเอกชนไม่ขยายตัวเท่าที่คาดการณ์ไว้ส่งผลต่อการยื่นชำระภาษีจากผลประกอบการรอบปีบัญชี 2556
นอกจากนี้ ภาษีที่จัดเก็บจากฐานการอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะภาษีสรรพสามิตรถยนต์และภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากอุปสงค์รถยนต์ในประเทศหดตัว และการขยายเวลาการตรึงราคาน้ำมันดีเซลเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน อย่างไรก็ดีการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นยังคงสูงกว่าประมาณการ
นายกฤษฎา กล่าวว่า ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นและมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีของกรมจัดเก็บจะส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วง 2 เดือนที่เหลือ ของปีงบประมาณอย่างไรก็ดีคาดว่ารายได้ของรัฐบาลทั้งปีงบประมาณ 2557 จะต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่ต่ำกว่าประมาณการในช่วงที่ผ่านมา
ชงคสช.เคาะ 1.4 ลล.ใช้หนี้ สบน.เตรียมออกพันธบัตร 'ออมทรัพย์' ปลายปีนี้
บ้านเมือง : สบน. เตรียมชง 'คสช.'เคาะแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 58 วงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท พร้อม เตรียมออกพันธบัตร 'ออมทรัพย์'ปลายปี 57ขณะที่ซิติ้แบงก์เผยเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณดีขึ้น
น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับปลัดกระทรวงการคลังว่า ได้สรุปแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2558 เพื่อเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท รวมถึงแผนการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อกู้เงินชำระหนี้เดิมและการกู้เงินรองรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจ เช่น การสร้างรถไฟฟ้าของ รฟม.หลายเส้นทาง
สำหรับ การกู้ใหม่มีวงเงินประมาณ 380,000 ล้านบาท และเป็นการกู้เงินเพื่อชำระหนี้เดิมวงเงินประมาณ 790,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ โดยการกู้เงินรองรับการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ปี 2558 เน้นการกู้เงินในประเทศเป็นหลัก เพราะยังมีสภาพคล่องจำนวนมาก
น.ส.จุฬารัตน์ กล่าวว่า ยังดำเนินการตามนโยบายของ คสช.เพื่อออกพันธบัตรออมทรัพย์โดยจะออกประมาณ 2 ครั้งเหมือนทุกปี เป็นพันธบัตรอายุ 5, 7 และ10 ปี ครั้งละประมาณ 10,000-30,000 ล้านบาท เพื่อเป็นทางเลือกในการออมเงินให้กับประชาชน หลังจากการออกพันธบัตรครั้งที่ผ่านมาประชาชนสนใจซื้อและจองเต็มวงเงินอย่างรวดเร็ว คาดว่าจะออกพันธบัตรได้ประมาณไตรมาสแรกของงบประมาณปี 2558 หรือเดือนตุลาคมธันวาคม พร้อมพิจารณาอัตราดอกเบี้ยเพื่อเป็นแรงจูงใจต่อการออมของประชาชน แต่ขอดูสภาพตลาดให้เหมาะสมเพื่อดูว่ามีการออกหุ้นกู้ของเอกชนและรัฐสาหกิจอย่างไรบ้าง
ส่วนแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นั้น ขณะนี้ส่งให้ สคร.พิจารณา จากนั้นจะเสนอให้ซุปเปอร์บอร์ดพิจารณาแผนดังกล่าว สำหรับการกู้เงินเพื่อใช้ฟื้นฟูกิจการการบินไทย กระทรวงการคลังจะค้ำประกันให้หรือไม่ ต้องพิจารณาแผนให้ชัดเจน แต่วงเงินค้ำประกันการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจยังมีกรอบวงเงินเหลือ อย่างไรก็ตาม การกู้เงินของการบินไทยโดยตรงที่ไม่ต้องค้ำประกันได้เตรียมกู้แล้ว 20,000 ล้านบาท เพื่อทำชำระค่าจัดซื้อเครื่องบินที่อนุมัติไว้แล้ว.
นายฮาเรน ชาห์ ผู้อำนวยการและนักกลยุทธ์การลงทุนอาวุโส บริการบริหารความมั่งคั่ง ซิตี้ เอเชียแปซิฟิก หรือ ซิตี้แบงก์ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3% จากปี 2556 ที่เติบโต2.5% หลังจากครึ่งปีแรกที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐมีการฟื้นตัว ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการลงทุนและเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเศรษฐกิจสหรัฐคาดว่าจะเติบโต 2.3% ส่วนยุโรปจะพ้นจากสภาพเศรษฐกิจถดถอยโดยเติบโตที่ 1.2% ขณะที่เอเชียเป็นภูมิภาคเดียวที่มีจีดีพีสูงสุดขนายตัว 6.2% ส่วนประเทศจีนคาดว่าขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 7.5% แม้ว่าจีนมีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ ส่วนญี่ปุ่นคาดว่าจะขยายตัว 1.4%
สำหรับ เศรษฐกิจไทยปีนี้มองว่ามีสัญญาณดีขึ้น หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากการลงทุนในตลาดหุ้นที่ดัชนีตลาดหลักทรัยพ์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาดูพัฒนาการในการปฏิรูปประเทศต่อไป จึงยังไม่ขอประเมินจีดีพีปีนี้ แต่มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยปี2558 จะดีขึ้น โดยอาจจะขยายตัว 4% ซึ่งให้คำแนะนำลงทุนในตลาดหุ้นไทยในกลุ่มธนาคาร และสื่อสาร
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทยอยลดขนาดมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) คาดว่า QE จะยุติลงเดือนตุลาคม 2557 และเฟดจะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงกลางปี 2558 ซึ่งที่ผ่านมาตลาดการเงินและตลาดหุ้นรับรู้ข่าวเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อเงินทุนไหลออกจากเอเชียและไทย หากมีการยุติ QE ลง เพราะปัจจุบันประเทศในเอเชียมีทุนสำรองระหว่างประเทศระดับสูง พร้อมกันนี้ ยังต้องติดตามปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศด้วย
ด้านการลงทุนในตลาดหุ้น ทางซิตี้แบงก์ยังมองในเชิงบวก โดยเชื่อว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ผลตอบแทนในตลาดหุ้นดีกว่าตลาดพันธบัตร โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้ว คือสหรัฐและยุโรปจะสูงกว่าตลาดเกิดใหม่ โดยหุ้นของสหรัฐเริ่มกลับมาดีขึ้น เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวทำให้หุ้นเหล่านี้มีรายได้เพิ่มขึ้น คาดว่ากำไรต่อหุ้นจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 7 %ส่วนตลาดหุ้นยุโรป จะให้กำไรต่อหุ้นที่ 10% เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัว และธนาคารกลางยุโรปยังมีการผ่อนคลายเชิงปริมาณอย่างเต็มรูปแบบในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงิน 1 ล้านล้านยูโร ในการกระตุ้นจีดีพี
อนุมัติบริหารหนี้งบประมาณ 58 ลุยกู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
ไทยโพสต์ : พระราม 6 * คลังเห็นชอบแผน บริหารหนี้ปีงบประมาณ 2558 วงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท ลุยกู้ใหม่ 3.8 แสนล้านบาท
น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้ สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ที่มีนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประ ธาน เห็นชอบแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2558 วงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท โดยเป็นการบริหารหนี้เก่า 7.9 แสนล้านบาท และเป็นการกู้ใหม่ 3.8 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการกู้ของรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เช่น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีแผนกู้เงิน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องบินใหม่ โดยจะเสนอแผนการบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าวให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบในสัปดาห์หน้า
สำหรับ การกู้ใหม่ 3.8 แสน ล้านบาท จะเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 2558 จำนวน 2.5 แสนล้านบาท ที่เหลือเป็นการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการกู้เพื่อลงทุนโครง สร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขน ส่ง 2.4 ล้านล้านบาท ที่ คสช.เห็นชอบแล้ว โดยจะมีการกู้เงินลงทุนโครงการดังกล่าวในปีงบประมาณ 2558 วงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
ขณะที่แผนการกู้เงินใหม่นั้น จะมีทั้งการออกพันธบัตรรัฐ บาล การออกตั๋วเงินระยะสั้น และ การออกพันธบัตรออมทรัพย์เพื่อขายให้กับประชาชนตามนโยบายของ คสช. ซึ่งคาดว่าจะออกเป็นวงเงิน 1-3 หมื่นล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะออกพันธบัตรออมทรัพย์อายุ 3 ปี 5 ปี 7 ปี และ 10 ปี ถึงจะสอดคล้องกับการลงทุนและให้ประชาชนได้รับผลตอบแทนสูงสุด
น.ส.จุฬารัตน์ กล่าวอีกว่า สบน.ยังไม่ได้พิจารณาการค้ำประกันเงินกู้วงเงิน 2.8 หมื่น ล้านบาท ให้กับบริษัท การบิน ไทย จำกัด (มหาชน) ที่ต้องการกู้ไปเสริมสภาพคล่อง โดยขณะนี้การบินไทยได้ส่งแผนฟื้นฟูมาให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาแล้ว ซึ่งยังต้องให้คณะ กรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัว หน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน พิจารณา เห็นชอบก่อน.