WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Gกฤษฎา จนะวจารณะ 5สศค.คงเป้าจีดีพีปี 60 ที่โต 3.6% พร้อมเพิ่มเป้าส่งออกโต 4.7% จากเดิม 3.3% หลังอุปสงค์ตปท.สดใส - ใช้จ่ายภาครัฐฯ เป็นแรงหนุน

      สศค.คงเป้าจีดีพีปี 60 ที่โต 3.6% แต่เพิ่มเป้าส่งออกโต 4.7% จากเดิม 3.3%  ส่วนนำเข้าคาดโต 9.7% จากเดิมคาด 7.5% หลังอุปสงค์ต่างชาติโตชัดเจน - การใช้จ่ายภาครัฐฯ เป็นแรงหนุน แต่ต้องจับตาท่องเที่ยว - การเบิกจ่ายงบกลางปีจะถึงเป้าหรือไม่ พร้อมหั่นเป้าเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้มาอยู่ที่ 0.8% จากเดิม 1.4% ส่วนเงินบาทปีนี้คาดแข็งค่าขึ้นแตะ 34 บ./ดอลล์ จากเดิมคาด 35.5 บ./ดอลล์ หลังคาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยปลายปี ด้านศก.เดือนมิ.ย.60 และ Q2/60 ยังโตต่อเนื่องตามส่งออก - การบริโภคเอกชนสดใส   

       นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. เปิดเผยว่า สศค.ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ปี 2560 ไว้ที่ 3.6% แม้ว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีทั้งจากการส่งออก และนำเข้า แต่ยังต้องจับตาการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้ และการเบิกจ่ายงบกลางปีว่าจะได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 35 ล้านคนหรือไม่ โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา การเบิกจ่ายงบกลางปีอยู่ที่ 27.6% และทั้งปีคาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ 50-60% ซึ่งจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแน่นอน 

      สำหรับ ภาคการส่งออก สศค.ปรับประมาณการเพิ่มขึ้นเป็น 4.7% จากเดิมคาด 3.3% ส่วนนำเข้าปรับเพิ่มเป็น 9.7% จากเดิมคาด 7.5% ส่วนการบริโภคภาครัฐปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3.4% จากเดิมคาด 3% ส่วนการลงทุนภาครัฐปรับลดลงเหลือ 9.8% จากเดิมคาด 10.9% ส่วนการบริโภคภาคเอกชนคาด 3.3% จากเดิมคาด 3% ด้านการลงทุนภาคเอกชนคาด 2.6% ลดลงจากเดิมที่ 2.7% 

       ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 0.8% จากเดิมคาดที่ 1.4% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงอยู่ที่ 0.6% จากเดิมคาด 0.7% นอกจากนี้ ยังปรับประมาณการตัวเลขอัตราแลกเปลี่ยนในปีนี้คาดว่าจะปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์ จากเดิมคาด 35.5 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ประกอบกับยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายหาเสียงของประธานาธิบดีที่ยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ อย่างไรก็ตาม มองว่าในช่วงปลายปีนี้ค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าเล็กน้อย จากการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ของไทยคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% ต่อปีในปีนี้ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบคาดว่าจะอยู่ที่ 50.4 ดอลลาร์ต่อบาเรล จากเดิมคาด 53.7 ดอลลาร์ต่อบาเรล  

        ขณะที่ดุลการค้าในปี 2560 คาดว่าจะเกินดุล 29.4 พันล้านดอลลาร์ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 42.3 พันล้านดอลลาร์ 

        “เศรษฐกิจไทยในปี 2560 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 3.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.3 – 3.9) เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.2   ส่วน  Q2/60 จะโตได้ 3.4-3.5% รับอุปสงค์ภายนอกประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวดีและกระจายในหลายหมวดสินค้ามากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีขึ้น นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ตามการใช้จ่ายอุปโภคและการลงทุนภาครัฐที่เบิกจ่ายได้ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 60 จำนวน 1.9 แสนล้านบาท - การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ส่วนการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ  ส่วนการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นยังจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในประเทศได้มากขึ้น  แต่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อร้างมีแนวโน้มชะลอลงตามภาวะอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา ขณะที่แนวโน้มรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกและผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจะเป็นแรงสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป "  นายกฤษฎา กล่าว

        สำหรับ เสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยในส่วนของเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2560 จะอยู่ที่ร้อยละ 0.8 (โดยมีช่วงประมาณการที่ร้อยละ 0.5 - 1.1) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อนตามแนวโน้มต้นทุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 42.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 9.5 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 9.2 – 9.8 ของ GDP)

       สำหรับ เศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และไตรมาส 2/2560 เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออกในเดือนมิถุนายนที่มีมูลค่า 20.3 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 11.7% ขณะที่ไตรมาส 2 การส่งออกมีมูลค่า 57.1 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10.9% ขณะที่การนำเข้าในเดือนมิถุนายน มีมูลค่า 18.4 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 13.7% ขณะที่ไตรมาส 2 นำเข้ามีมูลค่า 54.2 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 15.2% 

        ด้านดุลการค้าในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเกินดุล 1.9 พันล้านดอลลาร์ และไตรมาส 2 ดุลการค้าเกินดุล 2.9 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยยังมีแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 63.4  ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะ ยางพารา และมันสำปะหลัง ที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ และไตรมาส 2 อยู่ที่ 64.4 

       ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อติดลบที่ 0.05% ต่อปี เนื่องจากราคาสินค้าประเภทผักและผลไม้ที่ลดลงจากปัจจัยฐานสู.ในปีก่อนหน้าจากภาวะภัยแล้ง ประกอบกับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศชะลอลงเมื่อเทียบกับต้นปี ด้านไตรมาส 2 ขยายตัวได้ 0.1% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานมิถุนายนอยู่ที่ 0.1% ส่วนไตรมาส 2 อยู่ที่ 0.5% ต่อปี ด้านหนี้สาธารณะอยู่ที่ 42.9% ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง ด้านทุนสำรองระหว่างประเทศในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 185.6 พันล้านดอลลาร์

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!