- Details
- Category: คลัง
- Published: Wednesday, 28 June 2017 06:54
- Hits: 3771
คลังเผยผลการประชุม AIIB ชู TFF - EEC บนเวทีโลก พร้อมเดินหน้าเชื่อมโยงศก.ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
คลัง เผยผลการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย(AIIB) ครั้งที่ 2 ณ สาธารณรัฐเกาหลี ชูแผนโครงสร้างพื้นฐานของไทย - Thailand Future Fund และ EEC พร้อมจะร่วมมือกับ AIIB ทั้งในส่วนของประเทศไทยเองและความเชื่อมโยงในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อํานวยการสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) ครั้งที่ 2 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 16 - 18 มิถุนายน 2560 ณ เกาะเชจู สาธารณรัฐเกาหลี โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. การประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการ AIIB ครั้งที่ 2 ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 - 18 มิถุนายน 2560 ภายใต้หัวข้อ “Sustainable Infrastructure” โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ว่าการของไทยใน AIIB ได้มีถ้อยแถลงถึงภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของไทย การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ โครงสร้างพื้นฐานด้านระบบการเงิน และการลดกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นและขาดความคล่องตัวลง ไม่ว่าจะเป็นการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership Fast Track) การจัดตั้ง Thailand Future Fund การสร้างระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) การพัฒนาระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (National e-Payment) และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อการลงทุน เป็นต้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศให้สูงขึ้นด้วยเศรษฐกิจที่เน้นนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มภายใต้แนวคิดประเทศไทย 4.0 นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำถึงความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับ AIIB เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน (Sustainable Infrastructures) และสนับสนุนความเชื่อมโยงในภูมิภาค (Regional Connectivity) โดยเฉพาะในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมประชุมสภาผู้ว่าการ AIIB (Governors’ Official Business Session) เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบรับราชอาณาจักรตองกา สาธารณรัฐอาร์เจนตินา และมาดากัสการ์ เข้าเป็นสมาชิกใหม่ของ AIIB ทำให้ AIIB มีสมาชิกเพิ่มเป็น 80 ประเทศ นอกจากนี้ สภาผู้ว่าการ AIIB ยังได้ให้ความเห็นชอบรายงานทางการเงินของ AIIB ประจำปี 2559 และอนุมัติงบประมาณของ AIIB ปี 2560 จำนวน 87.151 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารโดยนาย Jin Liqun ประธาน AIIB ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าในการประชุมคณะกรรมการ AIIB ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 - 15 มิถุนายน 2560 คณะกรรมการ AIIB ได้อนุมัติโครงการเงินกู้แก่ประเทศสมาชิกเพิ่มอีก 3 โครงการให้แก่ประเทศจอร์เจีย อินเดีย และทาจิกิสถาน รวมมูลค่า 324 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยโครงการของประเทศอินเดียเป็นการร่วมลงทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (India Infrastructure Fund) มูลค่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และถือเป็นโครงการลงทุนในตราสารทุน (Equity Investment) โครงการแรกของ AIIB
3. การประชุมโต๊ะกลมของผู้ว่าการ AIIB (Governors Roundtable) เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2560 มีการหารือเกี่ยวกับความจำเป็นที่ต้องมีการสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคเอเชีย (Financing Asia’s Infrastructure Priorities) และแนวทางระดมทุนจากภาคเอกชนเพื่อช่วยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเอเชีย (Mobilizing Private Capitals for Infrastructure) ซึ่งที่ประชุมตระหนักถึงความจำเป็นในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค (Regional Connectivity) ทั้งทางบกและทางทะเล และโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับความมั่นคงด้านพลังงาน (Energy Security) โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งที่ประชุมเน้นย้ำว่าบทบาทของภาคเอกชนในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในด้านการระดมทุน (Mobilizing Private Capitals) และด้านการบริหารจัดการ (Project Implementation)
นับว่า เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้และไม่ใช่แหล่งเงินทางเลือกอีกต่อไป เพราะภาคเอกชนมีทรัพยากรทางการเงินที่มากพอที่จะสนับสนุนโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ยังขาดแคลนเงินทุนอีกมาก ดังนั้น รัฐบาลของประเทศสมาชิกต้องปรับปรุงนโยบายและกฎเกณฑ์ในการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มีความชัดเจนและโปร่งใส ทั้งนี้ ผู้แทนจากภาคเอกชนเองก็ตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และเห็นว่าปัจจัยที่สำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชนในโครงการที่สำคัญของรัฐ ได้แก่ ความชัดเจนและเสถียรภาพ ของนโยบายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (Certainty and Clarity of Regulations) สถานะทางเศรษฐกิจมหภาคและความสามารถในการชำระหนี้ของภาครัฐ (Sovereign Country Risk) และสภาพแวดล้อมความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business)
4. อนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้หารือทวิภาคีกับนาย Jin Liqun ประธาน AIIB และนาย D.J. Pandian รองประธาน AIIB ถึงแนวทางที่ AIIB จะมีความร่วมมือกับประเทศไทยในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแจ้งว่าประเทศไทยมีความพร้อมที่จะร่วมมือกับ AIIB ทั้งในส่วนของประเทศไทยเองและความเชื่อมโยงในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งประเทศไทยมีต้นทุนทางการเงินค่อนข้างต่ำในปัจจุบัน และมีเสถียรภาพทางการเงินที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังได้หารือทวิภาคีกับนาย Michael Lawrence กรรมการบริหารของ Asia House ถึงบทบาทของ Asia House ในการเป็นองค์กรเชื่อมภาคเอกชนในภูมิภาคยุโรปโดยเฉพาะสหราชอาณาจักรเข้ามาลงทุนในภูมิภาคอาเซียน หรือให้การสนับสนุนในการเชิญชวนนักธุรกิจในยุโรปที่มีความสนใจเข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยต่อไป
สำหรับ การประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการ AIIB ครั้งที่ 3จะจัดขึ้น ณ เมืองมุมไบ สาธารณรัฐอินเดีย ระหว่างวันที่ 25 - 26 มิถุนายน 2561
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย