- Details
- Category: คลัง
- Published: Wednesday, 14 June 2017 21:54
- Hits: 12197
สคร. เล็งนำรถไฟฟ้าสายสีม่วง-สีส้ม และรถไฟฟ้าภูเก็ต-เชียงใหม่ มูลค่า 6 แสนลบ.เข้า PPP Fast Track
สคร. ใช้ PPP Fast Track โครงการรถไฟฟ้า 3 สาย สำเร็จภายใน 9 เดือน กระตุ้นการลงทุนของประเทศ อีกกว่า 1.9 แสนล้านบาท เล็งรถไฟฟ้าสีม่วง/ส้ม/และรถไฟฟ้าภูเก็ต-เชียงใหม่ มูลค่าโครงการประมาณ 6 แสนลบ. เข้า PPP Fast Track เป็นลำดับต่อไป เผยเตรียมเสนอยกร่างพ.ร.บ.ร่วมลงทุน 2556 ให้คลังพิจารณา ช่วงเดือนก.ค. ก่อนเข้าครม.เดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ ชี้ปลัดคลังจะประชุมเตรียมการไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ มั่นใจเปิดขายได้ในปีนี้
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) แถลงถึงความสำเร็จของนโยบายรัฐบาลในการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Fast Track) เพื่อพัฒนาโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยสามารถผลักดันโครงการรถไฟฟ้า 3 สาย มูลค่าโครงการ 1.9 แสนล้านบาท ได้สำเร็จภายใน 9 เดือน ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ (โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย) มูลค่าโครงการ 83,877 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี (โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู) มูลค่าโครงการ 56,691 ล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง (โครงการรถไฟฟ้าสายเหลือง) มูลค่าโครงการ 54,644 ล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้า 3 สาย ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556) เสร็จสิ้นแล้ว โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายได้มีการลงนามในสัญญาแล้วเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและโครงการรถไฟฟ้าสายเหลืองจะมีการลงนามในสัญญาในวันที่ 16 มิถุนายน 2560 นอกจากนี้ การพัฒนาโครงการ PPP ทั้ง 3 โครงการได้เร็วขึ้นจะทำให้การเดินทางของประชาชนมีความสะดวกสบาย ลดความแออัดของการจราจร และลดการสิ้นเปลืองพลังงานของประเทศ
โดยขณะนี้ สคร.อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ต่อการแก้ไจสัญญาร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ฉบับแก้ไขปรับปรุง ปี 2556 โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2560 และคาดว่าจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ได้ภายในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้
นอกจากนี้ ในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ PPP Fast Track โดยได้ให้กระทรวงคมนาคมคัดเลือกโครงการที่อยู่ในความดูแลเข้าสู่กระบวนการ PPP Fast Track ใหม่ หลังจากในช่วงที่ผ่านมาดำเนินการตาม PP Frast Track แล้วเสร็จ 3 โครงการ สำหรับเบื้องต้นคาดว่าจะมีรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และรถไฟฟ้าสายสีส้ม เส้นช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี และรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเส้นเชียงใหม่ และภูเก็ต มูลค่าโครงการประมาณ 600,000 ล้านบาท
นางปานทิพย์ ศรีพิมล ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สคร. กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการ PPP Fast Track เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะขับเคลื่อนนโยบายการลงทุนของรัฐบาล โดยการบูรณาการความร่วมมือในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ในการทำงานในบางขั้นตอนให้คู่ขนานกันไป โดย สคร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ PPP ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในกำหนดรายการข้อมูลที่จำเป็นในการศึกษาและวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนให้ชัดเจน (Checklist) และบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ซึ่งได้ลดระยะเวลาการดำเนินการตาม พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 ที่จะใช้เวลาตั้งแต่เริ่มทำการศึกษาโครงการจนถึงการประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุนจากเวลาปกติประมาณ 25 เดือน ให้เหลือเพียง 9 เดือน นอกจากนี้ จะได้นำบทเรียนต่างๆ รวมถึงกลไกสำคัญของมาตรการ PPP Fast Track มาใช้ในการปรับปรุง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 ด้วย ซึ่งปัจจุบันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เห็นชอบหลักการของการปรับปรุง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 แล้ว โดยมีหลักการสำคัญในการส่งเสริมโครงการร่วมลงทุนให้มากขึ้น มีขั้นตอนที่กระชับชัดเจน แต่ยังคงความโปร่งใส เปิดเผย และตรวจสอบได้ รวมทั้งยึดหลักวินัยการเงินการคลัง เช่นเดิม ทั้งนี้ คาดว่าจะนำเสนอร่าง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 ฉบับปรับปรุงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2560
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวสรุปว่า ทั้งมาตรการ PPP Fast Track และการปรับปรุง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีที่ต้องการส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนโครงการต่างๆ ของภาครัฐที่จะช่วยทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้เร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนดียิ่งขึ้น และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่กำหนดให้มีการลงทุนจากความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานเฉลี่ยปีละ 47,000 ล้านบาท
ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ Thailand Future Fund หรือ TFF เพื่อระดมทุนนั้น คาดว่าจะยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขาย หรือ ไฟลิ่ง ให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้ในเดือนกันยายนนี้ และคาดว่าจะเปิดขายได้ทันปีนี้อย่างแน่นอน สำหรับที่ปรึกษาทางการเงินนั้น ได้จ้าง บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)
“การจะขายได้เมื่อไหร่ เราจะต้องติดตามด้วยว่าผู้ที่จะใช้เงินเขามีแผนยังไงบ้าง ดังนั้นต้องดูแผนของการทางพิเศษด้วย โดยในสัปดาห์หน้า คาดว่า นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง จะเรียกการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. หารือในสัปดาห์หน้า”นายเอกนิติ กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย