- Details
- Category: คลัง
- Published: Thursday, 01 June 2017 08:42
- Hits: 3983
สศค.คาดสัปดาห์นี้ได้ข้อสรุปรูปแบบสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ย้ำไม่แจกเงินเหมือนครั้งก่อน
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ให้ข้อมูลในงานสัมมนา เรื่อง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ภายใต้ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่จัดโดย ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดย สศค. คาดสัปดาห์นี้ได้ข้อสรุปรูปแบบสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ย้ำไม่แจกเงินเหมือนครั้งก่อน เผยอยู่ระหว่างพิจารณาอัตราจัดเก็บและยกเว้น ภาษีที่ดินใหม่ คาดเก็บภาษีได้เพิ่มหลักหมื่นลบ บังคับใช้กำหนดเดิม 1 ม.ค. 62
ภายในสัปดาห์นี้ คณะทำงานจะได้ข้อสรุปรูปแบบสวัสดิการของผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อย โดยเบื้องต้นจะเป็นลักษณะลดค่าสาธารณูปโภค เช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโดยสาร แต่ยืนยันว่าครั้งนี้คงไม่มีการโอนเงินแบบครั้งก่อน
ส่วน พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างเรื่องอัตราภาษีที่เหมาะสม รวมถึงจะมีการลดหรือยกเว้นในกรณีต่างๆ โดยเบื้องต้นได้กำหนดเพดานจัดเก็บภาษีประเภทของที่ดิน ได้แก่ ที่ดินเกษตรกรรม 0.2% ที่ดินที่พักอาศัย 0.5% ที่ดินพาณิชยกรรม 2% และที่ดินรกร้างว่างเปล่า 5% โดยขอความร่วมมือประชาชนอย่าเชื่อข่าวลือเรื่องการจัดเก็บภาษีจากแหล่งอื่น เพราะขณะนี้คณะกรรมมาธิการยังไม่ได้ข้อยุติ แต่ยืนยันว่าจะเริ่มบังคับใช้ตามกำหนดการเดิมคือ 1 ม.ค. 62
ประโยชน์ของการทำ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ คือช่วยเพิ่มอุปทานของที่ดินที่ใช้ในการเกษตร และใช้พัฒนาอสังหาฯ รวมถึงลดการถือครองที่ดินที่กระจุกตัวในคนบางกลุ่มเบื้องต้นคาดว่าการปรับปรุง พ.ร.บ. ใหม่ จะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นหลักหมื่นล้านบาท จากเดิมจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ได้ 532 ล้านบาทต่อปี และจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินได้ประมาณ 27,000 ล้านบาทต่อปี
นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์ และที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาคมด้านอสังหาฯได้ส่งข้อเสนอแนะเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ชัดเจน เช่น ที่ดินที่แจ้งว่าเป็นที่ดินการเกษตรกรรม เป็นเกษตรกรรมจริงหรือไม่ เพราะอัตราการจัดเก็บภาษีแต่ละประเภทต่างกันเป็นเท่าตัว ซึ่งรัฐบาลต้องหามาตรการแบ่งที่ชัดเจน รวมถึงช่วงการยกเว้นบรรเทาภาษีควรจะเริ่มเก็บตั้งแต่ยื่นขอใบอนุญาตหรือช่วงใด เพราะถ้าไม่แก้ปัญหาให้ชัดเจนอาจส่งผลกระทบ เช่น ประเภทที่ดินที่อยู่อาศัยอาจเกิดการผลักดันภาระให้กับผู้บริโภคได้ ซึ่งราคาอสังหาริมทรัพย์ต่อไปอาจขึ้นอยู่กับการตีความของ พ.ร.บ. ในครั้งนี้
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย