- Details
- Category: คลัง
- Published: Tuesday, 13 May 2014 22:55
- Hits: 3945
'ทุนุศักดิ์' หารือ'ปลัดคลัง'สานงานแทน'โต้ง'รับหนี้ค่าข้าวจ่ายไม่ทันมิย.
แนวหน้า : 'ปลัดคลัง'นัดถก 'ทนุศักดิ์'วันที่ 14 พ.ค.นี้ เพื่อเดินหน้างานต่างๆ ของกระทรวงฯหลัง"กิตติรัตน์"ตกเก้าอี้ พร้อมรับปากจะหาเงินมาจ่ายหนี้ค่าข้าวที่ค้างให้เร็วที่สุด ขณะที่ ‘เวิลด์แบงก์’จี้หากจ่ายช้ากระทบเศรษฐกิจแน่
นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รักษาการ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 พ.ค.2557นี้ จะมีการนัดหารือถึงข้อกฎหมายกับนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่หลังจากรับหน้าที่แทนนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง โดยการหารือดังกล่าวเพื่อหาแนวทางให้สามารถเดินหน้างานต่างๆ ของกระทรวงการคลังได้ทันที ต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายรัฐบาล เดิมเคยตั้งใจไว้ว่าจะจ่ายในส่วนที่เหลือประมาณ 9 หมื่นล้านบาทให้หมดภายในเดือนมิ.ย.2557นี้ แต่ขณะนี้สถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไปมาก ดังนั้นก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ แต่ก็จะพยายามให้มากที่ขึ้นสุดเพื่อหาเงินมาจ่ายให้ชาวนาที่ยังค้างอยู่โดยเร็ว
อย่างไรก็ดีมีรายงานข่าวจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)แจ้งว่า ในส่วนของ กองทุนช่วยเหลือชาวนา ตามเป้าที่จะระดมให้ได้ 2 หมื่นล้านบาทนั้น ที่ผ่านมามียอดบริจาค และฝากรวม 1.1 หมื่นล้านบาทแล้ว เชื่อว่าจะนำไปจ่ายหนี้จำนำข้าวให้กับชาวนาเพราะไม่ติดเงื่อนไขเหมือนการใช้เงินยืมงบกลาง ต้องจ่ายคืนตามที่ คณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.) กำหนด
นายทนุศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ จะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางแก้ไขเศรษฐกิจไทยในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่สงบนิ่ง ในเบื้องต้นได้แบ่งเป็น 2 สมมุติฐาน คือ สามารถเลือกตั้งเพื่อมีรัฐบาลใหม่ได้ภายในเดือนก.ค.นี้ และในกรณีที่ไม่สามารถมีรัฐบาลได้ทั้งปีนี้ โดยยอมรับว่าหากไม่สามารถเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ได้ภายในปีนี้จะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างหนัก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ได้รับผลกระทบอย่างแสนสาหัสจากปัญหาการเมือง และส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ไม่น่าจะถึง 2.6% อย่างที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือสศค.ประมาณการณ์ไว้
"ในการดูแลเศรษฐกิจนับจากนี้ไปต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมือง ปัญหาในขณะนี้ไม่ได้เกิดในสถานการณ์การเมืองที่ปกติ ดังนั้นแนวทางในการดูแลเศรษฐกิจคงจะแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งกระทรวงการคลังต้องวางแผนไว้เพื่อเป็นทางเลือกอย่างน้อย 2-3 แนวทาง ขณะนี้คงยังบอกชัดๆ ไม่ได้ว่าจะใช้นโยบายอะไรบ้าง ผมคงต้องขอหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน รวมถึงแลกเปลี่ยนแนวคิดกับข้าราชการในกระทรวงก่อน"นายทนุศักดิ์ กล่าว
ด้าน น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์) สำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบระยะสั้นต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะยังคงขยายตัวร้อยละ 2.5 ถึงร้อยละ 3 ทั้งนี้ อยู่บนสมมุติฐานว่า สามารถตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะช่วยให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะผลจากการเดินหน้าเบิกจ่ายเงินค่าจำนำข้าวที่ค้างอยู่จำนวน 1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1 ของจีดีพีประเทศ ที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่ถ้าหากไม่สามารถมีรัฐบาลใหม่ที่สามารถทำงานได้ภายในปีนี้ ธนาคารโลกจะทบทวนประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยใหม่ในเดือนตุลาคมที่จะถึง นี้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ธนาคารโลกเห็นว่า น่าเป็นห่วงในระยะยาวคือ การไม่มีรัฐบาลที่มั่นคง ทำให้รัฐบาลออกนโยบายเน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ส่งผลให้ไม่ได้วางแผนพัฒนาประเทศในอนาคต 5-10 ปีข้างหน้าอย่างเหมาะสม ประเทศจึงหยุดอยู่กับที่จนประเทศอื่นพัฒนาแซงหน้าไปได้