WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Gสวชญ โรจนวานชคลัง เผยผลประชุมผู้ว่า ADB ปรับเงื่อนไขเงินกู้ 300-500 ล้านเหรียญ ใช้ในโครงสร้างพื้นฐาน- ชวนสถาบันตปท.มาลงทุนใน EEC

      คลังเผยผลประชุมผู้ว่าธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ณ ประเทศญี่ปุ่น ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินกู้ 300-500 ล้านเหรียญ สำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม กำหนดแผนร่วมมือกันดันไทยแลนด์ 4.0 พร้อมคุย JBIC เรื่องการมีส่วนร่วมใน PPP และ EEC พร้อมชวนสถาบันการเงินตปท.ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

     นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้เข้าร่วมการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชียครั้งที่ 50 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นหัวหน้าคณะ พร้อมด้วยปลัดกระทรวงการคลัง และคณะผู้แทนกระทรวงการคลัง ในระหว่างวันที่ 3-7 พฤษภาคม 2560 ซึ่งมีการประชุมหารือที่สำคัญ ดังนี้

  1.       การหารือกับ Mr.Takehiko Nakao ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย ในการขอรับการสนับสนุนเงินกู้จาก ADB วงเงินประมาณ 300-500 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ซึ่ง ADB ได้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินกู้ให้เป็นไปตามความต้องการของไทยเพื่อให้สามารถบริหารความเสี่ยงหนี้เงินกู้ต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้ความช่วยเหลือในรูป Transaction Advisory Service เพื่อศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นสำหรับโครงการพัฒนาธุรกิจด้านการเกษตร (Producer Companies) รวมถึงความร่วมมือทางวิชาการ (Technical Assistance) ในด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะยินดีเป็นเจ้าภาพร่วมกับ ADB ในการจัดประชุม Asian Regional Public Debt Management Forum ในปี 2561
  2.       การหารือกับ Ms. Victoria Kwakwa รองประธานธนาคารโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ในการจัดทำกรอบความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาระดับประเทศ (Country Partnership Framework: CPF) เพื่อกำหนดแผนความร่วมมือของทั้ง 2 ฝ่ายในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 และนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะปานกลาง รวมถึงส่งเสริมความรู้และนวัตกรรมในสาขาที่ประเทศไทยยังไม่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งประกอบด้วยความช่วยเหลือทางการเงิน ความช่วยเหลือทางวิชาการและโครงการที่จ้างธนาคารโลกเป็นที่ปรึกษาในด้านต่างๆ
  3.       การหารือกับธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation: JBIC) ในการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนญี่ปุ่นในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยในรูปแบบ PPP และการลงทุนในเขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) รวมถึงบทบาทของ JBIC ในการสนับสนุนความร่วมมือในการพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเพื่อเชื่อมต่อการค้าและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน
  4.       การหารือกับสถาบันการเงินต่างประเทศ ได้แก่ Nomura BTMU Citi HSBC Mizuho Daiwa  และ Bank of America Merrill Lynch โดยได้มีการหารือเกี่ยวกับแนวทางการระดมทุนสำหรับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และความเป็นไปได้ในการออกตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศ อย่างไรก็ดี เนื่องจากปัจจุบันสภาพคล่องของตลาดการเงินในประเทศยังอยู่ในระดับสูงทำให้ต้นทุนการกู้เงินในประเทศค่อนข้างต่ำ รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะระดมทุนในประเทศเพื่อใช้สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ สำหรับโครงการใหม่จะมีการศึกษาแนวทางการให้ภาคเอกชนมาร่วมลงทุนภายใต้รูปแบบ PPP โดยจะมีการติดตามภาวะตลาดอย่างใกล้ชิดเพื่อพิจารณาจัดหาแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่อไป

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย                                

                                    

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!