WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

รัฐวิสาหกิจ รายได้ดีส่งเงินเข้ารัฐกระฉูด 7 เดือนเม็ดเงินทะลักกว่าแสนล.

    แนวหน้า : นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 50% ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556-เมษายน 2557) อยู่ที่ 100,052 ล้านบาท สูงกว่าเป้า 23,596 ล้านบาท หรือประมาณ 130.86% เนื่องจากที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจมีรายได้ที่ดี โดยคาดว่าทั้งปีจะเกินเป้าที่วางไว้ 2 หมื่นล้าน

     นอกจากนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้น มาจากการบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจที่มีความโปร่งใสมากขึ้น ขณะที่รัฐวิสาหกิจอื่น เช่น กฟผ. ไม่ได้มีการลงทุนเพิ่ม ทำให้ไม่ต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่าย เช่น หักค่าเสื่อม และ ขณะที่สถาบันการเงินหลายแห่งฐานะผลประกอบการดีขึ้นมาก

     ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือนพบว่า ในเดือนเมษายนรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้สูงที่สุดในรอบ 7 เดือน จำนวน 18,120 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 5,682 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 145% สูงจากเดือนมีนาคม 2557 ที่จัดเก็บได้ 12,183 ล้านบาท

     “ในปี 2558 ตั้งเป้าหมายรายได้รัฐวิสาหกิจ 1.1 แสนล้านบาท แต่ก็ยอมรับว่าในปี งบประมาณ 2558 จะได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองในปีนี้ ที่จะส่งผลรายได้ต่อการจัดเก็บในปีหน้า โดยสคร.ไม่ได้ไปให้รัฐวิสาหกิจมาเร่งจ่ายรายได้เข้ารัฐ เพื่อชดเชยรายได้ภาษีที่จัดเก็บลดลง ผลที่เกิดขึ้นมาจากผลประกอบการที่ดี” นายประสงค์ กล่าว

    สำหรับ รัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้ในช่วง 7 เดือน สูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำส่งได้ 18,978 ล้านบาท 2.ธนาคารออมสิน นำส่งได้ 13,023 ล้านบาท 3.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำส่งได้ 9,589 ล้านบาท 4.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นำส่ง 497 ล้านบาท และนำส่งรายได้ 28% ของการจำหน่ายสลากและดอกเบี้ย 7,840 ล้านบาท รวมถึงผู้ที่ไม่มาขอรับรางวัล 514 ล้านบาท และ 5.โรงงานยาสูบ นำส่ง 7,173 ล้านบาท

    ส่วนรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้ต่ำสุดในช่วง 7 เดือนแรก เช่น บรรษัทตลาดรองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย นำส่งได้ 3.16 ล้านบาท องค์การตลาด 5.80 ล้านบาท บริษัท สหโรงแรมไทย และการท่องเที่ยว

    นายประสงค์ กล่าวว่า ขณะที่การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556-มีนาคม 2557) พบว่า รัฐวิสาหกิจทั้ง 46 แห่ง มีเป้าหมายเบิกจ่ายรวม 348,375 ล้านบาท โดยสิ้นเดือนมีนาคมสามารถเบิกจ่ายได้ 57,136 ล้านบาท คิดเป็น 72.2% ของรัฐวิสาหกิจที่เบิกจ่ายในรอบปีงบประมาณ และคิดเป็น 16.4% ของรัฐวิสาหกิจที่เบิกจ่ายในรอบปีปฏิทิน โดยโครงการที่มีมูลค่าสูง เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หัวลำโพง-บางแค และ บางซื่อ-ท่าพระ โครงการทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก เป็นต้น

ไล่บี้รีดเงิน รสก.ชดเชยรัฐพิษการเมืองซัดเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังมืดมน

    บ้านเมือง : รัฐบาลเร่งรายได้รัฐวิสาหกิจชดเชยรายได้ของรัฐบาลกลางต่ำกว่าเป้าหมาย ระบุ 7 เดือนแรกของปีงบประมาณนี้ รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ให้รัฐบาลแล้วกว่าแสนล้านบาท หรือสูงกว่าเป้าหมาย 31%

    นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เปิดเผยว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2014 จากตุลาคมจนถึงเมษายนนี้ รัฐวิสาหกิจได้นำส่งรายได้รวม 100,052 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 30.86% หรือประมาณ 2.35 หมื่นล้านบาท

    โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงสุด ได้แก่ ปตท. นำส่ง 1.89 หมื่นล้านบาท รองลงมาคือ ธนาคารออมสิน นำส่ง 1.3 หมื่นล้านบาท, การไฟฟ้าฝ่ายผลิต นำส่ง 9.58 พันล้านบาท, สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นำส่ง 8.83 พันล้านบาท, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 7.38 พันล้านบาท และโรงงานยาสูบ นำส่ง 7.17 พันล้านบาท ข้อสังเกตของรายได้นำส่งของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล คือ เป็นรายได้จากคนที่ถูกรางวัลแล้วไม่นำสลากมาขึ้นเงินรางวัล เป็นเงิน 514 ล้านบาท

    สำหรับการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 46 แห่ง ซึ่งมีงบลงทุนในปีงบประมาณนี้อยู่ที่ 3.48 แสนล้านบาท โดยจนถึงเดือนมีนาคมนี้ รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบลงทุนแล้วรวม 5.71 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 72% ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม หรือคิดเป็น 16.4% ของแผนทั้งปี โดยรัฐวิสาหกิจที่เบิกจ่ายสูงสุด ได้แก่ รัฐวิสาหกิจในสาขาสาธารณูปโภคและสื่อสาร รองลงมาคือ สาขาขนส่ง

    รายได้จากรัฐวิสาหกิจในปีนี้ ถือเป็นบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากรายได้ของรัฐบาลกลางลดต่ำลง อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจหดตัว โดยในครึ่งปีแรกของปีงบประมาณนี้ จัดเก็บได้สุทธิ 9.35 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 2.08 หมื่นล้านบาท หรือ 2.2% และเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ต่ำกว่าถึง 4.3% ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้รายได้ของรัฐบาลต่ำกว่าที่คาดเป็นผลมาจากการนำเข้าชะลอตัว ส่งผลให้รายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บบนสินค้านำเข้า ลดต่ำกว่าเป้าหมาย รวมถึงการลดต่ำกว่าเป้าหมายของภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากน้ำมันและรถยนต์ อันเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลไม่เพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลตามแผนที่กำหนด และความต้องการซื้อรถยนต์ชะลอตัว สำหรับรายได้จากภาษีบุคคลธรรมดาก็ลดต่ำกว่าเป้าหมาย อันเป็นผลมาจากการปรับลดโครงสร้างภาษี

   สำหรับ การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล ที่กำหนดงบประมาณรายจ่ายรวมไว้ที่ 2.525 ล้านล้านบาท ในครึ่งแรกของปีงบประมาณนี้ เบิกจ่ายไปแล้ว 1.384 ล้านล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 0.9% ในจำนวนนี้เป็นรายจ่ายงบลงทุนในปีงบประมาณ 2014 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 1.2%

   นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาตลาดทุนไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้เสี่ยงติดลบหลังภาคการส่งออกไม่ได้เติบโตตามเป้าหมาย ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองส่งผลให้ความมั่นใจของผู้บริโภคชะลอตัว เอกชนยังไม่กล้าขยายการลงทุนใหม่ ขณะที่การลงทุนภาครัฐไม่มีตราบใดยังตั้งรัฐบาลไม่ได้และนักธุรกิจก็ยังไม่ทราบว่าจะมีรัฐบาลใหม่เมื่อใด และจะมี นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร

   อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าธุรกิจขนาดใหญ่ หรือบริษัทจดทะเบียนน่าจะยังเติบโตได้ แต่ภาวะเศรษฐกิจขณะนี้จะส่งผล กระทบต่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการขนาดกลางและเอส เอ็มอี ขณะที่ภาคต่างประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญ ช่วงนี้ทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรปเพิ่งอยู่ในภาวะฟื้นตัว อาจพึ่งพิงได้ยาก ขณะที่ผู้นำใหม่ของจีนส่งสัญญาณไม่เน้นการเติบโตของเศรษฐกิจจีนอย่างร้อนแรง แต่จะเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ จะทำให้การเร่งการลงทุนของจีนทั้งในประเทศและต่างประเทศชะลอลง

    ส่วนปัจจัยทางด้านการเมืองจะมีทางออกอย่างไร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า เชื่อว่าสถานการณ์จะเริ่มคลายตัวลง หลังจากเกิดสภาพที่ไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มแล้ว เชื่อว่าสถานการณ์จะก้าวสู่การปฏิรูปประเทศ โดยภาคเอกชนคาดหวังว่าท้ายที่สุดสถานการณ์จะจบลงด้วยการมีรัฐบาลที่มีอำนาจบริหารจริงเข้ามาแก้ปัญหาการเมือง ทำการปฏิรูปก่อนนำประเทศไปสู่การเลือกตั้งในอนาคต

     นายสันติ กีระนันทน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริส เรตติ้ง จำกัด กล่าวว่า ในการประเมินของนักวิเคราะห์ต่อสถานการณ์การเมืองไทย ประเมินว่าปัญหาการเมืองไทยยังไม่มีวี่แววว่าในครึ่งปีหลังจะตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ นักวิเคราะห์ที่มองสถานการณ์ในเชิงลบ บางรายเห็นว่าสถานการณ์กรณีรุนแรงสุด อาจลากยาวถึงตลอดปี 2558 โดยในปีนี้นอกจากตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกตัวชะลอลงหมดแล้ว เช่น การส่งออก การลงทุนภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชน มีปัญหาแล้ว การท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 1 ที่เป็นตัวสร้างรายได้สำคัญของประเทศในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่ผ่านมา ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองจนต้องชะลอตัวไปอย่างมากด้วย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!