- Details
- Category: คลัง
- Published: Tuesday, 12 August 2014 23:45
- Hits: 2700
ลงทุนพีพีพี-รัฐค้ำรสก.'หนี้เพิ่ม'เอดีบีติง-แนะเปิดเผยข้อมูลจี้ตั้งกรอบยั่งยืนคลังในกม.
ไทยโพสต์ : ราชประสงค์ * เอดีบีติงรัฐดึงเอกชนร่วมทุนผ่านโครงการพีพีพี เสี่ยงเป็นภาระหนี้ประเทศระยะยาว แนะเปิดเผยข้อมูลให้มีการตรวจสอบ กำหนดกรอบความยั่งยืนทางการคลังในกฎหมาย สร้างความเชื่อมั่นดีกว่าให้เป็นดุลยพินิจของ ครม. ด้าน สบน.เสนอแก้กฎหมายปลดล็อกโยกเงินกู้ฝากแบงก์รัฐ หารายได้-ลดต้นทุนดอกเบี้ย
นางลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐ กรอาวุโส ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ประจำประเทศไทย กล่าวในการประชุมวิชาการ เรื่อง 'การปฏิรูปโครงสร้างหนี้สาธารณะ'ว่า เอดีบีมีการประเมินว่า แนวทางการดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ (พีพีพี) มีความเสี่ยงเป็นภาระหนี้สาธารณะ
เนื่องจากเป็นโครงการที่มีภาระผูกพัน และการทำประกันรายได้ การให้โบนัสผลประกอบการ รวมถึงการทำบัญชีทรัพย์สินที่อาจเกิดปัญหาในระยะยาวได้ ดังนั้น แนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้นจึงควรมีการเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้มีการตรวจสอบการดำเนินงานอย่างเข้าถึงได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ มองว่า ความเสี่ยงต่อการก่อหนี้สาธารณะของรัฐบาล ยังเกิดจากการเข้าไปค้ำ ประกัน และเข้าไปให้ความช่วย เหลือรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหา อาทิ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) รวมถึงการใช้ธนาคารเฉพาะกิจ ของรัฐเป็นเครื่องมือในการดำ เนินโครงการต่างๆ จนผิดวัตถุประ สงค์ ยังถือเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด
"แนวทางการปฏิรูปโครง สร้างหนี้สาธารณะของประเทศ ไทย เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่าง รอบคอบ โดยแนวทางหนึ่งอาจ ให้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่มีความ เป็นอิสระด้านการคลัง (Indepen dent Fiscal Agency) ที่ไม่ต้องขึ้นตรงกับหน่วยงานใดเป็นพิเศษ โดยทำหน้าที่ในการประมาณการเศรษฐกิจมหภาค, รายรับ และราย จ่ายของภาครัฐบาล การวิเคราะห์นโยบายการคลัง และต้นทุนทางการคลัง รวมถึงการประเมินความเหมาะสมของนโยบายการคลังที่กำลังทำอยู่ว่ามีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มหนี้สาธารณะของประเทศหรือไม่"นางลัษมณกล่าว
นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการ ค้าไทย กล่าวว่า แนวทางการปฏิรูปโครงสร้างหนี้สาธารณะของไทยที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ การกำหนดกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ควรมีการกำหนดตัวเลขที่ชัดเจนไว้ในกฎหมาย ไม่ควรให้เป็นความเห็นของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากไม่มีความแน่นอน เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ตัวเลขกรอบความยั่งยืนทางการคลังมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นว่า ไม่มีความยั่งยืนที่แท้จริง
นอกจากนี้ เห็นว่าภาครัฐควรตระหนักถึงความเสี่ยงด้านภาระการคลังในระยะยาว โดยเฉพาะภาระในส่วนของรัฐ วิสาหกิจที่มีสถานะอ่อนแอ รวมถึงการใช้จ่ายในกองทุนนอกงบประมาณ อาทิ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กองทุนประกันสังคม เป็นต้น
น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีอุปสรรคหลายเรื่องเกี่ยวกับแนวทางการบริหารหนี้สาธารณะ อาทิ ข้อจำกัดเรื่องการนำเงินกู้ระยะยาวที่ต้องฝากไว้ในบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลัง และให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลนั้น จะไม่ได้ดอกเบี้ยจากการฝากเงิน ดังนั้น ควรมีการแก้กฎหมายเพื่อเปิดช่องให้รัฐบาลสามารถนำเงินกู้ระยะยาวดังกล่าวไปฝากกับธนาคารของรัฐ หรือธนาคารพาณิชย์ เพื่อลดต้นทุนด้านอัตราดอกเบี้ย รวมถึงข้อจำกัดด้านการชำระหนี้ ที่ควรมีการปรับเพิ่มและกำหนดเป็นงบประมาณชำระหนี้ที่ชัดเจน ประมาณ 3% ของงบประมาณรายจ่าย.