- Details
- Category: คลัง
- Published: Tuesday, 12 August 2014 23:07
- Hits: 2685
คลังหวั่นคสช.ถูกตำหนิถลุงเงินรัฐ ประชานิยมเหมือนนักการเมือง
แนวหน้า : คลังหวั่นคสช.ถูกตำหนิถลุงเงินรัฐ ประชานิยมเหมือนนักการเมือง แจง'ภาษีคนจน'ยังแค่งานวิจัย
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในส่วนการศึกษาภาษีคนจนนั้น คงต้องรอให้รัฐบาลชุดใหม่มาตัดสินใจว่าจะดำเนินการหรือไม่ ซึ่งทางกระทรวงการคลังศึกษาไว้ว่าจะดำเนินการได้อย่างไร แต่การจะนำมาใช้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องนโยบายที่จะตัดสินใจ ดังนั้นคงให้ความเห็นอะไรไม่ได้ในตอนนี้
นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า ภาษีคนจนที่กำลังถูกกล่าวถึงในขณะนี้เป็นหนึ่งในผลงานวิจัยข้าราชในกรมที่นำเสนอในงานสัมมนาวิชากากรสศค.เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งสศค.เสนอให้จ่ายภาษีให้คนจน 18 ล้านคนเป็นเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 8 หมื่นบาท โดยฐานนี้มาจากค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทคูณด้วยวันทำงาน 260 วัน
ทั้งนี้ การจะนำมาใช้หรือไม่คงขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบายว่าจะดำเนินการอย่างไร รวมถึงแหล่งเงินที่จะนำมาดูแลด้วยว่าจะนำมาจากไหน โดยข้อเสนองานวิจัยให้ตัดงบโครงการประชานิยม ที่ในปี 2557 ใช้เงินไปถึง 1.44 แสนล้านบาทออก หรืออาจจะเก็บภาษีที่สร้างความเป็นธรรมให้สังคม อย่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีผลได้จากทุน (Capital Gains Tax) ก็ได้
“หลังจากมีข่าวงานวิจัยออกไปทำให้ถูกมองว่ารัฐบาล คสช.นำเงินมาแจกให้กับคนไทยเหมือนกับรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ดังนั้นอยากจะอธิบายว่าตรงนี้เป็นแค่ผลการวิจัยที่นำเสนอในเวทีวิชาการเท่านั้น คสช.ยังไม่ได้มีการอนุมัติ หรือมีแนวคิดให้ดำเนินการในเรื่องนี้” นายวโรทัย กล่าว
ทั้งนี้ การที่รัฐบาลจะให้เงินกับประชาชนนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่มีมาตั้งแต่สมัยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช และแต่ละครั้งมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป โดยผู้วิจัยมองว่าการโอนเงินให้คนจนทำให้เงินถึงมือประชาชน และช่วยเหลือได้ดีกว่านโยบายประชานิยม
สำหรับ ในรายละเอียดที่จะให้สรรพากรมาช่วยดำเนินการนั้นยังไม่ได้มีการหารือกันแต่อย่างใด เนื่องจากในส่วนนี้เป็นเพียงแค่ผลการศึกษา หากจะต้องนำมาดำเนินการคงต้องหารือถึงความเป็นไปได้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ส่วนการให้ความช่วยเหลือนั้นสามารถทำได้เท่าที่งบประมาณเอื้ออำนวย ซึ่งอาจจะใช้แค่ 2-3 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยแค่ 8.4 ล้านคนที่เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายว่าจะดำเนินการอย่างไร
ขณะที่นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า ผลการศึกษามาตรการเงินโอนให้กับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งอาจจะใช้งบประมาณ ราวปีละ 5.6 หมื่นล้านบาท จะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) เพิ่มขึ้นอีก 0.2 % ต่อปี และหนุนให้การบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้น 0.4 % ต่อปี โดยจะเสนอมาตรการดังกล่าว ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) พิจารณาต่อไป ส่วนจะเห็นชอบหรือไม่ ขึ้นกับการตัดสินใจของคสช. และจะต้องนำข้อเสนอจากการสัมมนาวิชาการมาพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากมีหลายเรื่องที่ยังไม่ได้ข้อยุติ หากมีการดำเนินโครงการนี้ ก็จะต้องทำควบคู่กับการออกกฎหมายที่ ควบคุมการใช้จ่ายของรัฐบาล ไม่ให้ดำเนินโครงการประชานิยม ที่เป็นภาระกับงบประมาณ จำนวนมาก เหมือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการดังกล่าว ภายใต้ชื่อ โครงการเงินโอนแก้จน คนขยัน(Negative Income Tax) มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและ ลดการเหลื่อมล้ำ ด้วยการกระจายรายได้ในรูปของเงินโอน ให้กับผู้มีรายได้น้อย โดยโครงการดังกล่าวกำหนดรายละเอียดว่า จะโอนเงินให้กับผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อปี ในอัตรา 20% ของรายได้ แต่หากมีรายได้เกิน 3 หมื่นบาท แต่ไม่เกิน 8 หมื่นบาทต่อปี จะได้รับเงินโอนลดลงมาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ทำให้เงินโอนสูงสุดต่อราย จะอยู่ที่ 6 พันบาทต่อปี ส่วนผู้มีรายได้ ตั้งแต่ 8 หมื่นบาทต่อปี ขึ้นไป จะไม่ได้เงินโอนจากรัฐบาล ซึ่งคาดว่า จะมีประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว 18.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 27.5% ของจำนวนประชากรทั้งหมด