- Details
- Category: คลัง
- Published: Tuesday, 12 August 2014 23:03
- Hits: 3284
การจัดซื้อจัดจ้างสะดุด-เบิกจ่ายวืดเป้า ปั๊มงบลงทุนแค่ 2.28 แสนล.
แนวหน้า : ช่วงการเมืองวุ่น ระบบราชการสะดุด เบิกจ่ายงบลงทุนฝืดทำได้แค่ 2.28 แสนล้านบาทหลุดเป้า 20.68%กรมบัญชีกลางเร่งทะลวงงบค้างท่อ อัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ พร้อมปรับเงื่อนไข พัฒนาระบบ E-Marketing-E-Bidding เพิ่มประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้าง ด้านบีโอไอเผย7เดือนแรกปี57 เงินลงทุนวูบ 41%
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่าการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 วงเงิน 2.52 ล้านล้านบาทล่าสุดณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2557 เบิกจ่ายได้ 1.9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 75.62% ต่ำกว่าเป้า 2.38% โดยงบลงทุนวงเงิน 4.28 แสนล้านบาท เบิกจ่ายได้ 2.28 แสนล้านบาท หรือ 53.32% ต่ำกว่าเป้า 20.68% การเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมายจำนวนมาก เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงก่อนหน้า ส่งผลให้หน่วยงานต่างๆไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้
“กรมฯประเมินการเบิกจ่ายทั้งปีงบประมาณ 2557 ในส่วนของการเบิกจ่ายภาพรวมคาดว่าจะได้ 90%จากที่ตั้งเป้าไว้ 95% ส่วนงบลงทุนคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 65% จากที่ตั้งเป้าไว้ 82% หรือต่ำกว่าเป้า 17%” นายมนัส กล่าว
สำหรับ งบลงทุนปี 2557 ที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการให้งบลงทุนดังกล่าวมีผลต่อเนื่องไปปี 2558 ซึ่งได้ตั้งเกณฑ์เบื้องต้นว่า โครงการที่จะลงทุนในปีงบประมาณ 2558 ต้องพร้อมลงทุนได้ทันที มีการศึกษาการออกแบบโครงการ และผ่านการพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว
นอกจากนี้ กรมฯได้เร่งประสิทธิภาพการเบิกจ่ายทั้งการผ่อนปรนการจัดซื้อจัดจ้างในกรณีที่มีผู้ประมูลรายเดียวก็ให้หน่วยงานสามารถต่อรองราคาได้โดยที่ไม่ต้องเปิดประมูลใหม่ รวมถึงคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) และ คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.) ต้องประชุมบ่อยมากขึ้น เพื่อพิจารณาปัญหาต่างๆ ที่หน่วยงานสอบถามเข้ามา ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานต่างๆ เดินหน้าได้เร็วขึ้น
พร้อมกันนี้ ก็ได้พัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ระยะที่ 3 จะเปิดใช้ระบบการตลาดอิเล็กทรอนิกส์ หรือE-Marketing โดยจะให้เอกชน ที่ผลิตหรือขายสินค้าต่างๆ ประเภทครุภัณฑ์ อาทิ แฟ้ม กระดาษ ปากกา เครื่องใช้สำนักงานอื่นๆ มาเสนอราคาขายสินค้าผ่านระบบนี้ เพื่อให้หน่วยราชการเข้ามาดูและเปรียบเทียบราคาในสินค้าแต่ละประเภทได้ นอกจากนี้จะมีระบบให้หน่วยงานราชการมาซื้อสินค้าหรือ E-Bidding เข้ามาบอกความต้องการในสินค้า เพื่อให้บริษัทเอกชนเข้ามารับจ้างผลิตสินค้า ซึ่งจะเป็นสินค้าเฉพาะ อาทิ สินค้าที่ต้องมีตราสำนักงาน
“แต่ละปีสินค้าประเภทนี้ใช้งบประมาณถึง 3 แสนล้านบาท มีสัดส่วนถึง 80% ของการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการที่ผ่านมานั้นสินค้าที่ราชการซื้อแตกต่างกันมาก อาทิ กระดาษขาว 1 รีม บางแห่งซื้อได้ 70 บางแห่งซื้อ 100 บาท ทั้ง 2 ระบบนี้ช่วยตรวจสอบการซื้อขายของหน่วยงานราชการว่าแพงเกินจริงหรือไม่”นายมนัส กล่าว
ระบบดังกล่าวคาดว่าจะนำมาทดลองใช้ในเดือนสิงหาคมหลังจากนั้นเริ่มชี้แจงหน่วยงานราชการ เพื่อทำความเข้าใจและคาดว่าจะนำมาเริ่มใช้จริงในเดือนกันยายนนี้ส่วนบริษัทเอกชนที่จะมาอยู่ในระบบนี้ต้องตรวจสอบด้วยว่าจะสามารถจัดหาสินค้าได้จริงหรือไม่
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงสถิติการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2557 (มกราคม-กรกฎาคม 2557) ว่ามีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 770 โครงการ เงินลงทุนรวม 371,500 ล้านบาท โดยโครงการลดลง 30.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 1,105 โครงการ ส่วนมูลค่าเงินลงทุนลดลง 41.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีมูลค่าอยู่ที่ 633,600 ล้านบาท ซึ่งแม้ว่าจะมีอัตราลดลงแต่ก็เป็นการลดในอัตราที่น้อยลง
ภาพรวมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI : Foreign direct investment) ในช่วง 7 เดือน (มกราคม-กรกฎาคม 2557) ปรากฏว่า มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 477 โครงการ เงินลงทุน 260,888 ล้านบาท โครงการลดลง 32 %จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 702 โครงการ เช่นเดียวกับเงินลงทุนที่ลดลง 12% จากปีก่อนที่มีเงินลงทุน 297,899 ล้านบาท
นักลงทุนจากญี่ปุ่นเป็นกลุ่มที่เข้ามาลงทุนสูงสุด 220 โครงการเงินลงทุน 89,910 ล้านบาท โดยจำนวนโครงการลงทุนลดลง 41% มูลค่าเงินลงทุนลดลง 52% ขณะที่การลงทุนจากสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และเกาหลีใต้กลับเพิ่มขึ้นโดยสหรัฐอเมริกามี 16 โครงการ เงินลงทุน 36,705 ล้านบาท มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว เกาหลีใต้มี 27 โครงการ เงินลงทุนรวม 13,716 ล้านบาท เงินลงทุนเพิ่มกว่า 9 เท่าตัว สหภาพยุโรปมี 70 โครงการ เงินลงทุนรวม 67,000 ล้านบาท มูลค่าเงินลงทุนเพิ่ม 3 เท่าตัว
“อย่างไรก็ตามในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาพบว่ายอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังการเมืองคลี่คลาย โดยเฉพาะเดือนกรกฎาคมยื่นขอ 147 โครงการ สูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบรายเดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 2557สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุน ที่เคยชะลอการยื่นขอรับส่งเสริมไว้ก่อนหน้านี้ กลับมาเชื่อมั่นไทยอีกครั้ง”นายอุดมกล่าว