WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Gกฤษฎา จนะวจารณะ copyคลัง เผย 4 แนวทางการปฏิรูป สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ใช้เกณฑ์ Basel I มาคุมเช่นเดียวกับแบงก์พาณิชย์

      คลัง เผย 4 แนวทางการปฏิรูป สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ใช้เกณฑ์ Basel I มาคุมเช่นเดียวกับแบงก์พาณิชย์ คุมเข้มด้านธรรมาภิบาล ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโดดยเฉพาะ และพัฒนาระบบสารสนเทศให้ทันสมัย

      นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการปฏิรูประบบการบริหารจัดการและกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน (สหกรณ์ฯ)ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กระทรวงการคลังได้เสนอแนวทางการปฏิรูประบบ การบริหารจัดการและกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแนวทางดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 โดยประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่ 1) ให้มีการกำกับดูแลกิจการทางการเงินของสหกรณ์ฯ 2) จัดทำร่างระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการกำกับดูแลกิจการทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. .... 3) ปรับปรุงโครงสร้างระบบการกำกับดูแลสหกรณ์ฯ ให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัว และ  4) พัฒนาฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศของสหกรณ์ฯ ให้มีความทันสมัย สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

      1) ให้มีการกำกับดูแลกิจการทางการเงินของสหกรณ์ฯ ให้มีการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ฯ โดยนำหลักการการกำกับดูแลสถาบันการเงินของ Basel Committee on Banking Supervision (Basel I) มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของสหกรณ์ฯ โดยแบ่งสหกรณ์ฯ เป็น  2 ระดับ (Tiered Supervision) ตามขนาดสินทรัพย์ของสหกรณ์ฯ ได้แก่ 1) สหกรณ์ฯ ขนาดใหญ่ที่มีสินทรัพย์มากกว่า 5,000 ล้านบาท และ 2) สหกรณ์ฯ ขนาดเล็กที่มีขนาดสินทรัพย์น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท โดยหลักเกณฑ์การกำกับดูแลความมั่นคงทางการเงินสำหรับสหกรณ์ฯ ขนาดใหญ่จะมีความเข้มงวดกว่าสหกรณ์ฯ ขนาดเล็ก เนื่องจากสหกรณ์ฯ ขนาดใหญ่มีการทำธุรกรรมทางการเงินที่ซับซ้อนและมีความเชื่อมโยงกับสหกรณ์อื่น ๆ ในระบบสหกรณ์มากกว่าสหกรณ์ฯ ขนาดเล็ก ซึ่งหากกำกับดูแลไม่ดีพอ อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบสหกรณ์ได้

       2) จัดทำร่างระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการกำกับดูแลกิจการทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. .... ร่างระเบียบนายทะเบียนฯ ประกอบด้วย 4 หมวด ดังนี้ 1) ด้านธรรมาภิบาล เช่น ให้มีการถ่วงดุลอำนาจในสหกรณ์ฯ โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อ กำหนดให้สมาชิกสมทบของสหกรณ์ต้องเป็น บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของสมาชิกสหกรณ์ฯ นั้น กำหนดให้งบการเงินของสหกรณ์เป็นไปตามมาตรฐานบัญชีไทย เป็นต้น 2) ความเสี่ยง ด้านเครดิต เช่น ปรับปรุงแนวทางการจัดชั้นสินเชื่อให้สะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้อย่างแท้จริงและ มีการกันสำรองให้สอดคล้องกับคุณภาพสินเชื่อ กำหนดอัตราส่วนหนี้ต่อทุนให้ไม่เกิน 1.5 เท่า กำหนดให้ภาระหนี้ต่อรายได้ของสมาชิกต่อรายได้รวมให้ไม่เกินร้อยละ 70 เป็นต้น 3) ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง เช่น แก้ไขนิยามสินทรัพย์ ที่สหกรณ์ฯ สามารถนับเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องได้ และกำหนดให้สหกรณ์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องขั้นต่ำเท่ากับร้อยละ 6  เป็นต้น และ 4) ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ เช่น กำหนดแนวทางปฏิบัติด้านการควบคุมภายในที่ช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากการผิดพลาดจากการดำเนินการและการทุจริตของคณะกรรมการดำเนินการและผู้บริหารสหกรณ์ฯ เป็นต้น

        3) ปรับปรุงโครงสร้างระบบการกำกับดูแลสหกรณ์ฯ ให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัว ควรแยกโครงสร้างการกำกับดูแลความมั่นคงของสหกรณ์ฯ ออกจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ฯ เพื่อให้การกำกับดูแลมีความเป็นอิสระและคล่องตัว โดยการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับและตรวจสอบ  การประกอบกิจการทางการเงินของสหกรณ์ฯ ขึ้นเพื่อทำหน้าที่พัฒนาหลักเกณฑ์การกำกับและตรวจสอบการประกอบกิจการทางการเงินของสหกรณ์ฯ เป็นการเฉพาะ โดยให้แยกออกจากคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาระบบสหกรณ์เป็นหลัก และองค์ประกอบของคณะกรรมการดังกล่าวนั้น ควรมีผู้แทนจากองค์กรกำกับดูแลทางการเงินและมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการเงิน การธนาคาร โดยต้องไม่เป็นผู้บริหารสหกรณ์ฯ และผู้นำขบวนการสหกรณ์ฯ เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interests)

      4) พัฒนาฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศของสหกรณ์ฯ ให้มีความทันสมัยกำหนดให้สหกรณ์ฯ นำส่งข้อมูลที่จำเป็นต่อการกำกับและตรวจสอบกิจการของสหกรณ์ฯ เพื่อให้หน่วยงานที่กำกับดูแลสามารถติดตามฐานะและผลการดำเนินงานการประกอบกิจการทางการเงินของสหกรณ์ฯ ได้อย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนมีข้อมูลทางการเงินที่จะใช้ในการออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลความมั่นคงทางการเงิน ได้อย่างเหมาะสม

    นายกฤษฎาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนถือเป็นตัวกลางทางการเงินที่มีความสำคัญเป็นอันดับที่ 3 ในระบบสถาบันการเงิน รองจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้นประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท และมีสมาชิกรวมกันกว่า 3.7 ล้านคน ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงเล็งเห็นความสำคัญของการปฏิรูปการกำกับดูแลการประกอบกิจการทางการเงินของสหกรณ์ทั้งสองประเภท ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยคุ้มครองผลประโยชน์ และป้องกันผลกระทบต่อสมาชิกสหกรณ์และเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ รวมถึงเป็นการเพิ่มความมั่นใจของประชาชนต่อระบบสหกรณ์ และให้สหกรณ์ทั้งสองประเภทเป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกที่ยั่งยืนแก่สมาชิกและประชาชนต่อไป

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!