- Details
- Category: คลัง
- Published: Thursday, 07 August 2014 22:33
- Hits: 3058
คลังแจง'หนี้ครัวเรือน'ลด ลงมาอยู่ที่ 79%ของจีดีพีมติกนง.คงดอกเบี้ยไว้ 2%
ไทยโพสต์ * คลังชี้เศรษฐกิจฟื้น บริโภค-ลงทุนดีดกลับ ดันจีดีพีปีนี้โตได้แน่ 2% แจงหนี้ครัวเรือนลดลงมาอยู่ที่ 79.4% ของจีดีพี ด้าน กนง.มีมติเอกฉันท์ คงดอกเบี้ยไว้ที่ 2% แต่ยืนยัน ศก.ไตรมาส 2 ดีขึ้น
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 2% แน่นอน จากแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคและการใช้จ่ายของภาคประชาชนที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว การลงทุนจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าที่เริ่มฟื้นตัว เห็นได้ จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเริ่มปรับตัวดีขึ้น ทั้งสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน
"ขณะนี้การบริโภคภาคประชาชน การลงทุนต่างๆ เริ่มกลับมาดีขึ้น หลังการบริหารราช การของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งผลให้นักลงทุน และประชาชนมีความมั่นใจต่อสถานการณ์บ้านเมืองในประเทศมากขึ้น ทุกอย่างเลยเริ่มกลับมาฟื้นได้อย่างรวดเร็ว"นายรังสรรค์กล่าว
สำหรับ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนล่าสุดอยู่ที่ 79.4% ของจีดีพี จากสิ้นปี 2556 อยู่ที่ 82.3% ของจีดีพี และคาดว่าหนี้ครัวเรือนจะลดลงอย่างต่อเนื่องใน ช่วง 2-3 ปีนี้ โดยที่ผ่านมาหนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปี 2554 เกิดปัญหาน้ำท่วม ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องกู้เงินมาซ่อม แซมบ้าน และปี 2556 มีโครง การรถคันแรก ทำให้ประชาชนกู้เงินซื้อรถยนต์จำนวนมาก ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ต้นปี 2557 ชาวนายังไม่ได้รับเงินจำนำข้าว 9.2 หมื่นล้านบาท ชาวนาต้องไปกู้นอกระบบมาใช้จ่ายไปก่อน ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น แต่เมื่อมี คสช.เข้ามาบริหารประเทศ และมีการเร่งจ่ายเงินจำนำข้าวดังกล่าว ทำให้ชาวนานำเงินไปใช้หนี้ ภาพรวมของหนี้ครัวเรือนในระบบลดน้อยลง
นายไพบูลย์ กิตติศรีกัง วาน เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ที่ประชุม กนง.มีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม มองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2557 มีแนวโน้มปรับดีขึ้นจากการใช้จ่ายภาค เอกชน หลังสถานการณ์ทาง การเมืองคลี่คลาย การส่งออกฟื้นตัวอย่างช้าๆ การใช้จ่ายภาครัฐมีความล่าช้ากว่าที่คาดบ้าง
ขณะที่ช่วงครึ่งปีหลังของปีเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากอุปสงค์ในประเทศและแรงกระตุ้นทางการคลังที่จะทยอยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐ ด้านการส่งออกและการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวในระดับต่ำ ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังมีเสถียรภาพ
"ประเมินว่านโยบายการ เงินที่ผ่อนปรนในปัจจุบัน ยังจำ เป็นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยไม่กระทบต่อการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนความพยายามของภาครัฐในการปฏิรูปเพื่อยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย"นายไพบูลย์กล่าว
สำหรับประมาณการจีดีพีทั้งปีอยู่ที่ 1.5% นั้น เป็นการมองไปข้างหน้า เป็นผลมาจากครึ่งปีแรกที่เศรษฐกิจชะลอตัว แต่ในแง่ของ 6-12 เดือนข้างหน้า จากเดือน ก.ค.57-มิ.ย.58 ประเมินว่าตัวเลขจะขยายตัวได้ถึง 5% จากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือน มองว่าอยู่ในระดับที่ยังไม่น่าเป็นห่วง.
กนง.ตรึงดอกเบี้ย 2%หนุนศก.ฟื้นตัว การันตีอีก12เดือนจีดีพีโต 4-5%
แนวหน้า : กนง.ตรึงดอกเบี้ย 2%หนุนศก.ฟื้นตัว การันตีอีก 12 เดือนจีดีพีโต 4-5% ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังไม่เลวร้าย
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% หนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พร้อมชี้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไม่ได้เลวร้าย ไม่จำเป็นต้องออกมาตรการดูแลเพิ่ม
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)วันที่ 6 สิงหาคม 2557 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% ต่อปี เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวยังเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งมองว่าการที่เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวที่ 1.5% ไม่ใช่อัตราที่ต่ำจนเกินไปเป็นผลจากครึ่งปีแรกที่เศรษฐกิจไทยรับผลกระทบจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ แต่หากมอง 12 เดือนข้างหน้าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะโตประมาณ 4-5% เป็นระดับที่ค่อนข้างดี และกลับมาเติบโตในอัตราตามปกติ
ส่วนปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนยอมรับว่ามีอัตราเพิ่มสูงขึ้นจาก82.3 %เมื่อปลายปี 2556 เป็น 82.7% ของจีดีพีในไตรมาส 1/2557 เนื่องจากการขยายตัวของจีดีพีน้อยกว่าการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ แต่ขณะนี้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังการก่อหนี้เพิ่มขึ้น เห็นได้จากสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ซึ่งปัญหาหนี้ครัวเรือนไม่ได้เลวร้ายลง
ดังนั้น ธปท.จึงเห็นว่าไม่ต้องดำเนินมาตรการใดเป็นพิเศษ เพราะการที่ธนาคารพาณิชย์เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าพอใจ แต่ ธปท.ไม่ประมาทยังคงจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะในต่างประเทศปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ระดับ 85-100% ต่อจีดีพี อาจทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยส่วนการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจไทย และทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นแค่ไหนนั้น ธปท. ยังไม่ได้มีการประเมินเพราะยังเร็วเกินไป ยังต้องติดตามรายละเอียดต่อไป
“แม้ธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2% ต่อปี ก็ไม่มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย เนื่องจากหลายประเทศที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปก่อนหน้านี้มาจากปัจจัยของแต่ละประเทศ เช่น เงินเฟ้อสูง สินเชื่อขยายตัวแรง เป็นต้น และแม้จะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ถือว่ายังอยู่ในระดับผ่อนคลายเหมาะสมกับประเทศนั้นๆ”
นายไพบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเศรษฐกิจสหรัฐปรับตัวดีขึ้นชัดเจนตาม จากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนเศรษฐกิจกลุ่มยูโรและญี่ปุ่นมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า อีกทั้งยังจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนต่อไปอีก ด้านเศรษฐกิจจีนและเอเชียยังขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งมีแรงส่งสำคัญจากการส่งออกตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลัก นอกจากนี้ ธนาคารกลางบางประเทศในภูมิภาคเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจัยในประเทศ
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจปี2557ว่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 2% อย่างแน่นอน จากแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคและการใช้จ่ายของภาคประชาชนที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ การลงทุนจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าที่เริ่มฟื้นตัว เห็นได้จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเริ่มปรับตัวดีขึ้น ทั้งจากสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่นและจีน
“ขณะนี้ทุกอย่างเริ่มกลับมาแล้ว โดยเฉพาะการบริโภคภาคประชาชน การลงทุนต่างๆ เริ่มกลับมาดีขึ้น หลังการบริหารราชการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ส่งผลให้นักลงทุน ประชาชนมีความมั่นใจต่อสถานการณ์บ้านเมืองในประเทศค่อนข้างมาก ทุกอย่างเลยเริ่มกลับมาฟื้นได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับ คสช.มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งเร่งด่วน เช่น การคืนเงินในโครงการรับจำนำข้าวให้กับชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว วงเงิน 9.2 หมื่นล้านบาท และระยะสั้นในการเดินหน้าสนับสนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ ขณะที่ระยะกลางถึงยาวศึกษาการลงทุนต่างๆ สนับสนุนด้านการท่องเที่ยว โดยเตรียมยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นต้น เพื่อเร่งเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็งด้วย” นายรังสรรค์ กล่าว