- Details
- Category: คลัง
- Published: Monday, 30 January 2017 16:36
- Hits: 3271
สศค. เพิ่มเป้าจีดีพีปี 60โต 3.6% จากเดิม 3.4% แย้มมีลุ้นแตะ 4% หากส่งออก-ใช้จ่ายภาครัฐ-เอกชน-ท่องเที่ยว ดีกว่าคาด
สศค. เพิ่มเป้าจีดีพีปี 60โต 3.6% จากเดิม 3.4% รับการใช้จ่ายภาครัฐ - รายได้เกษตรฟื้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ แย้มลุ้นมีโอกาสโตแตะ 4% หากส่งออก-ใช้จ่ายภาครัฐ-เอกชน-ท่องเที่ยว เติบโตดีกว่าคาด ส่วนปี 59 มองจีดีพีโต 3.2% ฟากส่งออกปีนี้คาดขยายตัวได้ 2.5% นำเข้าขยายตัว 6.4% ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.8%- เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.8% ฟากค่าเงินบาทคาดอ่อนค่ามาที่ 35.75 บ./ดอลล์ จับนโยบาศก.ทรัมป์ -เฟดขึ้นดบ.และBrexit เป็นตัวแปรสำคัญ
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สศค.ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ของไทยในปี 2560 เป็น3.6% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.1-4.1% จากเดิมที่ 3.4% โดยจะมีแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2560 ที่ 190,000 ล้านบาท โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2560 เช่น โครงการรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าในเขตเมือง โครงการมอเตอร์เวย์ และโครงการพัฒนาท่าอากาศยาน นอกจากนี้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าคาดว่าจะขยายตัวดีต่อเนื่อง การส่งออกบริการขยายตัวดี
“เศรษฐกิจไทยในปี 2560 คาดว่ามีโอกาสที่จะขยายตัวได้ถึง 4% เพราะในปีนี้โครงการต่างๆของภาครัฐมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะจากงบประมาณเพิ่มเติมที่จะใส่ลงไป เงินลงทุนจากภาครัฐที่จะมีกว่า 1.02 ล้านล้านบาท ที่จะเบิกจ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 92% รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น จากการให้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า การท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี การส่งออกที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา”นายกฤษฎา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงที่ต้องจับตามอง คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐซึ่งจะส่งผลต่อเงินทุนไหลออก และส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน ความไม่แน่นอนจากการขอออกจากยูโร และหนี้สาธารณะของกรีซที่ยังอยู่ในระดับสูง
นายกฤษฎา กล่าวว่า ในปี 2560 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 35 ล้านคน จากประมาณการเดิมที่ 32.6 ล้านคน ด้านการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวได้ 3% จากเดิมที่ 3.2% การบริโภคภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.2% จากเดิมคาด 0.5% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวได้ 2.7% จากเดิมคาด 0% ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 9% จากเดิมที่ 8%
ขณะที่การส่งออกในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.5% จากเดิมคาดขยายตัว 0% ส่วนการนำเข้าคาดว่าจะขยายตัวได้ 6.4% จากเดิมคาดติดลบ 5% ส่วนดุลการค้าคาดว่าจะเกินดุล 30.2 พันล้านดอลลาร์ ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดเกินดุล 37.9 พันล้านดอลลาร์ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะอยู่ที่ 1.8% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ 0.7%
ทั้งนี้ สศค.ตั้งสมมติฐานประกอบด้วยอัตราแลกเปลี่ยนในปี 2560 คาดว่าจะอ่อนค่าต่อเนื่องมาอยู่ที่ 35.75 บาทต่อดอลลาร์ จากปี 2559 ที่อยู่ที่ 35.29 บาทต่อดอลลาร์ โดยต้องติดตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐที่จะส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของไทย คาดว่าจะปี 2560 คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.5% ต่อปี เนื่องจากมองว่า เศรษฐกิจไทยยังได้รับแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และยังไม่สัญญาณด้านความร้อนแรงของเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ สศค.คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบปี 2560 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 53.7 ดอลลาร์ต่อบาเรล เป็นผลจากความร่วมมือด้านการลดกำลังการผลิตของหลายประเทศ จะเป็นปัจจัยหลักในการปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาน้ำมันในครั้งนี้
นายกฤษฎา กล่าวว่า สำหรับในปี 2559 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.2% โดยไตรมาส 4/2559 ขยายตัวได้ 2.9% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกที่ขยายตัวดี การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง การลงทุนภาครัฐในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เป็นต้น
ด้านภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ว่า เศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าในเดือนธันวาคม 2559 ที่ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 6.2 ต่อปี ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นปัจจัยผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลที่ขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 29.7 ต่อปี สำหรับภาคการผลิตมีสัญญาณที่ดีเช่นกัน จากผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่กลับมาขยายตัวเป็นบวก ทำให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวสูงถึงร้อยละ 16.5 ต่อปี ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมั่นใจได้ว่าจะขยายตัวดีขึ้นสะท้อนจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอานิสงค์จากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล” โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
โดย มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนธันวาคม 2559 มีมูลค่า 18.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ ร้อยละ 6.2 ต่อปี และเป็นการขยายตัวได้ดีในทุกกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ สินค้าในหมวดอัญมณีและเครื่องประดับ ทองคำ เครื่องใช้ไฟฟ้า เกษตรกรรม สิ่งทอ แร่และเชื้อเพลิง เป็นสำคัญ และเป็นการส่งออกได้ดีในตลาดหลัก ได้แก่ จีน อาเซียน-9 อินโดจีน เวียดนาม สิงคโปร์ และสหภาพยุโรป ทำให้ในไตรมาส 4 ปี 2559 มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 3.8 ต่อปี
ส่วนมูลค่าการนำเข้าในเดือนธันวาคม 2559 ขยายตัวร้อยละ 10.3 ต่อปี ทำให้ ไตรมาส 4 ปี 2559 มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 6.5 ต่อปี ทั้งนี้ การส่งออกที่สูงกว่าการนำเข้าส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนธันวาคม 2559 ยังคงเกินดุลที่ 0.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการเกินดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไตรมาส 4 ปี 2559 ดุลการค้าเกินดุลที่ 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนธันวาคม 2559 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.1 และ 0.7 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2559 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ร้อยละ 0.7 และ 0.7 ต่อปี ตามลำดับ
ด้านการใช้จ่ายภาคเอกชนสะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนธันวาคม 2559 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกันที่ร้อยละ 0.1 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.6 ต่อปี ขณะที่ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 0.2 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกขยายตัวร้อยละ 1.0 ต่อไตรมาส
สำหรับ การใช้จ่ายของรัฐบาลโดยเฉพาะรายจ่ายประจำและลงทุนยังคงขยายตัวดี สะท้อนจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุนในเดือนธันวาคม 2559 ขยายตัวถึงร้อยละ 27.4 และ 29.7 ต่อปี ตามลำดับ และทำให้การเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 (ไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2560) ขยายตัวที่ร้อยละ 35.4 ต่อปี
ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ เดินทางเข้าประเทศไทยกลับมาขยายตัวเป็นบวกอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกขยายตัวร้อยละ 6.7 ต่อเดือน โดยเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางได้ดีจากกลุ่มยุโรป อาเซียน และอเมริกา เป็นหลัก
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันที่ระดับ 88.5 และเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 22 เดือน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย และการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8 ของแรงงานรวม และไตรมาสที่ 4 ปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของแรงงานรวม ขณะที่ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2559 อยู่ที่ระดับร้อยละ 42.4 ถือว่ายังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0
สำหรับ ทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 อยู่ที่ 171.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศเมื่อเทียบกับ หนี้ต่างประเทศระยะสั้น ณ เดือนพฤศจิกายน 2559 คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 3.3 เท่า สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงของเศรษฐกิจไทยในการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย