- Details
- Category: คลัง
- Published: Sunday, 20 November 2016 20:48
- Hits: 11083
คลังเตรียมออกสวัสดิการให้ผู้มีรายได้น้อยให้ทันช่วงปีใหม่นี้ ส่วนใหญ่อยู่ชานเมือง
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยความคืบหน้าการออกสวัสดิการสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเป็นผู้มีรายได้น้อยกว่า 8 ล้านคน ว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาสวัสดิการที่เหมาะสม ซึ่งจะออกให้ทันในช่วงปีใหม่นี้ เพื่อเป็นของขวัญให้ผู้มีรายได้น้อยและอาจจะมีมาตรการสำหรับประชาชนทั่วไป โดยสวัสดิการเบื้องต้น อาทิ รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี หรือฟรีค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เป็นสวัสดิการที่จะออกมาอยู่แล้ว และสวัสดิการที่ออกใหม่จะสามารถเข้าถึงความต้องการของผู้มีรายได้น้อยได้อย่างแท้จริงและคุ้มค่ากับงบประมาณที่ภาครัฐต้องจ่ายอุดหนุน
นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชานเมืองและมีอาชีพทางการเกษตรถึงร้อยละ 50 ของผู้ที่ลงทะเบียน หรือประมาณ 4 ล้านคนจากจำนวนผู้ลงทะเบียนทั้งหมดกว่า 8 ล้านคน ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยในพื้นที่ตัวเมืองมีสัดส่วนรองลงมา และสามารถเข้าถึงสวัสดิการได้ง่ายกว่าผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ชานเมือง อาทิ การใช้รถเมล์ฟรี เป็นต้น ซึ่งจากการคัดกรองเบื้องต้นพบผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้มีรายได้น้อยจำนวนหนึ่งแต่ไม่มาก
อินโฟเควสท์
ปูทางคนจนเข้าถึงแหล่งเงินกู้ สศค.ชง'คลัง'รื้อแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
แนวหน้า : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือสศค. กระทรวงการคลัง เสนอ 'อภิศักดิ์'ปรับปรุงแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินภาคประชาชน ก่อนนำมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ โดยเน้นการเข้าถึงแหล่งเงินทุน-ยกระดับรายได้ การพัฒนาการประกอบอาชีพให้กับชุมชน-เอสเอ็มอี
มีรายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เตรียมเสนอให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง พิจารณา ปรับปรุงแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินภาคประชาชน ปี 2560-2564 ให้เป็นกฎหมายบังคับใช้เพื่อเสริมสร้างความรู้ความสามารถทางการเงินขั้นพื้นฐานและระบบคุ้มครองด้านการเงิน รวมถึงประกันภัยให้กับประชาชน โดยมีเป้าหมายสำคัญให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้ทั้งหมด เนื่องจากปัจจุบันยังมีประชาชนบางส่วนยังไม่เข้าถึงการบริการทางการเงิน โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกล ทำให้ประชาชนเหล่านี้ไม่สามารถออมเงินและเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ถือเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำในเชิงโอกาสรายได้ เศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับ ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจะสอดคล้องกับแผนแม่บททางการคลังเพื่อสังคม ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยประชาชนในสังคมต้องสามารถอยู่ดี กินดี ไม่มีหนี้เสีย ซึ่งจะผลักดันให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกอาชีพ มีรายได้ มีที่อยู่อาศัย รู้จักพึ่งพาตนเอง และไม่นำพาตนเองไปสู่การมีภาระหนี้สินที่ไม่สามารถชำระคืนได้ พร้อมทั้งมีหลักประกันในยามชรา ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการ รวมทั้ง ยังต้องพัฒนาทักษะและความรู้ ทั้งการประกอบอาชีพและองค์ความรู้ทางการเงินขั้นพื้นฐาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
“แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินภาคประชาชน ปี 2560-2564จะมุ่งเน้นเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม ยกระดับรายได้และลดความผันผวนของรายได้ของประชาชน การพัฒนาสินค้าและบริการให้มีมาตรฐาน ควบคู่กับการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า เสริมสร้างแหล่งความรู้ในการเริ่มต้นหรือการพัฒนาการประกอบอาชีพให้กับประชาชน ชุมชน วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และเสริมสร้างสินค้าจากชุมชมที่มีศักยภาพให้สามารถพัฒนาตนเองไปสู่ตลาดที่มีขนาดใหญ่กว่าได้ รวมทั้งการพัฒนาและส่งเสริมการดำเนินกิจการเพื่อสังคม”
อย่างไรก็ตาม พบว่าสถานการณ์การกระจายรายได้ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ประชาชนบางส่วนยังไม่เข้าถึงการบริการทางการเงิน เกิดความกระจุกตัวของรายได้อยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้สูง ซึ่งเป็นสาเหตุให้สังคมไทยเกิดความเหลื่อมล้ำ ประชาชนจำนวนมากยังมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากจน ขาดที่อยู่อาศัย ขาดโอกาสและช่องทางในการประกอบอาชีพ เพราะหากโครงสร้างประชาชนเข้าสู่สังคมสูงวัย ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อประเทศ เพราะหากยังไม่เร่งแก้ไขจะส่งผลกระทบต่อศักยภาพของประชากร วิถีชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ จากข้อมูลในปี 2558 ที่ผ่านมา พบว่า สถานการณ์การเงินภาคประชาชน ทั้งศักยภาพของประชาชน พบว่ายังมีครัวเรือนที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินคิดเป็น 4.23% ของครัวเรือนทั้งหมดหรือประมาณ 858,818 ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนที่มีรายได้น้อยโดยในเบื้องต้น พบว่าผู้ที่เข้าถึงบริการทางการเงินยังได้วงเงินกู้ไม่เพียงพอ มีข้อจำกัดเรื่องระยะทางในการเดินทางไปทำธุรกรรมการเงินดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมสูงเกินไป รวมถึงขั้นตอนที่ยุ่งยาก และพบว่าหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 79.9% ต่อจีดีพี โดยส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนที่มีรายได้น้อย มีอาชีพเกษตรกรหรือเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจทางการเงินในระดับต่ำ