- Details
- Category: คลัง
- Published: Tuesday, 08 November 2016 22:39
- Hits: 11665
สรรพากร ร่วมมือ'อย.'ดึงร้านยาจดทะเบียนนิติบุคคล หวังเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี
แนวหน้า : นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับคณะผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่า กรมสรรพากรได้ร่วมกับ อย.พิจารณาและผลักดันแก้ไขกฎกระทรวงเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านการประกอบธุรกิจร้านขายยาทั่วประเทศกว่า 21,318 ราย จดทะเบียนจากบุคคลธรรมดาเป็นรูปแบบนิติบุคคล ที่จะได้รับสิทธิ์การผ่อนผันตามหลักเกณฑ์ (จีพีพี) รวมถึงการใช้รหัสยามาตรฐานรูปแบบเดียวกันทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมบัญชีกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพ สำนักงานประกันสังคม และ ผู้ประกอบการ ถือเป็นการช่วยลดต้นทุนและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจร้านขายยา
ทั้งนี้ การประสานร่วมกับ อย.ในครั้งนี้ จะช่วยแก้ปัญหาการโอนใบอนุญาตใบประกอบการร้านค้ายาจากบุคคลธรรมดามาเป็นนิติบุคคลได้ง่าย สอดคล้องกับนโยบายและมาตรการของรัฐบาล ที่สนับสนุนการเปลี่ยนจากผู้ประกอบการบุคคลธรรมดามาเป็นนิติบุคคลภายในปี'60 โดยกำหนดให้การโอนทรัพย์สินได้รับการยกเว้นภาษี และ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการยังนำมาหัก ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เพื่ออำนวยความสะดวก และลดภาระให้กับผู้ประกอบการ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธุรกิจร้านขายยามียอดขายนับแสนล้านบาทต่อปี หากเข้าสู่ระบบภาษีอย่างถูกต้องจะช่วยให้กรมฯ สามารถจัดเก็บรายได้อย่างมีประสิทธิภาพและนำส่งเงินเข้ารัฐเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเก็บภาษีทางอ้อมที่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) เพิ่มขึ้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเร่งขยายฐานภาษีตามกระทรวงการคลังและรัฐบาล ด้วยการดึงผู้ประกอบการเข้ามาจดทะเบียนนิติบุคล และยังช่วยลดภาระเสียภาษีให้กับผู้ประกอบการ เพราะปัจจุบันอัตราเสียภาษีบุคคลธรรมดาสูงสุดอยู่ที่ 35% แต่หากเสียภาษีนิติบุคคลจะเสียสูงสุดเพียง 20% ทำให้ลดภาระภาษีลงได้ถึง 40-45%
ขณะเดียวกัน ยอมรับว่าปัจจุบัน ร้านขายยาทั่วประเทศเป็นนิติบุคคลเพียง 10% เท่านั้น หากผู้ประกอบการร้านค้ายาที่เหลืออยู่เข้ามาจดทะเบียนนิติบุคคลทั้งหมด จะช่วยให้การจัดเก็บรายได้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และกรมมีนโยบายชัดเจนที่ให้ ความรู้เข้ามาเสียภาษีให้ถูกต้อง ไม่มีเป้าหมายการตรวจสอบ ภาษีย้อนหลัง โดยเฉพาะช่วงปี'59-61 รวมทั้ง ยังให้ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายที่ส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปนิติบุคคล และการปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีอากรและการจัดทำบัญชีชุดเดียวให้ ถูกต้อง เพื่อสามารถนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ
สำหรับมาตรการดังกล่าวถือเป็นการส่งเสริม ให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปแบบของนิติบุคคล ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจแสดงผลการประกอบการที่แท้จริง สร้างความโปร่งใส และเป็นการสร้างฐานภาษีที่ยั่งยืนในระยะยาว รวมถึงจะเป็นการช่วยบรรเทาภาระภาษีให้กับผู้ประกอบการนิติบุคคลรายใหม่และช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้วิธีการหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเท่าเทียมกันมากขึ้น