- Details
- Category: คลัง
- Published: Thursday, 06 October 2016 08:46
- Hits: 3192
สศค.วอนเจ้าหนี้นอกระบบเข้าจดทะเบียนพิโกไฟแนนซ์ หวังแก้หนี้นอกระบบได้ 1.23 แสนลบ.
สศค.วอนเจ้าหนี้นอกระบบเข้าจดทะเบียนพิโกไฟแนนซ์ หวังแก้หนี้นอกระบบได้ 1.23 แสนลบ. ยอมรับรับนาโนไฟแนนซ์เข้ม กดยอดปล่อยสินเชื่อได้เพียง 1,053 ลบ. จากลูกหนี้กว่า 4 หมื่นราย
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีมติตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (พิโกไฟแนนซ์) เพื่อให้เจ้าหนี้นอกระบบให้บริการสินเชื่อรายย่อยในระบบได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และประชาชนที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายฉุกเฉินสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้อย่างเป็นธรรม ซึ่งภายหลังจากที่ครม.อนุมัติเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการภายใน 1 เดือนก่อนลงราชกิจจานุเบกษา โดยเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถแก้หนี้นอกระบบได้ทั้งหมด 123,240 ล้านบาท
สำหรับ สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ กระทรวงการคลังจะเป็นผู้กำกับดูแลและตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจ โดยเงื่อนไขของผู้ขอจดทะเบียนดำเนินการพิโกไฟแนนซ์นั้น จะต้องมีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท และไม่สามารถระดมทุนจากประชาชนเพิ่มเติมได้ โดยผู้ประกอบธุรกิจจะเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมรวมกันแล้วเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่เกิน 36% ต่อปี
“เรามั่นใจว่า จะมีผู้ปล่อยกู้นอกระบบมาจดทะเบียนพิโกไฟแนนซ์อย่างแน่นอน เพราะว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกกฎหมาย และให้คิดดอกเบี้ยได้สูงถึง 36% ประกอบกับเราจะมีมาตรการเข้มงวดกับเจ้าหนี้นอกระบบด้วย โดยเราผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการได้ในจังหวัดของตัวเองเท่านั้น ซึ่งในแต่ละจังหวัดจะมีผู้ประกอบการกี่รายก็ได้'นายกฤษฎา กล่าว
นายกฤษฎา กล่าวว่า ขณะที่การมอบหมายให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ร่วมจัดตั้งหน่วยธุรกิจ หรือ Business Unit เพื่อดำเนินการรับผิดชอบด้านการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบโดยเฉพาะ รวมทั้งให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนด้วย ซึ่งประชาชนสามารถเข้ามาติดต่อกับสาขาของธนาคารได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยการดำเนินการนั้นจะให้ธนาคารทั้งสองร่วมประสานงานกับคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำกรุงเทพฯหรือประจำจังหวัด ซึ่งมีอธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน หรืออัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย เพื่อไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบให้เกิดมูลหนี้ที่เป็นธรรม
ส่วนความคืบหน้าการดำเนินการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ รวมวงเงินกู้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อรายนั้น ปัจจุบันมีบริษัทได้รับใบอนุญาตแล้ว 27 ราย และเปิดให้บริการแล้ว 19 ราย โดยปัจจุบันมียอดปล่อยสินเชื่อแล้ว 1,053 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 40,000 กว่าราย
“ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่าสินเชื่อขยายตัวเดือนละ 100 กว่าล้านบาท และเติบโตอย่างโตเนื่อง ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ปัจจุบันต่ำกว่า 1% ซึ่งมองว่าหนี้เสียที่อยู่ในระดับต่ำนั้นจะทำให้มีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนเป็นนาโนไฟแนนซ์และพิโกไฟแนนซ์เพิ่มมากขึ้นด้วย'นายกฤษฎา กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย