- Details
- Category: คลัง
- Published: Sunday, 18 September 2016 19:42
- Hits: 2153
คลังเร่งคลอดกฎหมายการเงินการคลังเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษีช่วยระบบเศรษฐกิจขยายตัว
แนวหน้า : แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่านายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการออกกฎหมาย หรือแก้ไขกฎหมายการเงินการคลังที่มีความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้ดำเนินการให้เสร็จภายใน 3 เดือน ตามคำสั่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่านมา
สำหรับ การกฎหมายการเงินการคลังที่สำคัญที่กระทรวงการคลังรับผิดชอบ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ศุลกากร ซึ่งจะมีการแก้ไขลดเงินรางวัลสินบนนำจับ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ส่งออกนำเข้ามากขึ้น ซึ่งทางกรมศุลกากรอยู่ระหว่างร่างละเอียดกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และจะส่ง ให้ ครม. เห็นชอบใน ไม่ช้านี้
นอกจากนี้ ยังมีร่าง พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต จะมีการเปลี่ยนฐานการเก็บภาษีจากราคาหน้าโรงงาน หรือ ราคาสำแดงนำเข้า มาเป็นราคาขายปลีก จะทำให้การเก็บภาษีมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งตอนนี้ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว
ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ. การเงินการคลังภาครัฐ จะทำให้การบริหารการเงินการคลังของประเทศมีความโปร่งใสมั่นคง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และ ร่างพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ เพิ่งได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. และจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณารายละเอียดต่อไป
แหล่งข่าว กล่าวว่า กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายอื่นๆ เช่น พ.ร.บ.เงินตรา พ.ร.บ.การประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พ.ร.บ.การประกอบวิชาชีพการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน และ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ
ทั้งนี้ การออกกฎหมาย และแก้ไขกฎหมายทั้งหมด นอกจากจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในอนาคตให้ขยายตัวได้มากขึ้น ยังช่วยให้การบริหารการเงินการคลังภาครัฐมีความโปร่งใสและการใช้เงินภาษีเกิดประโยชน์สูงสุดด้วย
สำหรับ การเบิกจ่ายงบประมาณ 2559 ช่วง 11 เดือนแรก โดยภาพรวมวงเงิน 2.72 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายได้ 2.36 ล้านล้านบาท หรือ 86.92% ต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย 0.15% แบ่งเป็นการเบิกจ่ายงบประจำวงเงิน 2.17 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายได้ 2.04 ล้านล้านบาท หรือ 94.09% สูงกว่าเป้า 4.55% ส่วนของการเบิกจ่ายงบลงทุนวงเงิน 5.44 แสนล้านบาท เบิกจ่ายได้ 3.17 แสนล้านบาท หรือ 58.29% ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ถึง 18.90% โดยการทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันงบลงทุนทำได้แล้ว 4.02 แสนล้านบาท หรือ 88.04% โดย รมว.คลัง ได้สั่งการให้ผู้บริหารกระทรวงการคลัง ดูแลการเบิกจ่ายงบลงทุนให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ในช่วงที่เหลือของปีต่อเนื่อง รวมถึงเร่งประชาสัมพันธ์ มาตรการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ที่จะหมดสิ้นปีนี้