WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Cกฤษฎา จนะวจารณะคลัง เดินหน้าพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 7 ชี้กลุ่มอาเซียนพร้อมลงสัตยาบัน ภายใน 20 ธ.ค.นี้

    นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2559ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินฉบับที่ 7 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน (Protocol to Implement the Seventh Package of Commitments on Financial Services under the ASEAN Framework Agreement on Services) รวมถึงตารางข้อผูกพันแนบท้ายพิธีสารฯ แล้ว สำหรับการดำเนินการในลำดับต่อไปนั้น กระทรวงการต่างประเทศจะจัดทำสัตยาบันสารของพิธีสารฯ และส่งมอบให้สำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อให้พันธกรณีที่ระบุในพิธีสารฯ รวมทั้งตารางข้อผูกพันฯ มีผลผูกพันประเทศไทยต่อไป

     สำหรับ พิธีสารฯ ฉบับที่ 7 นี้ มีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับพิธีสารฯ ฉบับก่อนหน้า กล่าวคือ เพื่อมุ่งขยายความร่วมมือด้านการค้าบริการด้านการเงินระหว่างประเทศสมาชิก โดยลดและ/หรือยกเลิกข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าบริการด้านการเงินระหว่างสมาชิกอาเซียนให้มากกว่าข้อผูกพันภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของอาเซียนที่จะร่วมกันพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้แข็งแกร่งและส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยการเจรจาในรอบนี้ ประเทศไทยได้เสนอข้อผูกพันเพิ่มขึ้นเฉพาะในสาขาประกันภัย เพื่อยกระดับข้อผูกพันของไทยในอาเซียนให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายไทยที่บังคับใช้ในปัจจุบัน กล่าวคือ ปรับปรุงการถือครองหุ้นของผู้มีสัญชาติอาเซียนและจำนวนกรรมการสัญชาติอาเซียนในบริษัทประกันชีวิตและประกันวินาศภัยที่จัดตั้งในประเทศไทย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายปัจจุบัน ได้แก่ พระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 และ พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ที่ประกาศใช้และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2558 ดังนั้น ข้อผูกพันตามพิธีสารฯ ฉบับที่ 7 ของไทย จึงไม่มีผลให้ต้องแก้ไขกฎหมายแต่อย่างใด

   การผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินของประเทศไทยตามที่ระบุไว้ในพิธีสาร ฉบับที่ 7 นี้ นอกจากจะเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินการร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว จะมีส่วนช่วยอย่างสำคัญให้เกิดการพัฒนาและส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ภาคการเงินของไทยในระยะยาว ด้วยการขยายโอกาสในการลงทุนของนักลงทุนสัญชาติอาเซียนในธุรกิจบริการด้านการเงินของไทย ขณะเดียวกัน ก็เปิดโอกาสให้เอกชนไทยสามารถขยายธุรกิจบริการด้านการเงินไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นได้สะดวกขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนธุรกิจไทยในสาขาอื่นๆ ที่ไปลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียน ตลอดจนส่งผลต่อการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในประชาคมอาเซียน

     อนึ่ง อาเซียนได้เจรจาเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน และบรรลุข้อผูกพันเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินมาแล้ว 6 รอบ สำหรับการเจรจาในรอบที่ 7 นี้ อาเซียนได้เริ่มกระบวนการเจรจามาตั้งแต่ปี 2557 จนได้ข้อยุติในปี 2559 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทั้ง 10 ประเทศ ได้ลงนามในพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 7 ครบถ้วนแล้ว เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 โดยแต่ละประเทศจะต้องดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สามารถลงนามให้สัตยาบันหรือยอมรับพิธีสารดังกล่าวภายใน 180 วัน หรือภายในวันที่ 20 ธันวาคม 2559 เพื่อให้พิธีสารฯ รวมทั้งตารางข้อผูกพันฯ มีผลผูกพันในทางปฏิบัติต่อไป

 สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย  

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!