- Details
- Category: คลัง
- Published: Saturday, 02 July 2016 21:59
- Hits: 2938
ไทยยอดออมแซงหน้าลงทุน ขุนคลังยันความมั่นคงทางการเงินไทยแกร่ง
บ้านเมือง : 'ออมสินโลก' เปิดกลยุทธ์ ออมสินไทย พร้อมก้าวสู่ดิจิตอล รับนโยบายรัฐบาลยุคเศรษฐกิจดิจิตอล ใช้ 'พร้อมเพย์-PromptPay''ขุนคลัง' ระบุ การออมไทยแซงหน้าการลงทุน จึงส่งผลความมั่นคงทางการเงินไทยแข็งแกร่ง รับคลื่นกระทบอังกฤษออกจากอียูได้
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในการเปิดประชุม "ออมสินโลก" ครั้งที่ 23 ประจำปี 2559 หรือ WSBI Annual Meetings 2016 ว่า เมื่อทั่วโลกกำลังก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตอล รัฐบาลจึงกำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาปัจจัยพื้นฐานหลักของประเทศไว้ทั้งด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรฐานต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิตอลรองรับ e-payment, e-trading and service, ecerticifate, e-health และ e-filing and e-reporting เพื่อให้บริการผ่านระบบดิจิตอลของภาครัฐและเอกชนได้อย่างมีประสิทธิสูงสุด โดยมีต้นทุนต่ำ การสร้างสังคมดิจิตอลที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการของรัฐผ่านเทคโนโลยีดิจิตอลอย่างทั่วถึงทุกที่ ทุกเวลา อย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งมีพลเมืองดิจิตอลที่ฉลาด รู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารและมีความรับผิดชอบต่อสังคม
รัฐบาลจึงเดินหน้าโครงการ PromptPay เพื่อปรับเปลี่ยนวิถีการโอนเงินของคนไทยให้ได้รับความสะดวกง่ายดายและรวดเร็ว "พร้อมเพย์-PromptPay" คือการผูกเลขบัตรประชาชนและเลขโทรศัพท์มือถือเข้ากับเลขบัญชีธนาคาร เพื่อทำธุรกรรมโอนเงินระหว่างบุคคลและกับรัฐบาลได้โดยตรง
ขณะนี้ จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนใช้ PromptPay กับธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ รวมทั้งธนาคารออมสิน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ นอกจากนี้ ในส่วนของการรับเงินจากภาครัฐ เช่น เงินสวัสดิการ ก็จะสามารถรับเงินโดยการโอนเข้าบัญชีที่ลงทะเบียนไว้โดยตรง และที่สำคัญสามารถเปลี่ยนแปลงยกเลิกการผูกบัญชีได้โดยง่าย
นายอภิศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์การออมในเมืองไทยไม่มีปัญหา เพราะยอดการออมเงินสูงกว่าการลงทุน อีกทั้งทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศสูงมาก แต่ระยะยาวเมื่อรัฐบาลต้องลงทุนผ่านโครงสร้างพื้นฐาน จึงต้องระดมทุนจากภาคเอกชนและประชาชน ยืนยันความมั่งคงทางการเงินของไทยรองรับอังกฤษออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ได้
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า การประชุมการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2016 ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน-1 กรกฎาคม 2559 เพื่อขยายความร่วมมือการดำเนินธุรกิจธนาคารรายย่อยออกไปสู่ชุมชนในชนบท และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการเพิ่มขอบข่ายของการทำธุรกรรมของ "แบงก์ดิจิตอล" เพื่อเปลี่ยนในยุคดิจิตอล หลังจากมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จึงสร้างหลักประกันและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนทุกชุมชนทุกแห่งของประเทศ ให้มีความเท่าเทียมและเพียงพอต่อการให้บริการทางเงิน ที่ประชุมยังย้ำถึงเป้าหมายของ The World Savings Banks Institute (WSBI) เพิ่มลูกค้าใหม่ให้ได้ 1,700 ล้านราย โดยเปิดบัญชีใหม่ 400 ล้านบัญชีภายในปี 2563 การเน้นบริการลูกค้ารายย่อยผ่านการพัฒนาความคิด ความรู้ เพื่อให้บริการออนไลน์ได้ตลอดเวลา
นายคริส เดอ นุส ผู้จัดการทั่วไป WSBI เบลเยียม ยอมรับว่า สถานการณ์การออมในช่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอาจส่งผลกระทบต่อการออมเงินของหลายประเทศและเป็นห่วงระบบการออมเงินเพื่อใช้เงินในยามเกษียณของโลกและของไทยในอีก 17 ปีข้างหน้า เพราะไทยก้าวเข้าสู่สังคมวัยชรา หากระบบการออมผ่านประกันสังคม กองทุนการออมระยะยาวไม่ดีพออาจได้รับผลกระทบต่อผู้เกษียณอายุทำงาน หลายประเทศจึงต้องเตรียมแผนการออมระยะยาวรองรับให้ดีพอ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การส่งออกของไทยปี 2559 จะได้รับผลกระทบจากกรณี Brexit ประมาณ 24,850 ล้านบาท การท่องเที่ยวของไทยจะได้รับผลกระทบประมาณ 10,000 ล้านบาทจากการหายไปของนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักรประมาณ 200,000 คน เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบประมาณร้อยละ 0.32 ของจีดีพี หรือคิดเป็นมูลค่า 44,850 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผลกระทบของ Brexit จะทำให้สินค้าเกษตรมีราคาดีขึ้น โดยคาดการณ์ว่าราคายางพาราจะทรงตัวที่ 55-60 บาทต่อกิโลกรัม ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยในประเทศจะปรับตัวสูงขึ้น คาดว่าเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะกลับมาแข็งแกร่งได้อีกครั้งในปี 2561 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า
แบงก์ชาติชี้จีดีพีโตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น-ปรับลดเป้าปี'60 เหลือแค่ 3.2%คลังมึนลงทุนภาคเอกชนนิ่ง
แนวหน้า : การลงทุนภาคเอกชนไม่ขยับ ฉุดจีดีพีขยายตัว ต่ำกว่าศักยภาพ คลังกุมขมับเข็นมาตรการ ออกมาเยอะ แต่ไม่กระเตื้อง รมว.คลังยอมรับ เม็ดเงินจากภาครัฐทำได้แต่ประคองเศรษฐกิจ ไม่ให้ซบเซา ด้านแบงก์ชาติ ชี้ปัจจัยลบจาก ต่างประเทศ ส่งผลภาคธุรกิจชะลอการตัดสินใจ ซ้ำส่งออกยังแย่ หั่นเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจไทย ปี 2560 เหลือ 3.2%
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า การจัดเก็บรายได้ของประเทศไม่น่าเป็นห่วง คาดว่า จะทำได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากพื้นฐานและเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับที่ดีมาก ซึ่งเศรษฐกิจไทยในขณะนี้รับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้อย่างไม่มีปัญหา เช่น การถอนตัว ออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร แต่อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในตอนนี้ยังขาดเรื่องการ ลงทุนภาคเอกชนที่ยังมีการลงทุนค่อนข้างน้อย หากภาคเอกชนกลับมาลงทุนเมื่อไร เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยก็จะขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ ทางรัฐบาลจะยังไม่มีมาตรการกระตุ้นการลงทุนออกมาเพิ่มเติมในขณะนี้ เพราะที่ผ่านมาถือว่ารัฐบาลได้ออกมาตรการสนับสนุนการลงทุนออกไปเป็นจำนวนมากแล้ว โดยเฉพาะมาตรการสำหรับผู้ประกอบการกลุ่มรายเล็ก หรือ เอสเอ็มอี เพราะถือว่ายังลำบากเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการ รายใหญ่ที่มีทุนมาก ซึ่งล่าสุดรัฐบาลจึงได้ออกมาตรการ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอีก 3 หมื่นล้านบาท เพื่อไปปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพิ่มประสิทธิภาพ
"รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนให้เอกชนเยอะแล้ว คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนต้องฟื้น ตอนนี้การลงทุนภาครัฐทำได้มากแต่ก็เป็นการ แค่พยุงเศรษฐกิจเท่านั้น หากมีการลงทุนภาคเอกชน เศรษฐกิจก็จะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าเอกชนไม่ลงทุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็จะเป็นไปอย่างช้าๆ" นายอภิศักดิ์ กล่าว
นายอภิศักดิ์ ยังกล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมธนาคารออมสินโลก (World Savings and Retail Banking Institute : WSBI) ภายใต้หัวข้อ "การธนาคารในศตวรรษที่ 21" ว่า ในปัจจุบันสัดส่วนการออมของประเทศไทยยังคงมีอยู่สูง เมื่อเทียบกับการลงทุน สะท้อนจากเงินสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เพิ่มขึ้น ต่อเนื่อง และการออมปัจจุบันเปลี่ยนไปไม่ใช่มีแค่การฝากเงินเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเงินลงทุนในหุ้น และ ในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในระยะยาวที่ไทยมีโครงการลงทุน ขนาดใหญ่จำนวนมาก แต่ยังมีเงินลงทุนเพียงพอ
"ธปท.ได้ออกมาส่งสัญญาณว่า เริ่มเห็นพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น หรือ การโยกเงินฝากไปหาผลตอบแทนประเภทอื่น ซึ่งมองว่าการโยกเงินไปหาผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝาก ทั้งการลงทุนในตลาดหุ้น อสังหาริมทรัพย์ และทองคำ ล้วนเป็นฐานการออมของประเทศ จึงไม่น่าเป็นห่วง" นายอภิศักดิ์ กล่าว
ด้านนายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ 3.1% โดยยังไม่ได้รวมกรณี ผลกระทบจากการที่อังกฤษมีประชามติออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยง ที่จะทำให้จีดีพีโตต่ำกว่าประมาณการคือปัจจัย ต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า กว่าที่คาด โดยเฉพาะเอเชีย
ส่วนผลกระทบ Brexit เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ระยะข้างหน้า โดยผลกระทบที่ตามมามีทั้งด้านการค้า และการลงทุน ซึ่งต้องใช้เวลาติดตามดูความคืบหน้าการเจรจาระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรป (อียู) โดยคณะทำงานของ ธปท.จะทำการศึกษาผลกระทบหลายสมมุติฐาน เช่น กรณีอังกฤษกับอียูตกลงกันได้เร็วผลกระทบจะน้อย แต่หากการเจรจายืดเยื้อจะมีผลกระทบมากขึ้น เพราะขณะนี้การเจรจาของอังกฤษกับอียูยังไม่ได้เริ่ม ทำให้นักลงทุนยังชะลอการลงทุน เพราะเกรงว่ายังมีความเสี่ยงรออยู่ข้างหน้า ทั้งนี้ ผลกระทบ Brexit หารือในการประชุม กนง.ครั้งต่อไปวันที่ 3 สิงหาคม 2559
สำหรับ แนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลังมีทิศทางดีขึ้น แต่ยังต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะขยายตัวได้ 3.5% เพราะการลงทุนภาคเอกชนยังต่ำ และความเสี่ยงจากการส่งออกที่มีปัญหาโครงสร้างการผลิตและปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลง ส่งผลให้การส่งออกติดลบเพิ่มจาก 2% เป็น 2.5% และส่งผลทำให้มีการปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2560 เหลือโต 3.2% จากเดิมคาดโต 3.3%
ด้านนางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเดือนพฤษภาคมยังขยายตัวได้ดี ต่อเนื่องจากเดือนก่อน เนื่องจากการท่องเที่ยวขยายตัว ได้ดี จากนักท่องเที่ยวรัสเซียและเยอรมนี จากการขยายเส้นทางการบินของโลว์คอสต์แอร์ไลน์ การบริโภคในประเทศกระเตื้องขึ้น ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่กลับมาขยายตัว 7.8% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ พบสัญญาณกำลังซื้อ ของภาคครัวเรือนและภาคเกษตรค่อยๆ ฟื้นตัว โดยรายได้เกษตรกรปรับตัวดีขึ้น 6.7% ผลจากราคายางพาราปรับดีขึ้น ทำให้กำลังซื้อคนภาคใต้สูงขึ้นและปัจจัยเสี่ยงจากภัยแล้งเริ่มคลี่คลายลงคาดว่าผลผลิตจะกลับมาดีขึ้นระยะข้างหน้าและกำลังซื้อภาคการเกษตรจะกลับมาเป็นปกติ ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยที่จะเข้ามาช่วยชดเชยปัจจัยลบจากต่างประเทศและการส่งออก
บรรยายใต้ภาพ
ออมสินโลก : นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดการประชุมสถาบันธนาคารออมสินโลก (World Savings and Retail Banking Institute หรือ WSBI) ภายใต้หัวข้อ "การธนาคารในศตวรรษที่ 21" พร้อมต้อนรับ นายเฮนริช ฮาซิส (Mr.Heinrich Haasis) ประธานสถาบันธนาคารออมสินโลก ผู้นำการประชุม โดยมี นายประภาส คงเอียด กรรมการธนาคารออมสิน นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ต้อนรับในฐานะเจ้าภาพการประชุมในครั้งนี้ ณ โรงแรมอวานี ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้