- Details
- Category: คลัง
- Published: Monday, 21 July 2014 21:53
- Hits: 3037
คลังเดินแผน 2 ชง‘คสช.’สัปดาห์นี้จ่อเด้งบอร์ดออมสินยกชุด
แนวหน้า : ปลัดคลังนัดประชุมผู้บริหาร เสนอแนวทางปฏิรูประบบภาษีให้คสช.ตัดสินใจ พร้อมเสนอปรับเปลี่ยนบอร์ดแบงก์ออมสิน หลังจากทั้งตัวประธาน กับกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลชุดก่อนไม่ยอมลาออก ส่วนธอส.น่าจะได้ข้อสรุปตัวกรรมการใหม่
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 21 ก.ค.2557 นี้ จะมีการประชุมผู้บริหารกระทรวงการคลังประจำเดือน รวมถึงจะหารือร่วมกับผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ โดยเรื่องที่สำคัญคือการปฏิรูปภาษี ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับนโยบาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ว่าปฏิรูปอย่างไร และจะนำเรื่องใดมาดำเนินการก่อน ในส่วนของกระทรวงการคลังคงไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดของการปฏิรูปภาษีได้ เพราะถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เกรงว่าจะเกิดผลกระทบในวงกว้าง แต่ยอมรับว่าภาษีที่จะปรับเปลี่ยนนั้นมีทั้งปรับลด และปรับเพิ่ม ซึ่งมีทั้งภาษีที่เกี่ยวข้องกับประชาชน และภาษีที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ ดังนั้นคงต้องให้คสช.เป็นผู้ชี้แจง เพื่อให้เกิดความชัดเจน และบางเรื่องต้องรอเสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เพื่อแก้กฎหมาย
ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมกำลังพิจารณาภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่คสช.เพิ่งประกาศคงที่อีก 1 ปี จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2558 ดังนั้นคงต้องเร่งศึกษาว่าในวันที่ 1 ตุลาคม 2558 นั้น VAT ควรจะอยู่ที่เท่าใด จะเป็น 10% ตามเพดานที่กำหนดไว้หรือไม่ หรือควรจะปรับเปลี่ยนอย่างไร ซึ่งต้องพิจารณาหลายด้าน
แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นอกจาก ปลัดกระทรวงการคลัง จะประชุมเรื่องภาษีแล้ว คาดว่าในสัปดาห์นี้จะเสนอให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. หัวหน้าคสช. ปลดคณะกรรมการ (บอร์ด)ธนาคารออมสินทั้งชุด เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เข้าไปบริหารธนาคาร พร้อมกันนี้เร่งสรรหา ผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนใหม่ เพื่อเข้ามาบริหารงานธนาคารในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ
ปัจจุบันประธานบอร์ดธนาคารออมสิน คือ นางชูจิรา กองแก้ว โดยที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง ได้พยายามให้โอกาสคณะกรรมการ โดยเฉพาะประธานกรรมการธนาคารออมสิน ลาออกจากตำแหน่งด้วยตัวเอง เพื่อเปิดทางให้กระทรวงคลัง แต่งตั้งกรรมการชุดใหม่เข้าไปบริหารงานธนาคาร แต่ปรากฏว่า ผ่านมาเป็นเวลาเกือบ 2 เดือน ประธานกรรมการและกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลชุดก่อน ก็ยังไม่ยอมลาออก ทำให้กระทรวงการคลังต้องเสนอให้ คสช. ใช้อำนาจปลดคณะกรรมการชุดเก่า และแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ซึ่งกระทรวงการคลังจะได้เสนอรายชื่อกรรมการชุดใหม่ให้ คสช. ประกาศในสัปดาห์นี้เช่นกัน
สำหรับ กรรมการชุดใหม่จะเป็นคนจากกระทรวงการคลัง และบุคคลภายนอกที่เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลัง เข้ามาเป็นกรรมการ โดยประธานเป็นคนจากกระทรวงการคลัง ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าใครจะเหมาะสมที่สุด ประกอบด้วย นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร ซึ่งก่อนหน้านี้เพิ่งได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. ให้นั่งเป็นประธานสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
นอกจากนี้ ยังมีนายอำนวย ปรีมนวงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจกระทรวงการคลัง ซึ่งปัจจุบันนั่งเป็นประธานกรรมการบริหารของธนาคารออมสิน อาจจะได้รับการพิจารณาให้นั่งเป็นประธานธนาคารออมสินคนใหม่ เพราะจะสามารถเดินหน้านโยบายของธนาคารต่อได้ทันที
ในส่วนของคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ขณะนี้ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งกับกระทรวงการคลังทั้งหมดแล้ว โดยคลังก็จะเสนอรายชื่อคณะกรรมการชุดใหม่ให้ คสช. พิจารณาแต่งตั้งภายในสัปดาห์นี้เช่นกัน ส่วนการแต่งตั้งคณะกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ตอนนี้การพิจารณาคนที่จะมานั่งเป็นประธานยังไม่ได้ข้อสรุป
ชง คสช.ลดเบี้ยบอร์ด รสก.สรรพากรจ่อประชุมสำนักงานบัญชีทั่วประเทศ 30 ก.ค.
บ้านเมือง : แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ขอความร่วมมือไปยังรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง ทั้งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์ เพื่อพิจารณาปรับลดเงินเบี้ยเลี้ยงพิเศษของคณะกรรมการ (บอร์ด) ของรัฐวิสาหกิจ ภายหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้ขอความร่วมมือไปยังรัฐวิสาหกิจ และขอให้บรรดาเหล่ารัฐวิสาหกิจส่งข้อมูลเรื่องดังกล่าว มาที่ สคร.เพื่อที่จะได้รายงานต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พบว่ามีรัฐวิสาหกิจในกลุ่มสถาบันการเงิน หรือธนาคารเฉพาะกิจเท่านั้นที่จัดส่งรายละเอียดถึงมือ สคร. ขณะที่รัฐวิสาหกิจอื่นๆ เช่น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ส่งรายละเอียดเพียงเล็กน้อย ทำให้ยากต่อการรวบรวมข้อมูลและเสนอต่อ คสช.
ทั้งนี้ กฎหมายปัจจุบันกำหนดให้รัฐวิสาหกิจสามารถจ่ายเบี้ยประชุมให้แก่ประธานบอร์ด และบอร์ดได้ในวงเงินที่จำกัดตามที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนด เช่น บอร์ดจะได้รับเงินจากเบี้ยประชุมเดือนละ 10,000 บาท หรือมีการประชุมเกินกว่า 1 ครั้งต่อเดือน กรณีที่บอร์ดถูกแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการจะสามารถจ่ายเพิ่มได้อีก 10,000 บาทแต่เมื่อรวมแล้ว ไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งถือเป็นอัตราผลตอบแทนที่ต่ำมาก และไม่คุ้มค่าต่อการมานั่งเป็นบอร์ดในรัฐวิสาหกิจเมื่อเปรียบเทียบกับบทบาทและความรับผิดชอบของบอร์ดที่ต้องตัดสินใจและการมีส่วนในความรับผิดชอบหากองค์กรเกิดความเสียหาย ทำให้บอร์ดรัฐวิสาหกิจบางแห่งอาศัย พ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรของตนเอง เพิ่มเงินเบี้ยเลี้ยงพิเศษและสวัสดิการอื่นๆ นอกเหนือไปจากเบี้ยประชุมที่ได้รับประจำทุกเดือนอยู่แล้ว
สำหรับ กลุ่มธนาคารเฉพาะกิจที่รายงานการจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงพิเศษ เช่น ธนาคารออมสิน ประธานบอร์ด มีอำนาจในการเบิกเบี้ยเลี้ยงพิเศษได้ไม่จำกัดวงเงิน แต่ไม่เกินเท่าที่จ่ายจริง ขณะที่บอร์ด มีอำนาจในการเบิกจ่ายเงินจากบัตรเดบิตของธนาคารออมสิน วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท แต่หากใช้จ่ายไม่ครบให้ทบยอดเป็นเดือนถัดไป แต่หากเบิกด้วยวิธีการกดเงินสด ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ประธานบอร์ด เบิกเงินเบี้ยเลี้ยงพิเศษได้ 375,000 บาทต่อปี และกรรมการ 300,000 บาท แต่มีสิทธิ์ในการใช้รถยนต์มูลค่าไม่เกิน 6.5 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ประธานบอร์ดได้รับเบี้ยเลี้ยงพิเศษปีละ 500,000 บาท ขณะที่ประธานบริหารได้รับปีละ 500,000 บาท และกรรมการปีละ 200,000 บาท เป็นต้น
ทั้งนี้ บริษัท ทีโอที ได้รายงานว่า มีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเพียงเดือนละ 3,100 บาทต่อเดือนเท่านั้น และในรายงานบันทึกการเบิกจ่าย มีค่าสโมสรราชพฤกษ์ (สนามกอล์ฟราชพฤกษ์) และมีการจ่ายเงินจัดเลี้ยงเป็นค่าอาหารในครั้งเดียวเป็นเงินสูงถึง 800,000 บาทด้วย ซึ่งประเด็นนี้ ทาง สคร.จะเสนอให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป นอกจากนี้ ยังมีรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เช่น บริษัท ปตท. ธนาคารกรุงไทย และบริษัทลูกที่อยู่ในเครือของรัฐวิสาหกิจ ส่งข้อมูลให้แก่ สคร.น้อยมากๆ เช่น ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า เบี้ยประชุม และเบี้ยเลี้ยงพิเศษ ได้รับตามความเห็นชอบของที่ประชุมผู้ถือหุ้น รวมถึงเงินรางวัลพิเศษ หรือโบนัส เป็นต้น ทำให้ สคร.ไม่สามารถเข้าไปท้วงติงใดๆ ได้ โดยทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลและรายงานต่อ คสช.เพื่อรับทราบต่อไป
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในวันที่ 30 ก.ค.นี้ กรมสรรพากรจะจัดประชุมร่วมกับสำนักงานตรวจสอบบัญชีทั่วประเทศ ที่มีลูกค้าเกินกว่า 30 ราย ประมาณกว่าหมื่นสำนักงาน ในวันที่ 30 ก.ค.นี้ เพื่อให้สำนักงานตรวจสอบบัญชีได้รับทราบถึงนโยบายของกรมฯ และมีความเข้าใจที่ตรงกันทั่วประเทศ รวมไปถึงให้กำชับและช่วยดูแลลูกค้าของสำนักงานฯ ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดและถูกเบี้ยปรับ
ทั้งนี้ กรมสรรพากรต้องเฝ้าติดตามการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลกลางปี ในเดือน ส.ค.นี้ โดยจะพยายามให้ผู้ประกอบการยื่นประมาณการกำไรสุทธิ ตั้งแต่ต้นปีถึงปลายปี ตามความเป็นจริงให้มากที่สุด โดยไม่อยากให้ผู้ประกอบการเหมาเอาว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจชะลอตัวและกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในช่วง 6 เดือนแรกของปีนั้น จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในช่วง 6 เดือนหลังของปีด้วย
ในขณะนี้รายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าประมาณการอยู่บ้าง แต่ก็ยังถือว่าพอรับได้ เพราะกรมฯ ก็เข้าใจธรรมชาติของธุรกิจ ส่วนเดือน ส.ค. กรมฯ ก็พยายามไม่ให้ขาด พยายามจะขึงให้ได้ และอยากให้ผู้ประกอบการมองว่าภาพที่เหลือครึ่งหลังเป็นอย่างไรจริงๆ เพราะแนวโน้มนั้นดีขึ้นแล้ว
"ต้องติดตามใกล้ชิดในเดือน ส.ค.นี้ เพราะเป็นการยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลกลางปี คงพยายามให้ผู้ประกอบการเอา 6 เดือนแรกที่บอกว่าสถานการณ์เลวร้าย ไปคูณสอง เพราะเดือนที่ 7 ถึงเดือนที่ 12 สถานการณ์ต่างๆ เริ่มดีแล้ว เศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว ให้มองภาพเป็นอย่างนี้ก่อน ถ้ามองสิ่งเลวร้าย แล้วไปเจอดีตอนหลังขึ้นมา จะทำให้เกิดการประมาณการที่ขาดไปมาก เพราะกฎหมายเขียนว่า ให้ยื่นประมาณการกำไรสุทธิ ตั้งแต่ต้นปีถึงปลายปี อย่างน้อยไม่ให้ต่ำกว่าปีก่อนที่เคยยื่น ดังนั้น หากยื่นและเสียภาษีขาดไปเกินกว่า 25% ก็จะถูกปรับ 20% ของภาษีที่ชำระขาด ซึ่งเราก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว จึงพยายามสื่อสารไปยังสรรพากรทั่วประเทศ ให้ไปแจ้งผู้ประกอบการว่าจะต้องมองภาพจริงๆ ในอนาคตด้วย" นายประสงค์ กล่าว