- Details
- Category: คลัง
- Published: Monday, 21 July 2014 21:52
- Hits: 2976
สรรพากร สั่งบริษัทบัญชีดูภาษีลูกค้าให้เป๊ะ ป้องกันการถูกปรับย้อนหลัง 20%
แนวหน้า : นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า วันที่ 30 กรกฎาคมนี้ กรมจะเชิญบริษัทจัดทำบัญชีเอกชนกว่า 1 หมื่นราย มาประชุมกับสรรพากรทั่วประเทศ เพื่อกำชับให้ดูแลลูกค้าไม่ให้คำนวณภาษีผิดพลาด ป้องกันไม่ให้บริษัทเอกชนถูกปรับ รวมถึงต้องการให้บริษัทรับทำบัญชีดังกล่าวดำเนินงานให้ถูกต้อง
เบื้องต้นได้สั่งให้เจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่กำชับไปยังบริษัทเอกชนให้คำนวณภาษีรอบครึ่งปีหลังให้ดี เพราะหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มาบริหารประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัว จะทำให้รายได้เอกชนในครึ่งปีหลังดีขึ้น หากเอกชนใช้ฐานครึ่งปีแรกมาคำนวณและไม่เผื่อรายได้ที่จะดีขึ้นในครึ่งปีหลัง อาจต้องเสียค่าปรับเพราะคำนวณภาษีต่ำกว่าที่ต้องเสียจริง 25% ของทั้งปี ซึ่งต้องถูกปรับ 20% ของภาษีที่ยังขาดอยู่
“เดิมทีคาดว่า เศรษฐกิจจะโตแค่ 1.5% แต่ครึ่งปีหลังประเมินว่าจะโต 3.5% โตเท่าตัวจากครึ่งปีแรก เมื่อเศรษฐกิจโตรายได้เอกชนต้องเพิ่มกำไรก็ต้องมากขึ้น จึงอยากให้เอกชนมองภาพการเสียภาษีในช่วงที่เหลือของปีไว้ด้วย ไม่ใช่ครึ่งปีแรกได้กำไรแค่ 100 บาท คิดว่าทั้งปีต้องได้แค่ 200 บาท แต่เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นกำไรกลับเพิ่ม 350 บาท ดังนั้นถ้า นำแค่ 200 บาทมาคำนวณภาษี เท่ากับเสียภาษีขาดไว้กว่า 25% ก็ต้องเสียค่าปรับ แต่หากจ่ายภาษีไว้มากกว่าภาษีที่ต้องเสียจริง สรรพากรจะจ่ายดอกเบี้ยส่วนที่เกินให้ด้วย” นายประสงค์ กล่าว
ช่วง 9 เดือนแรกปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556-มิถุนายน 2557) กรมจัดเก็บภาษีนิติบุคคลได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 37,880 ล้านบาท ทำให้ต้องดูแลตรงนี้ให้ดี เนื่องจากภาษีนิติบุคคลจัดเก็บปีละประมาณ 6 แสนล้านบาท สาเหตุที่การจัดเก็บภาษีของกรมลดลงในหลายตัวทั้งนิติบุคคล บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) ส่งผลให้ปีงบ 2557 กรมจะจัดเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 1 แสนล้านบาท จากเป้าหมาย 1.89 ล้านล้านบาท
ปีงบประมาณ 2558 กรมได้รับเป้าหมายให้จัดเก็บภาษี 1.96 ล้านล้านบาท คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น อีกทั้งได้เชื่อมโยงระบบภาษีของ 3 กรมภาษี ทั้งสรรพสามิต สรรพากร ศุลกากร เพื่อให้แต่ละกรมดึงข้อมูลการเสียภาษีของแต่ละแห่งมาดูเพื่อป้องกันการเลี่ยงภาษี ซึ่งจะทำให้จัดเก็บรายได้ดีขึ้น
การปรับโครงสร้างภาษีของกรมสรรพากรเน้นในเรื่องการกระจายรายได้ สร้างความเป็นธรรมซึ่งในส่วนของภาษีบุคคลธรรมดาที่จะปรับโครงสร้างใหม่ ทั้งสิทธิลดหย่อนต่างๆ ในส่วนบุคคลปีละ 6 หมื่นบาทที่เคยมีแนวคิดจะเป็น 1.2 แสนบาท นั้นต้องศึกษาอีกครั้ง เพราะการปรับขั้นภาษีจาก 5 เป็น 7 ขั้นที่มีผลในปีภาษี 2556 ทำให้รายได้หายไป 4 หมื่นล้านบาทจากที่คาดว่าจะหายไปแค่ 2 หมื่นล้านบาท จึงต้องศึกษาอีกครั้งว่าควรจะปรับอย่างไรซึ่งจะให้ได้ข้อสรุปในปีนี้ ก่อนเสนอรัฐบาลชุดใหม่พิจารณาต่อไป