- Details
- Category: คลัง
- Published: Sunday, 20 July 2014 23:02
- Hits: 3201
รีดรายได้เข้ารัฐหลุดเป้าสรรพากรยืดแวต 7% ออกไป 1 ปีกระตุ้น ศก.
บ้านเมือง : นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 ว่า รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 1,552,633 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 110,242 ล้านบาท หรือ 6.6% ทั้งนี้เนื่องจากภาษีที่จัดเก็บจากฐานการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าและอากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งเป็นผลจากการหดตัวของมูลค่าการนำเข้าที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงส่งผลให้ผลประกอบการของภาคเอกชนไม่ขยายตัวเท่าที่ประมาณการไว้ ทำให้การยื่นชำระภาษีจากผลประกอบการรอบปีบัญชี 2556 ต่ำกว่าประมาณการ
นอกจากนั้น ภาษีที่จัดเก็บจากฐานการอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะภาษีสรรพสามิตรถยนต์และภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากอุปสงค์รถยนต์ในประเทศหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และการขยายระยะเวลาปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซล อย่างไรก็ดี การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าประมาณการ
ทั้งนี้ ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนมิถุนายน 2557 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 192,781 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 16,771 ล้านบาท หรือ 8.0% ซึ่งสูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 5.3% โดย 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 19,632 ล้านบาท หรือ 8.3% สำหรับภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 11,260 ล้านบาท หรือ 16.4% เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัว ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 6,526 ล้านบาท หรือ 7.7% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงส่งผลให้ผลประกอบการของภาคเอกชนไม่ขยายตัวเท่าที่ประมาณการไว้ สำหรับภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 5,665 ล้านบาท หรือ 47.5% เนื่องจากอุปสงค์รถยนต์ในประเทศหดตัวมากกว่าที่ประมาณการไว้
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบให้มีการต่ออายุภาษีมูลค่าเพิ่มที่อัตรา 7% ต่อไปจนถึง 30 ก.ย.58 ทั้งนี้ แวต เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 35 โดยกำหนดอัตราการจัดเก็บเอาไว้ที่ 10% โดยแบ่งออกเป็นแวต 9% และภาษีเพื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1% รวมเป็น 10% แต่เมื่อประกาศใช้จริง ก็จัดเก็บอยู่ที่ 7% โดยแบ่งเป็น แวต 6.3% และภาษีเพื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 0.7% และก็บังคับใช้อัตราดังกล่าวมาเป็นระยะเวลานานตั้งแต่ปี 35 โดยกำหนดเอาไว้ว่าเมื่อถึงกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมจะปรับขึ้นเป็น 10% แต่ก็มีการขยายเวลาการใช้บังคับมาเรื่อยๆ ซึ่งหากในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ไม่ได้มีการดำเนินการต่ออายุ ก็จะทำให้แวตขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 10%
"แต่ทาง คสช. ได้หารือกับกรมสรรพากร และเห็นว่าเศรษฐกิจที่ผ่านมาในช่วงปี 57 อัตราการขยายตัวอยู่ที่ 1.5% ซึ่งก็เป็นห่วงว่าจีดีพีระดับนี้ ชาวบ้านประชาชน ผู้บริโภค หากไม่ทำอะไร ไม่ขยายเวลา ปล่อยให้เป็นไปตามกำหนด 10% จะทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้บริการสินค้าอุปโภคบริโภคจะได้รับผลกระทบและเดือดร้อน ดังนั้น จึงเห็นควรให้มีการขยายระยะเวลาปรับลดแวตออกไป" นายประสงค์ กล่าว
โดยที่กำหนดต่ออายุการปรับลดแวตอยู่ที่ 7% เป็นระยะเวลา 1 ปี จนถึงวันที่ 30 ก.ย.58 เนื่องจาก เมื่อครบระยะเวลาที่กำหนด เห็นว่าแนวโน้มตอนนี้ดีขึ้น เพราะดูจากแวต ยอดจัดเก็บล่าสุดจนถึงวันที่ 18 ก.ค.57 ดีขึ้น 1% กว่าๆ จากประมาณการณ์ จากที่ผ่านมายอดจัดเก็บจะพอดีกับประมาณการณ์ ซึ่งก็ชี้ให้เห็นว่าระดับความเชื่อมั่นสูงขึ้น การบริโภคดีขึ้น เชื่อว่า ถ้าคง 7% ต่อไป ก็จะช่วยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ และถือเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย และเมื่อถึงเวลาที่ครบกำหนด ก็ต้องพิจารณาภาพรวมอีกครั้งว่า เศรษฐกิจเป็นอย่างไร การบริโภคเป็นอย่างไร ความเชื่อมั่นเป็นการอย่างไร จีดีพีเป็นอย่างไร
นายประสงค์ กล่าวต่อถึงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลว่า กรมสรรพากรได้เสนอ คสช. ให้พิจารณาขยายอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 7 ขั้น ออกไปอีก 1 ปี เนื่องจาก ที่ผ่านมาเมื่อมีการปรับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็น 7 ขั้นนั้น จะเห็นว่าคนชั้นกลางจนถึงชั้นล่างได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก โดยรายได้ของ กรมฯ หายไปประมาณ 4 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งขยายระยะเวลาจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่อัตรา 20% ต่อไปอีก 1 ปีเช่นเดียวกัน
นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวเปิดการสัมมนา "เงินหยวนผงาดเพิ่มโอกาสธุรกิจไทย" โดยระบุว่า หลังจากที่ทางการจีนสนับสนุนให้มีการใช้เงินหยวนในการค้าและการลงทุนมากขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้พยายามทำความเข้าใจและให้ข้อมูลกับภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนให้มีการใช้เงินหยวนเป็นเงินสกุลท้องถิ่นในการทำการค้า ในระยะแรกอาจจะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่เนื่องด้วยเศรษฐกิจจีนที่มีขนาดใหญ่ และขนาดการค้าการลงทุนกับไทยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมั่นใจว่าการใช้เงินหยวนจะได้รับความนิยมมากขึ้นในอนาคต ซึ่งจะช่วยสนับสนุนและขยายโอกาสการค้าของทั้ง 2 ประเทศมากขึ้น
9 เดือนงบ 57 รายได้ต่ำเป้า 1.1 แสนล.บริโภคหดฉุด'แวต-เงินได้บุคคล'วูบ
ไทยโพสต์ : พระรามหก * สศค.โอด 9 เดือนแรกปีงบ 57 รัฐบาลจัดเก็บรายได้ต่ำเป้า 1.1 แสนล้าน บาท หลัง 3 กรมภาษีผลงานแผ่ว รีดภาษีหลุดเป้า เหตุเศรษฐ กิจซึม ฉุดบริโภคชะลอ การส่งออกหดตัว
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจ การคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลช่วง 9 เดือนแรกปีงบประมาณ 2557 (ต.ค.56-มิ.ย.57) ว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1.55 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.1 แสนล้านบาท หรือ 6.6% เนื่องจากภาษีที่จัดเก็บจากฐานการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าและอากรขาเข้า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมถึงภาษีที่จัดเก็บจากฐานการอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะภาษีสรรพสามิตรถยนต์และภาษีน้ำมัน จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย
"การจัดเก็บรายได้รัฐบาล ยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และการขยายระยะเวลาลดอัตราภาษีน้ำมันเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้รัฐ บาลต่ำกว่าเป้าหมาย อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มเศรษฐกิจของ ประเทศที่มีสัญญาณดีขึ้น ประ กอบกับการดำเนินมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีของกรมจัดเก็บภาษี คาดว่าจะเป็นผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ" นายกฤษฎา กล่าว
ทั้งนี้ 3 กรมภาษีจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.62 แสนล้านบาท โดยกรมสรรพา กรจัดเก็บรายได้รวมอยู่ที่ 1.25 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 9.35 หมื่นล้านบาท หรือ 7% ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 2.2% ภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้า หมาย ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ต่ำกว่าเป้าหมาย 4.26 หมื่นล้านบาท หรือ 7.4%, ภาษีเงินได้นิติบุคคล จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 3.78 หมื่นล้านบาท หรือ 9.5%, ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมาย 8.8 พันล้านบาท
กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้รวม 2.96 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 5.04 หมื่นล้านบาท หรือ 14.5% ภาษีที่จัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมาย ได้แก่ ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ต่ำกว่าเป้าหมาย 2.87 หมื่นล้านบาท หรือ 28%, ภาษีน้ำมัน ต่ำกว่าเป้าหมาย 2.23 หมื่นล้านบาท หรือ 32.6%, ภาษียาสูบ จัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมาย 6.82 พันล้านบาท หรือ 12.7%
กรมศุลกากรจัดเก็บรายได้รวม 7.94 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1.84 หมื่นล้านบาท หรือ 18.8% เนื่องจากอากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.82 หมื่นล้านบาท หรือ 19% ตามมูลค่าการนำเข้าที่หดตัว.