- Details
- Category: คลัง
- Published: Friday, 20 May 2016 17:31
- Hits: 3514
คลัง ยันยังไม่ตัดเบี้ยคนชราชี้เป็นแค่แนวคิด ประเมินเงินเฟ้อในอนาคตจะพุ่งต้องดูแลเฉพาะคนที่ความจำเป็นเท่านั้น
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ครม. ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ทางรัฐบาลจะงดให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท แก่ผู้ที่มีรายได้มากกว่า 9,000 บาทต่อเดือนว่า สวัสดิการผู้มีรายได้น้อยควรสนับสนุนให้ตรงจุด อาทิ รถเมล์ฟรีควรจะฟรีสำหรับผู้ที่เดือดร้อน เช่นเดียวกับผู้สูงอายุที่บางคนไม่มีความจำเป็นแต่ไปรับเบี้ยผู้สูงอายุเพื่อรักษาสิทธิจึงต้องการคัดให้เหลือเพียงผู้ที่ต้องการจำเป็น เพราะอนาคตเงินเฟ้ออาจจะมากขึ้นและจะสามารถดูแลคนที่มีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินได้จริงๆ ยืนยันขณะนี้ยังไม่มีการตัดเบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท แต่มองว่าควรให้คนที่ตรงวัตถุประสงค์มากกว่า
ส่วนการจำแนกผู้สูงอายุจะแบ่งเป็นขั้นบันได แต่เป็นขั้นบันไดที่จะใช้เป็นเกณฑ์ในการดูแล แต่แนวทางดังกล่าวยังต้องมีการสำรวจ ยืนยันไม่มีการตัดสวัสดิการจนส่งผลให้ผู้ได้รับสิทธิเดือดร้อน ส่วนการขอไม่รับเบี้ยของผู้สูงอายุที่มีรายได้จำนวนมากนั้น เป็นเรื่องของรายละเอียด ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวคิด ยังไม่มีการเริ่มแต่อย่างใด
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
คลัง ดึงแบงก์รัฐทำสินเชื่อบ้านผู้สูงวัย,
คลังดึงออมสิน-ธอส.ทำโครงการสินเชื่อบ้านผู้สูงอายุ ให้นำบ้านมากู้เงินแล้วรับเงินไปใช้ยามชราเป็นรายเดือนจนกว่าจะเสียชีวิต คาดสรุปโมเดลชัดเจนภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังมอบหมายให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) ไปหารือกันในที่ประชุมสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงการดำเนินโครงการสินเชื่อบ้านสำหรับ ผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage)
โครงการดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสังคมชรา ที่กำลังเกิดขึ้นในไทย กระทรวงการคลังจึงต้องการให้แบงก์รัฐ ธนาคารพาณิชย์ หรือแม้แต่บริษัทประกันภัย ออกผลิตภัณฑ์มาแข่งขันกัน กระทรวงการคลังจะพยายามสรุปให้ได้ภายในปีนี้ เพราะเรื่องนี้มีแนวคิดกันมานาน แต่ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในไทย
เครดิตภาพ:scbme.com
สินเชื่อบ้านสำหรับผู้สูงอายุ คือให้ผู้สูงอายุเกินกว่า 60 ปี นำบ้านมาขอสินเชื่อธนาคาร โดยธนาคารจะให้เงินกับผู้กู้เป็นรายเดือนจนกว่าจะเสียชีวิต รวมถึงผู้กู้เงินยังอาศัยในบ้าน ดังกล่าวได้จนกว่าเสียชีวิต หากเสียชีวิตแล้วมูลค่าสินทรัพย์มากกว่าเงินกู้ ส่วนต่างจะตกเป็นของทายาท และเปิดโอกาสให้ทายาทมาไถ่ถอนบ้านคืนได้ แต่หากไม่มีทายาททรัพย์สินจะตกเป็นของธนาคารที่นำไปขายทอดตลาด
สิ่งสำคัญสำหรับโครงการนี้คือการประเมินมูลค่าบ้านต้องสอดคล้องกับเงินกู้ที่จะจ่ายให้ผู้กู้ เพราะอาจต้องบวกเพิ่มมูลค่าบ้านในช่วง 10-20 ปีข้างหน้า เพื่อให้ผู้กู้ได้รับเงินมากขึ้นกว่ามูลค่าบ้านในปัจจุบัน
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส.รับนโยบายมาจากกระทรวงการคลังแล้ว โครงการที่ ธอส. จะดำเนินการเพื่อให้สอดรับกับสังคม ผู้สูงอายุ รวม 3 ส่วนคือ 1.Reverse Mortgage 2.หารือกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ เพื่อพัฒนาบ้านสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งในโครงการก่อสร้างหนึ่งอาจจะมีบ้านผู้สูงอายุอยู่ประมาณ 10-20% ของจำนวนที่อยู่อาศัย และ 3.หารือกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยของภาครัฐ เอื้อต่อผู้สูงอายุมากขึ้น
โดยบ้านผู้สูงอายุต้องไม่มีพื้นที่ต่างระดับ บันไดไม่สูงมาก และวัสดุที่นำมาสร้างบ้านต้องปลอดภัย กลุ่มอายุที่จะซื้อบ้านดังกล่าวคืออายุ 50 ปีขึ้นไป ธอส.สามารถให้กู้ได้ถึงอายุ 70
ดังนั้น ยังมีเวลาผ่อนชำระ 20 ปี หรือ ลูกหลานอาจจะซื้อให้พ่อแม่ ปู่ยา ตายาย อยู่ก็ได้ เท่าที่ ธอส.หารือกับผู้ประกอบการ 2-3 ราย ผู้ประกอบการเห็นด้วยที่จะมาร่วมพัฒนาโครงการลักษณะนี้ ธอส. อาจจะมีให้ดอกเบี้ยพิเศษสำหรับผู้ประกอบการและประชาชน กู้เงินในโครงการนี้
"ในการประชุมแบงก์รัฐเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้หารือเบื้องต้นไปแล้ว มีธนาคารที่รับผิดชอบคือ ธอส.และออมสิน โดยในส่วน ธอส.คาดว่าภายในเดือนมิ.ย. จะเสนอแนวทางทั้งหมดไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อให้กระทรวงการคลังรวบรวมจัดทำเป็นแพ็คเกจเสนอไปยังครม." นายฉัตรชัย กล่าว
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ออมสินพร้อมดำเนินการ Reverse Mortgage กำลังคิดโมเดลที่จะปล่อยสินเชื่อว่าจะเป็นรูปแบบใด โดยในเบื้องต้นอาจให้กู้ 80% ของมูลค่าบ้านในปัจจุบัน จะแตกต่าง จากแนวคิดที่เคยมองกันไว้ว่าต้องประเมินมูลค่าบ้านในอนาคตไปด้วย เพราะออมสินจะกำหนดให้การกู้เงินในลักษณะนี้ต้องมีทายาทเพื่อมารับส่วนต่างของบ้านกับเงินกู้ในอนาคต โดยจะเน้นในกลุ่มที่เป็นลูกค้าเดิมของธนาคารที่ผ่อนชำระดีมาตลอด ส่วนลูกค้าต่างธนาคารต้องมีข้อแม้คือบ้านต้องปลอดจำนอง
"สินเชื่อในลักษณะนี้แทนที่ออมสินจะรับเงินจากผู้กู้เป็นรายเดือน เปลี่ยนเป็นจ่ายเงินให้ผู้กู้เป็นรายเดือนจนกว่าผู้กู้จะเสียชีวิต ขณะนี้กำลังทำโมเดลสินเชื่อเพื่อออกเป็นผลิตภัณฑ์เงินกู้ใหม่ คาดว่าในอีก 2 เดือนข้างหน้าจะเสนอไปยังกระทรวงการคลังให้พิจารณาได้" นายชาติชายกล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ