- Details
- Category: คลัง
- Published: Thursday, 28 April 2016 09:02
- Hits: 6511
คลัง เผยครึ่งแรกของปีงบ 59 รัฐฯ จัดเก็บรายได้ 1.07 ล้านลบ. สูงกว่าประมาณการ 6.4% รับอานิสงส์รายได้จากใบประมูล 4G
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม 2558 – มีนาคม 2559) จัดเก็บได้ 1,077,034 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 64,478 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.4 และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10.2
โดยสาเหตุหลักมาจากการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้ คลื่นความถี่ย่าน 900 และ 1800 MHz (4G) จำนวน 48,242 ล้านบาท นอกจากนี้ การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าประมาณการ 11,130 ล้านบาท และการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเบียร์ และภาษีสรรพสามิตรถยนต์สูงกว่าประมาณการ 6,492 6,051 และ 2,988 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.1 14.1 และ 6.4 ตามลำดับ
“การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมายังเป็นไปตามที่กระทรวงการคลังได้ประเมินไว้ โดยในช่วงที่เหลือกระทรวงการคลังจะดูแลให้การจัดเก็บรายได้เป็นไปตามกรอบที่ได้วางไว้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของฐานะการคลังของประเทศ สำหรับสนับสนุนการใช้จ่ายของภาครัฐในการดำเนินมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ” นายกฤษฎา กล่าว
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิเดือนมีนาคม 2559 และในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม 2558 – มีนาคม 2559)
ในเดือนมีนาคม 2559 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 183,758 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 25,385 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.0 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 15.1) ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,077,034 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 64,478 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10.2)
1. เดือนมีนาคม 2559
รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 183,758 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 25,385 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.0 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 15.1) เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าประมาณการ 19,344 ล้านบาท หรือร้อยละ 389.1 สาเหตุสำคัญมาจากการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz (4G) การนำส่งเงินจากการยกเลิกโครงการสวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยของข้าราชการในส่วนที่เหลือคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดิน และการนำส่งเงินเหลือจ่ายประจำปี 2558 ของ กสทช.
นอกจากนี้ การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ สูงกว่าประมาณการ 9,886 ล้านบาท หรือร้อยละ 91.9 อย่างไรก็ดี ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 6,458 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.8 เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ
2. ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม 2558– มีนาคม 2559)
รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,077,034 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 64,478 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10.2) เนื่องจากมีรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้ คลื่นความถี่ย่าน 900 และ 1800 MHz (4G) เป็นสำคัญ
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 723,200 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 34,116 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.8) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 25,056 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.6 (ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว) โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 19,583 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.7 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.9) เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 5,473 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.4 (แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.9)
ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 12,605 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.0) เป็นผลจากภาษีหัก ณ ที่จ่ายภาคเอกชน (ภ.ง.ด. 53) และภาษีจากประมาณการกำไรสุทธิ (ภ.ง.ด. 51) จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 6,492 ล้านบาท
หรือร้อยละ 4.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.2) โดยภาษีหัก ณ ที่จ่ายภาคเอกชนจากเงินเดือน (ภ.ง.ด. 1) และอสังหาริมทรัพย์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ เนื่องจากการขยายตัวของฐานเงินเดือนที่สูงกว่าประมาณการและผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา
2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 258,356 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 8,932 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 15.5) โดยภาษีเบียร์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 6,051 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10.4) และภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 2,988 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 21.2) เนื่องจากการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนที่จะมีการปรับโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไปอย่างไรก็ดี ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,031 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 53.5)
2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 58,061 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,239 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.7 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.6) เนื่องจากได้รับผลกระทบของการปรับโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและมูลค่าการนำเข้าที่ยังคงหดตัว โดยมูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ และเงินบาทในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 หดตัวร้อยละ 13.4 และร้อยละ 4.6 ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานบกและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ เครื่องจักรและเครื่องใช้กล ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และพลาสติก
2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 63,924 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 11,130 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.1 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.0) ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ธนาคารออมสิน การประปานครหลวง และกองทุนรวมวายุภักษ์
2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 155,621 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 73,503 ล้านบาท หรือร้อยละ 89.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 65.0) เนื่องจากการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 และ 1800 MHz (4G) จำนวนประมาณ 48,242 ล้านบาท การนำส่งเงินสภาพคล่องส่วนเกินของกองทุนหมุนเวียน และเงินจากการยกเลิกโครงการสวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยของข้าราชการคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดิน จำนวน 10,634 และ 8,665 ล้านบาท ตามลำดับ สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 3,960 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 102 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 9.6)
2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 136,217 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 7,898 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.5 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 103,896 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 15,504 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.0 และการคืนภาษีอื่น ๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 32,321 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 7,606 ล้านบาท หรือร้อยละ 30.8
2.7 อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 5,150 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 500 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.8
2.8 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 7,309 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,342 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.5
2.9 เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 7,473 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 487 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.1
2.10 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ จำนวน 3 งวด เป็นเงิน 25,979 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,959 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.2
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
คลัง เผยผลจัดเก็บรายได้รัฐครึ่งแรกปีงบ 59 ที่ 1.07 ล้านลบ.สูงกว่าเป้า 6.4%
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2559 (ต.ค.58 – มี.ค.59) จัดเก็บได้ 1,077,034 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 64,478 ล้านบาท หรือ 6.4% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 10.2%
โดยสาเหตุหลักมาจากการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้ คลื่นความถี่ย่าน 900 และ 1800 MHz (4G) จำนวน 48,242 ล้านบาท นอกจากนี้ การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าประมาณการ 11,130 ล้านบาท และการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สูงกว่าประมาณการ 6,492 ล้านบาท หรือ 4.1% เก็บภาษีเบียร์ สูงกว่าประมาณการ 6,051 ล้านบาท หรือ 14.1% และเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ สูงกว่าประมาณการ 2,988 ล้านบาท หรือ 6.4%
"การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมายังเป็นไปตามที่กระทรวงการคลังได้ประเมินไว้ โดยในช่วงที่เหลือกระทรวงการคลังจะดูแลให้การจัดเก็บรายได้เป็นไปตามกรอบที่ได้วางไว้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของฐานะการคลังของประเทศ สำหรับสนับสนุนการใช้จ่ายของภาครัฐในการดำเนินมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ" นายกฤษฎา กล่าว
ส่วนการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ 183,758 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 25,385 ล้านบาท หรือ 16.0% (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 15.1%) เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าประมาณการ 19,344 ล้านบาท หรือ 389.1% สาเหตุสำคัญมาจากการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz (4G) การนำส่งเงินจากการยกเลิกโครงการสวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยของข้าราชการในส่วนที่เหลือคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดิน และการนำส่งเงินเหลือจ่ายประจำปี 2558 ของ กสทช.
นอกจากนี้ การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ สูงกว่าประมาณการ 9,886 ล้านบาท หรือ 91.9% อย่างไรก็ดี ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 6,458 ล้านบาท หรือ 9.8% เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ
อินโฟเควสท์