- Details
- Category: คลัง
- Published: Tuesday, 15 July 2014 19:41
- Hits: 3085
สบน.ปรับแผนการก่อหนี้ของรัฐบาลออกพันธบัตรระยะยาว 50 ปีรองรับโปรเจกท์ลงทุนพื้นฐาน
แนวหน้า : สบน.วางแผนก่อหนี้ระยะยาวมากขึ้น เน้นออกพันธบัตรอายุ 30 ปี และ 50 ปี เพิ่มความคล่องตัวในการบริหารงาน เตรียมหารือนักลงทุนเช็คความต้องการ ออกโปรดักส์ให้เหมาะสมกับตลาด คาดชงครม.เพื่อประกาศใช้ให้ทันปีงบประมาณ’58
น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า แผนการก่อหนี้ของรัฐบาลในปี 2558 ทางสบน.จะพิจารณาปรับแผนให้เป็นการก่อหนี้ระยะยาวมากขึ้น โดยการออกพันธบัตรรัฐบาล อายุ 30 ปี และ 50 ปี จากเดิมที่มีสัดส่วนประมาณ 30% ก็จะเพิ่มเป็น 40% เนื่องจากได้รับฟังความคิดเห็นของนักลงทุนในช่วงที่ผ่านมา มีความสนใจที่จะลงทุนในพันธบัตรระยะยาวมากขึ้น เช่น บริษัทประกันภัย ขณะเดียวกัน สบน.สามารถบริหารผลตอบแทนตราสารในระยะยาวได้คล่องตัวกว่า เนื่องจากการให้ผลตอบแทนนั้นไม่ได้มีช่วงต่างกันมาก เมื่อเทียบกับการก่อหนี้ระยะสั้น
ทั้งนี้ สบน.จะมีการหารือกับนักลงทุนที่ร่วมตลาดทั้งหมดเป็นครั้งสุดท้ายในช่วงเดือนกันยายนเพื่อรับข้อเสนอแนะและแนวโน้มความต้องการของตลาด และออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสม ก่อนสรุปแผนการก่อหนี้ทั้งหมดในปี 2558 โดยจะต้องดูว่าแผนก่อหนี้ที่จะดำเนินการในปีหน้านั้น จะเป็นตัวเลขเท่าไร และเป็นกู้เท่าไร ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อประกาศใช้ให้ทันในเดือนตุลาคมหรือให้ใช้ทันปีงบประมาณ 2558
สำหรับ โครงการด้านลงทุนที่สำคัญในปี 2558 เช่น โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท โดยจะพิจารณาโครงการที่จำเป็นและทำได้ในปี 2558 ก่อน ซึ่งจากที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาเป็นรายโครงการแล้วว่าจะต้องใช้เงินงบประมาณเท่าไร และเหลือเป็นเงินกู้จำนวนเท่าไร เบื้องต้นมูลค่าโครงการดังกล่าวที่ใช้ในปี 2558 จะอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท
ในส่วนวงเงิน 1.5 แสนล้านบาทนั้น แบ่งเป็นการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 จำนวน 2 หมื่นล้านบาท สบน.กู้เพื่อลงทุนจำนวน 6.5 หมื่นล้านบาท จัดให้มีการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน หรือพ.ร.บ.ร่วมทุน พีพีพี จำนวน 7,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีส่วนที่รัฐวิสาหกิจจะกู้เพื่อลงทุนอีก 2 หมื่นล้านบาท และใช้รายได้ของรัฐวิสาหกิจตนเองอีก 4.3 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถสรุปได้ในการประชุมแผนการบริหารหนี้ปี 2558 ในครั้งถัดไป
น.ส.จุฬารัตน์กล่าวว่า แผนบริหารหนี้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายที่เหลือของปีงบประมาณ 2557 แบ่งเป็นการกู้เพื่อชดเชยขาดดุล 6.2 หมื่นล้านบาท และการปรับโครงสร้างหนี้เดิม 1.3 แสนล้านบาท ขณะที่รัฐวิสาหกิจกู้เพิ่ม 3.8 หมื่นล้านบาท และปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 4.2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้การก่อหนี้ของรัฐบาลในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีอยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท และรัฐวิสาหกิจอยู่ 8 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การก่อหนี้ในระดับดังกล่าวจะส่งผลให้หนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ในปี 2558 เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2557 ที่อยู่ที่ 47% จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 46% ซึ่งตามแผนการลงทุนจะมีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับกรอบการจัดทำงบประมาณแบบสมดุลในปี 2560 ของสำนักงบประมาณ
ขณะที่สัดส่วนการก่อหนี้ทั้งระบบ มูลค่าล่าสุดอยู่ที่ 9.21 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการก่อหนี้โดยรัฐบาล 38% การก่อหนี้จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 31% หนี้ของรัฐวิสาหกิจ 8% การก่อหนี้ของเอกชน 22% และต่างชาติที่เข้ามาระดมทุนในไทย 1.03% คาดว่าในปี 2558 การก่อหนี้โดยรวมจะเกิน 10 ล้านล้านบาท