- Details
- Category: คลัง
- Published: Saturday, 19 March 2016 21:57
- Hits: 3590
ไตรมาส 2 ดีเดย์ระบบอีเพย์เมนต์ คลังอัดสารพัดมาตรการดึงคนใช้
แนวหน้า : นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์การดำเนินการระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (อีเพย์เมนต์)เปิดเผยว่าได้มีการประชุมอนุกรรมการเพื่อเตรียมความพร้อมใช้ระบบอีเพย์เมนต์ภายในไตรมาส 2 ปีนี้ โดยในส่วนของอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์ได้หามาตรการจูงใจให้คนเข้ามาใช้ระบบอีเพย์เมนต์ ซึ่งจะมีทั้งการชิงโชค มาตรการทางภาษี และการลดค่าธรรมเนียมการใช้ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำเพื่อดึงดูดทุกคนเข้ามาใช้
นอกจากนี้ ยังได้รับทราบความคืบหน้าของ อนุกรรมการด้านดำเนินการชำระเงินได้ทุกบัตร ว่า การใช้ระบบอีเพย์เมนต์ในไตรมาสสองของปีนี้จะใช้ บัตรจ่ายชำระเงินได้ 4 บัตร ประกอบด้วย บัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์มือถือ ชื่ออี-เมล์ และเลขที่บัญชีธนาคาร และในส่วนของการเพิ่มเครื่องชำระเงินจะเริ่มดำเนินการได้ในไตรมาสสามของปีนี้ จะทำให้การเข้าถึงการชำระเงินได้สะดวกมากขึ้น
สำหรับ การเชื่อมระบบอีเพย์เมนต์เข้ากับระบบการเสียภาษีของกรมสรรพากรจะดำเนินการได้ภายในกลางปีนี้ โดยจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน และบริษัทห้างร้านต่างๆ มาจ่ายชำระภาษีผ่านทางอีเพย์เมนต์ให้มากขึ้น รวมถึงการจ่ายค่าสวัสดิการต่างๆ ของรัฐบาลให้กับประชาชน เช่น เบี้ยยังชีพคนชรา ค่าเลี้ยงดูบุตร เงินช่วยเหลือ เกษตรกร ก็จะดำเนินการให้ได้ภายในไตรมาสสอง และไตรมาสสามนี้เช่นกัน โดยขณะนี้ได้มีการประสานกับหน่วยงานและกระทรวงที่ดูแลเรื่องสวัสดิการต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเชื่อมข้อมูลเข้ากับระบบอีเพย์เมนต์
นายสมชัย กล่าวว่า ระบบอีเพย์เมนต์ถือเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยด้านหนึ่ง จะลดต้นทุนการชำระเงินของประเทศลงได้มากทำให้การตรวจสอบการเสียภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้นคาดว่าเมื่อระบบทำงานได้ทั้งหมดจะทำให้รัฐบาล เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 แสนล้านบาท มีเงินเพื่อไปพัฒนาประเทศที่ยังต้องการเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกมาก โดยที่ไม่ต้องเพิ่มอัตราภาษีใดๆ เพิ่ม
ส่วนของการปฏิรูปภาษี ในส่วนของการปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา และเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้พิจารณาแล้วและให้มีการแก้ไขรายละเอียดเล็กน้อยคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในไม่ช้านี้เนื่องจากเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการแต่ต้องมีการดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบเพื่อให้ประชาชนและประเทศได้ประโยชน์จากการปรับโครงสร้างภาษีให้มากที่สุด