- Details
- Category: คลัง
- Published: Saturday, 12 March 2016 19:21
- Hits: 2102
คลังเคาะผลขาดทุนจำนำข้าว รอเสนอนายกฯ-นบข.ก่อนเปิดเผยตัวเลข
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวรอบวันที่ 30 ก.ย.58 ว่า ผลขาดทุนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม เนื่องมาจากเรื่องค่าเสื่อมราคา ค่าใช้จ่ายเรื่องดอกเบี้ย ค่าเช่าโกดัง การขายข้าวในราคาที่ต่ำกว่ารับจำนำมา โดยหลังจากนี้จะรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบทันที และเสนอให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (นบข.) รับทราบต่อไป
"เป็นปกติอยู่แล้วที่ข้าวเสื่อมราคาเสื่อมประสิทธิภาพ การขายก็ขายไม่ได้ ทำให้ผลการขาดทุนมันเพิ่มสูงขึ้น แต่ว่าตัวเลขไม่ถึงแสนล้าน แต่ยังชี้แจงในรายละเอียดไม่ได้ ขอรายงานนายกฯ รับทราบก่อน" ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว
นอกจากนี้ จะมีการเสนอแนวงทางในการปิดโครงการรับจำนำข้าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในส่วนหลักการบริหารข้อมูล การบริหารสต๊อกข้าว เพื่อให้การปิดบัญชีสามารถทำได้เร็วขึ้นโดยจะเสนอต่อที่ประชุม นบข.พิจารณาต่อไป
นายสมชัย กล่าวว่า จะมีการประชุมเพื่อปิดบัญชีจำนำข้าวทุกไตรมาส เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าเหมือนปัจจุบัน พร้อมทั้งจะมีกาเรสนอให้รัฐบาลตั้งงบประมาณเพื่อชดใช้ความเสียหาย 4 ปี
อินโฟเควสท์
ชูมาตรา 44 ระบายข้าวค้างสต๊อก'อุเทน'แนะ'บิ๊กตู่'เด็ดขาดเพื่อชาติ
บ้านเมือง : 'อุเทน'ชง 'ประยุทธ์'ใช้ ม.44 ระบายข้าวในสต๊อกรัฐ ห่วงล่าช้าเสียงบจัดเก็บบาน ชี้ข้าว เสื่อมมูลค่าลดฮวบ สับ นบข.ทำงานอืด อนุมัติแต่ละทีจำนวนน้อย วางระเบียบหยุมหยิม สวดกำหนดกรอบการใช้ข้าวที่ออกประมูลเหมือนล็อกสเปก หนุนหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจทบทวนลดขั้นตอน เพื่อลดการสูญเสียของรัฐ
นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงมาตรการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาลว่า ได้ติดตามการเปิดประมูลข้าวในสต๊อกของรัฐบาลช่วงที่ผ่านมาหลายครั้ง ที่มักพบว่าผู้ชนะการประมูลไม่ยอมลงนามในสัญญา จนทำให้การประมูลต้องถูกยกเลิกไป ซึ่งผู้ประกอบการก็รับโทษเพียงการริบเงินค้ำประกันเท่านั้น จึงไม่กลัวที่จะทิ้งการประมูล นอกจากนี้ยังพบว่าติดขัดขั้นตอนของทางราชการ ทำให้ข้าวที่นำออกมาประมูลแต่ละครั้งมีจำนวนไม่มากเท่าที่ควร อย่างเช่นการประมูลรอบเดือน มี.ค.นี้ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ก็อนุมัติออกมาเพียง 3.6 แสนตัน หรือล่าสุดเมื่อเดือน ก.พ.มีการนำข้าวออกมาประมูลเพียง 5.7 แสนตัน ก็มีผู้สนใจประมูลได้ไปไม่ครบทั้งหมด ตรงนี้ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการของรัฐบาล ที่ต้องสูญเสียงบประมาณการรักษาข้าวในสต๊อกที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ประมาณ 50 ล้านบาทต่อเดือน ตลอดจนความเสื่อมสภาพของข้าวที่เก็บไว้ในโกดังนาน ก็ทำให้มูลค่าลดลง
"ตอนนี้ข้าวในสต๊อกของรัฐบาลมีอยู่มากกว่า 18 ล้านตัน แต่ นบข.กลับอนุมัติออกประมูลครั้งละไม่มาก ทั้งยังจำหน่ายได้ไม่ครบจำนวนที่นำออกมาประมูล ทำให้รัฐสูญเสียทั้งงบประมาณและรายได้ ถ้ายังยึดวิธีการเช่นนี้อีก ถามว่า อีกเมื่อไหร่จึงจะระบายข้าวได้หมด ยิ่งไปกว่านั้นในส่วนของข้าวเสื่อมสภาพที่มีอยู่กว่า 5 ล้านตันนั้น นับวันก็ยิ่งเน่าเสียลง แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะรีบระบายออกมา ทั้งที่มีความสูญเสียเกิดขึ้นตลอดเวลา จึงไม่ควรนำข้ออ้างเรื่องการทุ่มตลาดถ้าระบายออกมามาก หรืออ้างไปถึงคดีความที่มีอยู่ เรื่องนี้ นบข.ต้องพิจารณาการทำหน้าที่ของตัวเอง เพราะ นบข.คงไม่สามารถรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นได้" นายอุเทน ระบุ
นายอุเทน กล่าวด้วยว่า จากผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงขอเรียนเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทบทวนรูปแบบการระบายข้าวทั้งหมดใหม่ และหากเป็นไปได้ก็ควรใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ในการเร่งระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาลให้รวดเร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของประเทศอย่างแท้จริง โดยการลดระเบียบข้อกำหนด ลดขั้นตอนของทางราชการ และลดการสูญเสียงบประมาณ ในการจัดเก็บรักษาข้าว โดยเฉพาะในส่วนของข้าวเสื่อมคุณภาพที่นับวันจะเสียหายมากขึ้น ควรที่จะหาวิธีการระบายออกอย่างรวดเร็ว ไม่ควรอนุมัติออกมาทีละน้อย หรือไปตั้งกฎเกณฑ์เงื่อนไขให้มีความยุ่งยาก อย่างเช่นกำหนดวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้หรือแปรรูปต่อ ก็ควรเป็นเรื่องของเอกชนไปคิดและดำเนินการ รัฐบาลไม่ต้องไปตั้งธง กำหนดกรอบ หรือคิดแทนผู้เข้าประมูลอย่างที่เป็นอยู่ เพราะเหมือนเป็นการล็อกสเปกให้กับทางภาคเอกชน ควรแค่กำหนดราคากลางขั้นต่ำในการประมูลไว้ก็พอ
จีทูจี!ขายข้าวพุ่งม.ค.ทะลุล้านตันลุ้นซื้อยางหมื่นล.
ไทยโพสต์ : สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย รายงานการส่งออกข้าวในเดือน ม.ค.2559 มีปริมาณ 1,025,192 ตัน มูลค่า 15,544 ล้านบาท ปริมาณเพิ่มขึ้น 68.5% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 42.8% เมื่อเทียบเดือน ม.ค.2558 ที่มีการส่งออก 608,504 ตัน มูลค่า 10,888 ล้านบาท เนื่องจากในเดือน ม.ค.ปีนี้ ยังคงมีการเร่งส่งมอบข้าวขาวตามสัญญาแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ให้กับหน่วยงานของรัฐบาลอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และจีน
ส่วนในเดือน ก.พ.2559 คาดว่าปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ในระดับประมาณ 7-8 แสนตัน เนื่องจากยังคงมีการส่งมอบข้าวขาวตามสัญญาจีทูจีให้แก่จีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ในส่วนที่ยังค้างอยู่ ซึ่งคาดว่าจะส่งมอบแล้วเสร็จตามกำหนดในเดือน มี.ค.นี้
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการเจรจาการค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพารา ว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้นำผู้นำเข้า ผู้ซื้อยางพาราและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพาราจากต่างประเทศรวม 147 บริษัท จาก 28 ประเทศ มาจับคู่ซื้อขายกับผู้ผลิตของไทยจำนวน 109 บริษัท คาดว่าจะมีมูลค่าการซื้อขายไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท
“การจัดเวทีจับคู่ธุรกิจครั้งนี้ จะช่วยผลักดันให้ไทยส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ได้เพิ่มขึ้น ช่วยระบายสต็อกยางพารา และช่วยยกระดับราคายางพาราในประเทศให้สูงขึ้น” นางอภิรดีกล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้จัดคณะผู้ประกอบการไทย เดินทางไปขายยางพาราและผลิตภัณฑ์ที่ประเทศอินเดีย สามารถตกลงซื้อขายไม้ยางระหว่างกันมูลค่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีแผนจะเดินทางไปเจรจาขายในประเทศอื่นๆ ต่อไป.
แก๊งโกงข้าวจีทูจีไม่รอด ฟ้องเรียกค่าเสียหายไม่หมดอายุความ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ขณะนี้กระทรวงฯได้รับแจ้งจากสำนักงานอัยการสูงสุด ถึงความคืบหน้าคดีการทุจริตขายข้าวรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ และพวกรวม 22 รายแล้ว โดยยืนยันว่าคดีความในส่วนของเอกชน 15 ราย สามารถการฟ้องอาญาพ่วงแพ่งได้เลย และคดีทางแพ่งจะไม่หมดอายุความ เพราะต้องรอให้การพิจารณาคดีอาญาเสร็จสิ้นก่อน ซึ่งจะส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะนัดไต่สวนนัดแรกวันที่ 2 มี.ค.นี้ นำไปประกอบไว้ในสำนวนด้วย
สำหรับ การเรียกร้องค่าเสียหายในการทุจริตขายข้าวจีทูจีได้คำนวณแล้ว โดยมีมูลค่าที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนักการเมือง เอกชน และข้าราชการ ราว 20,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังมีระเบียบในการคิดคำนวณว่าจะเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้ง 22 คนในอัตราคนละเท่าใด แต่ที่แน่ๆนายบุญทรง น่าจะถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายมากที่สุด ส่วนรายอื่นๆ ค่าเสียหายจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นตัวหลัก และได้รับประโยชน์จากการทุจริตในครั้งนี้ และเมื่อกระทรวงการคลังกำหนดค่าเสียหายที่จะฟ้องร้องจากแต่ละบุคคลแล้ว กรมการค้าต่างประเทศ จะตั้งคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง เพื่อเรียกชดใช้ค่าเสียหาย หากผู้ที่ถูกฟ้องร้องเห็นว่าไม่ถูกต้อง สามารถอุทธรณ์ต่อศาลปกครองได้ ล่าสุด พรรคเพื่อไทยได้ว่าจ้างสำนักงานกฎหมายและทนายความชื่อดังทั้งในและต่างประเทศ ให้ช่วยต่อสู้ในคดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูก ป.ป.ช. กล่าวหาว่า ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวจนเกิด ความเสียหาย และคดีการทุจริตขายข้าวจีทูจี เพราะขณะนี้ทั้ง 2 คดีเริ่มเข้าสู่การพิจารณาของศาลแล้ว.
ที่มา : www.thairath.co.th
โครงการจำนำข้าวไม่ผิด-แต่ยิ่งลักษณ์ ผิด
บ้านเมือง : นายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีส่ง ข้อสรุปความเห็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ รมว.คลังว่า การพิจารณาของ คณะกรรมการในช่วงที่ผ่านมาได้พิจารณาใน 2 ลักษณะคือ พฤติการณ์ดำเนินการในการกำกับดูแลติดตามในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ว่ามีการติดตามรัดกุม กำกับชัดเจนหรือไม่ และเรื่องความเสียหาย ซึ่งถือวันปิดบัญชี 22 พ.ค.57 เพื่อนำตัวเลขปิดบัญชีมาพิจารณาวิเคราะห์ โดยให้ความเป็นธรรม อาทิ ตัวเลขที่ประชาชนจะได้รับในส่วนต่าง เช่น ราคาท้องตลาดเกวียนละ 9,000 บาท แต่รับจำนำ 15,000 บาท ส่วนต่างตรงนี้ถือเป็นประโยชน์ประชาชน กรรมการก็ไม่ได้คิดเป็นความเสียหาย การดำเนินการของส่วนราชการถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายเป็นข้าราชการดำเนินการก็ไม่ถือว่าเป็นความเสียหาย
เมื่อถามถึงจำนวนตัวเลขที่ประเมินเพื่อฟ้องเรียกความเสียหายครั้งนี้ นายจิรชัย กล่าวว่า เรื่องตัวเลขตนขอยังไม่เปิดเผย เนื่องจากเรื่องยังไม่จบยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของ รมว.คลังและนายกรัฐมนตรี และยังต้องให้คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งดำเนินการพิจารณาต่อ จึงยังไม่นิ่ง แต่ยืนยันว่าในนามกรรมการชุดของตนนั้นไม่มีการถูกกดดันใดๆ ทั้งสิ้น ทำงานด้วยความอิสระ ให้ความเป็นธรรม ให้โอกาสมากที่สุด ตามนโยบายนายกรัฐมนตรีที่ได้มอบไว้
เมื่อถามว่า ผลจากการพิจารณาของคณะกรรมการถือว่าพฤติการณ์สอดคล้องกับที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดมาหรือไม่ นายจิรชัย กล่าวว่า สอดคล้องกันตามพฤติการณ์ก็มีความผิด แต่เรื่องความเสียหายนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนตัวเลขความเสียหายโครงการรับจำนำข้าวที่เกิดขึ้นนั้นสูงถึงหลักแสนล้านบาทตามที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลหรือไม่นั้น ต้องขอสงวนไว้ก่อน อย่างไรก็ตามตัวเลขความเสียหายนั้นทางอนุกรรมการปิดบัญชีนั้นได้สรุปไว้แล้ว และนำตัวเลขนั้นมาวิเคราะห์ โดยไม่ได้เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะเขาคิดละเอียดแบบนักบัญชี แต่เราเป็นนักบริหารต้องดูความเหมาะสม ดูความเป็นธรรม ดูประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ