- Details
- Category: คลัง
- Published: Monday, 29 February 2016 11:47
- Hits: 3229
สถาบันคุ้มครองเงินฝาก กำไรสุทธิ 1.93 แสนล้านบาท เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 17.45 จากร้อยละ 16.83 แถลงข่าว ผลการดำเนินงานของสถาบันคุ้มครองเงินฝากปี 2558 และแผนการดำเนินงานในปี 2559
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ประธานกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก แถลงผลการดำเนินงานของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สถาบัน) ในปี 2558 ที่ผ่านมา และแผนการดำเนินงานในปี 2559 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2558 และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2559
เศรษฐกิจไทยในปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.8 ในปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการใช้จ่ายภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการบริโภคภาครัฐขยายตัว ร้อยละ 2.2 และการลงทุนภาครัฐขยายตัวสูงที่ร้อยละ 29.8 ส่วนการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 2.1 โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี
สำหรับ เศรษฐกิจไทยในปี 2559 คาดว่า จะขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นร้อยละ 3.7 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.2 – 4.2) โดยได้รับปัจจัยหนุนจากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ เช่น โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวประชารัฐ การลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะโครงการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่ง และกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปี 2559 ที่เพิ่มขึ้น
เสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินในปี 2558
ระบบสถาบันการเงินยังคงมีเสถียรภาพอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่ง ณ สิ้นปี 2558 สถาบันการเงินทั้งระบบมีฐานะเงินกองทุนแข็งแกร่ง และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการจัดสรรกำไรเข้าเป็นเงินกองทุน ซึ่งในปี 2558 สถาบันการเงินมีกำไรสุทธิจำนวน 1.93 แสนล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 17.45 จากร้อยละ 16.83 ในปีก่อน และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier-1 Ratio) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 14.60 จากร้อยละ 13.75 ในปีก่อน ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 2 (Tier-2 Ratio) ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อยเป็นร้อยละ 2.87 จากการทยอยลดการนับเข้าเป็นเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ด้านสภาพคล่องระบบสถาบันการเงินมีอัตราสภาพคล่องร้อยละ 24.67 สูงกว่าอัตราร้อยละ 6 ที่กฎหมายกำหนดอยู่มาก สำหรับสินเชื่อของระบบสถาบันการเงิน ณ สิ้นปี 2558 มีจำนวน 13.23 ล้านล้านบาท แต่มีอัตราการขยายตัวชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ โดย ณ สิ้นปี 2558 สินเชื่อขยายตัวได้ร้อยละ 2.71 จากปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.30 ด้านสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 2.56 จากร้อยละ 2.16 ในปีก่อน ขณะที่เงินสำรองสำหรับสินเชื่ออยู่ที่ 4.43 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 131 ของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ดังนั้นแม้ว่าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะเพิ่มสูงขึ้นบ้างแต่ไม่มากนัก และไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะและความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน สำหรับเงินฝาก ณ สิ้นปี 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 12.31 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.46 จากสิ้นปี 2557
ฐานะของกองทุนคุ้มครองเงินฝากปี 2558
กองทุนคุ้มครองเงินฝาก ณ สิ้นปี 2558 มีจำนวน 1.13 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 จำนวน 3,604 ล้านบาท โดยในปี 2558 ได้รับเงินนำส่งจากสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองทั้งสิ้น (อัตราร้อยละ 0.01 ต่อปีของยอดเงินฝาก) 1,155 ล้านบาท ทั้งนี้ สถาบันได้นำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงตามที่กฎหมายกำหนด เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง ตราสารหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน เป็นต้น เพื่อให้กองทุนมีความมั่นคง และมีสภาพคล่อง รวมทั้งได้รับผลตอบแทนที่ดี
ผลการดำเนินงานตามแผนงานของสถาบันปี 2558
สถาบันมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ เป็นที่เชื่อถือ เสริมสร้างความมั่นคงระบบสถาบันการเงิน และสร้างความมั่นใจของประชาชน โดยที่ผ่านมาได้มุ่งเน้นพัฒนาโครงการด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้นตามบทบาทหน้าที่ และพันธกิจที่กฎหมายกำหนด ซึ่งครอบคลุมงานหลายด้าน ได้แก่
1. โครงการพัฒนาระบบปฏิบัติงานจ่ายคืนผู้ฝาก โดยพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานการรับยื่นคำขอและจ่ายคืนผู้ฝากจำนวนมากได้อย่างรวดเร็วกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน
2. การจัดทำแนวทางการปฏิบัติงานและประสานความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้สถาบันและธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถปฏิบัติงานตามพันธกิจของสถาบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันท่วงที และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ฝากเงิน
3. การประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับระบบคุ้มครองเงินฝากทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนผู้ฝากเงินและเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินมีความเข้าใจและเชื่อมั่นในระบบคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งถือเป็นมาตรการของรัฐในการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน
4. การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งใน และต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ ในการพัฒนาระบบคุ้มครองเงินฝาก โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด และบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์กับสถาบันประกันเงินฝากต่างประเทศที่ได้มีการจัดทำบันทึกความร่วมมือด้วย อาทิ ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว และอินโดนีเซีย เป็นต้น
ยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานที่สำคัญของสถาบันปี 2559
เพื่อให้บรรลุตามพันธกิจและมุ่งสู่มาตรฐานสากล สถาบันได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์เป็น 5 ด้าน ได้แก่
1. พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในระบบตาข่ายความมั่นคงทางการเงินของประเทศ
2. สื่อสารให้ประชาชนเข้าใจระบบการคุ้มครองเงินฝาก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการทางการเงิน และคุ้มครองประโยชน์ของผู้ฝากเงิน
3. ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันปัญหาระบบสถาบันการเงิน
4. พัฒนาระบบการจ่ายคืนเงินฝากที่ทันสมัยและรวดเร็ว
5. พัฒนาระบบชำระบัญชีให้มีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้และผู้ฝากเงิน
สำหรับ ในปี 2559 สถาบันมุ่งเน้นพัฒนาระบบงานด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่องให้มีความพร้อมในการดำเนินงานตามพันธกิจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพื่อพัฒนาสู่มาตรฐานสากลของระบบคุ้มครองเงินฝากที่ดี โดยสถาบันจะดำเนินการในด้านต่างๆ ที่สำคัญ คือ
1. พัฒนาระบบปฏิบัติงานของสถาบันในการจ่ายคืนผู้ฝากให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมรับและตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
2. เสริมสร้างความมั่นคงของกองทุนคุ้มครองเงินฝาก โดยการศึกษาแนวทางการลงทุนด้วยวิธีต่างๆ เพื่อสอดคล้องกับเงินกองทุนที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงคำนึงถึงความมั่นคง และสภาพคล่องเป็นสำคัญ
3. การประเมินความสอดคล้องการดำเนินงานระบบคุ้มครองเงินฝากของไทยกับหลักการสากล เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ทัดเทียม มีประสิทธิภาพ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
นอกจากนี้ สถาบันยังคงเน้นเรื่องการสื่อสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในระบบการคุ้มครองเงินฝากแก่ ผู้ที่เกี่ยวข้องให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งประสานความร่วมมือกับสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเผยแพร่ข่าวสารความรู้ เพื่อให้ผู้ฝากเงินมีความเข้าใจ และเกิดความเชื่อมั่นในระบบการคุ้มครองเงินฝาก และความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินอันจะเสริมสร้างความมั่นใจของประชาชนต่อระบบการเงินของประเทศยิ่งขึ้นต่อไป
ฝ่ายสื่อสารองค์กร สถาบันคุ้มครองเงินฝาก โทร. 02-2720300 ต่อ 321-324 / www.dpa.or.th