WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Gอภศกด ตนตวรวงศคณะกรรมการขับเคลื่อนฯเร่ง'คมนาคม'ลงนาม 20 เมกะโปรเจกท์กระตุ้นศก.

     แนวหน้า : 'คลัง' เร่งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ฟื้นเศรษฐกิจชดเชยตัวเลขส่งออกวูบ ส่วนเดือนหน้า "คมนาคม" จะขออนุมัติ ครม.ลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี

    นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนของประเทศ เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2559 ว่า กระทรวงคมนาคมได้รายงานว่า ในปี 2559 นี้จะมีการเซ็นสัญญาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ได้ 20 โครงการ วงเงิน 1.7 ล้านล้านบาท โดย 10 โครงการแรกจะเซ็นสัญญาและมีการเบิกจ่ายได้ภายในปีนี้ ส่วนที่เหลืออีก 10 โครงการ จะเซ็นล่าช้ากว่าซึ่งอาจจะเป็นปลายปีนี้ และจะมีการเริ่มเบิกจ่ายจริงในปีหน้า

      "การลงทุนดังกล่าวจะทำให้ความมั่นใจของนักลงทุน เพราะไทยทำได้ตามที่เคย เดินทางไปให้ข้อมูลว่าในปีนี้ไทยจะมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกท์) เพื่อขับเคลื่อน เศรษฐกิจจำนวนมาก ส่วนหนึ่งก็เพื่อชดเชยการ ขับเคลื่อนจากการส่งออกที่ชะลอตัวลดลง"

     นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของการลงทุน ขณะนี้มีสัญญาณที่ดีขึ้นมาก โดยทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รายงานให้ที่ประชุมทราบว่า ตัวเลขการขอลงทุนเดือน ม.ค. 2559 มีจำนวน 8,000 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกัน ที่ผ่านมาถึง 8 เท่า อย่างไรก็ตามจะต้องทำให้การลงทุนเกิดขึ้นจริงไม่ใช่เป็นแค่การมายื่นขอ บีโอไอเท่านั้น

    สำหรับ มาตรการกระตุ้นเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของภาคประชาชน ทั้งในส่วนของเงินกองทุน หมู่บ้าน 6 หมื่นล้านบาท โครงการลงทุนขนาดเล็ก 4 หมื่นล้านบาท มีการดำเนินการเบิกจ่าย และขอสินเชื่อใกล้หมดแล้ว แต่มีความล่าช้าในส่วนของมาตรการตำบลละ 5 ล้านบาท วงเงิน 3.6 หมื่น มีการทำสัญญาไปแล้ว 80% มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 20% โดยได้รับการขยายเวลาทำสัญญาและเบิกจ่าย ให้ได้ภายใน 31 มี.ค.2559 ซึ่งในเดือนหน้าจะมีเม็ดเงินส่วนนี้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก

       คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ยังได้รับมาตรการ เงินกองทุนหมู่บ้าน 3.5 หมื่นล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงการขนาดเล็กมาไว้ในการติดตามของ คณะกรรมการเพิ่มเติม การเร่งลงทุนและการกระตุ้น การบริโภคจะช่วยชดเชยการขับเคลื่อนด้านอื่น เช่น การส่งออกที่ชะลอตัวลดลง

      ด้านนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในเดือนมี.ค.นี้ กระทรวงคมนาคม จะขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง คาดว่าจะเร็วกว่าแผนที่วางไว้ โดยจะเสนอให้ คณะกรรมการเอกชนร่วมลงทุนในกิจการ ของรัฐ หรือพีพีพี พิจารณาในวันที่ 29 ก.พ.นี้

     ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน และโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง ซึ่งรอผลการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะล่าช้ากว่าแผน 2 เดือน

     ขณะที่โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (ช่วงบางซื่อพญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก) และ สายสีแดงเข้ม (ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง) อยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอ ครม.พิจารณา ซึ่งคาดว่าจะล่าช้ากว่าแผน 1 เดือน

      สำหรับ 20 โครงการลงทุนของกระทรวงคมนาคม มี 4 โครงการ ที่เริ่ม ประกวดราคาแล้ว ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ ช่วงชุมชนทางถนนจิระขอนแก่น ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง ดำเนินการไปตามแผน และได้เบิกจ่ายเงินล่วงหน้าแล้ว 2,393 ล้านบาท 2.โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายพัทยา-มาบตาพุด อยู่ระหว่างประกวดราคา มีความล่าช้ากว่าแผน 2 เดือน และมีผลการเบิกจ่ายเงินค่าเวนคืนที่ดิน 880 ล้านบาท

     3.โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา อยู่ระหว่าง ประกวดราคา และ 4.โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่งเอ ท่าเรือแหลมฉบัง อยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะเบิกจ่าย ในงวดแรกเดือนก.พ.นี้ จำนวน 169 ล้านบาท

ดันลงทุน-บริโภคขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลังการส่งออกหมดแรง ทั่วโลกลดการนำเข้าสินค้า

    แนวหน้า : ถึงแม้ตัวเลขการส่งออกเดือนมกราคม 2559 ติดลบ 8.9% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และมีมูลค่าต่ำสุดในรอบ 4 ปี แต่ทางด้านกระทรวงการคลัง โดยนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ยังคงยืนยันว่าการส่งออกของไทยทั้งปียังน่าจะขยายตัวเป็นบวกได้ อีกทั้งรัฐบาลได้เตรียมการรับมือความผันผวนของเศรษฐกิจโลกมาต่อเนื่อง เพราะเราไม่สามารถพึ่งการส่งออกเป็นหลักเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป จึงมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น ทั้งทำให้ ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจใช้จ่าย และเร่งการลงทุนภาครัฐ รวมถึงการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน หากลงทุนภายในปีนี้จะนำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีเป็น 2 เท่า และยังตั้งกองทุนส่งเสริมขีดความสามารถการแข่งขัน เพื่อดึงนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาในประเทศมากขึ้น

      "ทุกประเทศได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด และหันมาพึ่งเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก ในส่วนของไทยก็ได้พยายามให้การลงทุนและการบริโภคนำหน้าการส่งออก โดยคาดว่าการลงทุนและการใช้จ่ายในไตรมาสสองและสามปีนี้จะขยายตัวได้เพิ่มขึ้น" นายสมชัย กล่าว

     น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)กล่าวว่าสศค. ยังคงเป้าหมายการขยายตัว ของเศรษฐกิจหรือจีดีพีปีนี้ไว้ที่ 3.7% ต่อปี ภายใต้ เงื่อนไขภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยรวมผลกระทบจากภัยแล้ง ที่คาดว่าจะกระทบการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงสุดไม่เกิน 0.15% ของจีดีพีซึ่งจะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในเดือนเมษายนนี้

     ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจในเดือนมกราคม 2559 ยังปรับตัวลดลงโดยเฉพาะการส่งออกที่ติดลบ-8.9% เป็นการหดตัวในทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงและเครื่องใช้ไฟฟ้านั้น จะท้าทายมากขึ้น โดยหากต้องการให้ตัวเลขการส่งออกทั้งปีขยายตัวได้ตาม คาดการณ์ที่ 0.1% ภาพรวมการส่งออกในช่วงที่เหลืออีก 11 เดือนจะต้องเป็นบวกเท่านั้น

    "ตอนนี้โครงสร้างเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไป หลายประเทศหันมาพึ่งพาอุปสงค์ภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อน จึงลดการนำเข้า หลายประเทศต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากเรื่องส่งออก โดยเฉพาะประเทศที่มีเศรษฐกิจแบบเปิด เช่น ไทย ประกอบกับไทยมีการไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น แล้วค่อยส่งรายได้กลับมา จึงเป็นเหตุผลให้การส่งออกของเราอาจไม่ดีนัก แต่หากมองในภาพรวมของสัดส่วนการส่งออกแล้วไทยไม่ได้ลดลงแต่กลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับ 2-3 ปีก่อน ดังนั้น หลังจากนี้การวิเคราะห์เศรษฐกิจอาจจะต้องดูรวมไปถึงผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (จีเอ็นพี) ควบคู่ไปกับตัวเลขจีดีพี" น.ส.กุลยา กล่าว

    สำหรับ ภาพรวมเศรษฐกิจในเดือนมกราคม 2559 ที่ยังมีสัญญาณชะลอตัวนั้น สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ติดลบ 1.2% ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มการนำเข้าที่ยังหดตัว ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย ปรับตัวลดลงในรอบ 4 เดือน อยู่ที่ 64.6 เนื่องจากความกังวลภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน

    ด้านการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัวจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ติดลบ 5.6% ต่อปี ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างที่ติดลบ 6.2% ต่อปี ขณะที่ปัจจัยด้านอุปทานยังได้รังแรงส่งจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3 ล้านคน ขยายตัว 15% ต่อปี ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงในรอบ 5 เดือน ที่ 86.3 จากความกังวลต่อการชะลอตัวของกำลังซื้อในประเทศ ปัญหาภัยแล้ง และเศรษฐกิจโลก ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 0.5% ตามราคาน้ำมันและค่าไฟที่ลดลง เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.6% อัตราการว่างงาน 0.9%

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!