- Details
- Category: คลัง
- Published: Friday, 19 February 2016 08:57
- Hits: 2287
สคร.คาดนำส่งรายได้รัฐวิสาหกิจปีงบฯ 59 ได้ตามเป้าหมาย 1.2 แสนลบ.
สคร.คาดนำส่งรายได้รัฐวิสาหกิจปีงบ 59 ได้ตามเป้าหมาย 1.2 แสนล้านบาท แม้ราคาน้ำมันกดดันงบปตท. แต่ได้งบทอท.หนุนตามยอดท่องเที่ยวโต ยอมรับเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจมีความล่าช้าเหตุเป็นโครงการขนาดใหญ่
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า การนำส่งรายได้รัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ 2559 (ต.ค.58-ก.ย.59) ยังคาดว่าจะได้ตามเป้าหมาย 1.2 แสนล้านบาท แม้ว่าราคาน้ำมันจะตกลงมาทำให้มีผลกับผลประกอบการของบริษัท ปตท.ลดลง ทำให้ปันผลให้กับกระทรวงการคลังได้น้อยลง แต่ก็มีผลประกอบการของรัฐวิสาหกิจหลายแห่งดีกว่าที่คาดไว้ เช่น บริษัท การท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวมีเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก ทำให้รายได้ ทอท.เพิ่มขึ้น
โดยในปีงบประมาณ 2559สคร.ดูแลการเบิกจ่ายงบลงทุนทั้งหมดของรัฐวิสาหกิจจำนวน 3.2 แสนล้านบาท โดยตั้งเป้าเบิกจ่ายให้ได้เท่ากับเป้าหมายการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาล คือไม่ต่ำกว่า 75% เพราะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้
ทั้งนี้ ในปัจจุบันรัฐวิสาหกิจได้เบิกจ่ายงบลงทุนไปแล้ว 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจดูไม่มาก เพราะงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่สคร.ดูแลมีทั้งการเบิกจ่ายตามปีงบประมาณ และปีปฏิทินโดยในส่วนของการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจตามปีงบประมาณถือว่าทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
อย่างไรก็ตาม สคร.ยอมรับว่าขณะนี้การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจมีความล่าช้าอยู่บ้างเนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งทาง สคร.ได้ประสานกับ ร.ฟ.ท.อย่างใกล้ชิด ซึ่งในตอนนี้เริ่มมีการประมูลโครงการรถไฟรางคู่ออกมาต่อเนื่อง
ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า ขณะนี้ สคร.เร่งทำความเข้าใจกับหน่วยงานต่างๆให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ(CoST) โดยให้หน่วยงานเข้าของโครงการที่มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการ ให้กับสาธารณะชนรับทราบ และช่วยตรวจสอบการดำเนินโครงการ ลดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งขณะนี้ สคร.ได้ทำโครงการนำร่องกับ ทอท. ในการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟสสอง โดยได้นำขึ้นเว็บไซต์แล้วบางส่วน หลังจากนี้ สคร.จะมีการจ้างที่ปรึกษาให้ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวว่ามีการรายงานครบถ้วน ชัดเจน รวมถึงช่วยย่อยข้อมูล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางวิศกรรมให้เปนข้อมูลง่ายๆ เพื่อให้คนทั่วไปเข้าไปดูและเข้าใจได้ไม่ยาก
นายเอกนิติ ยังกล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) ที่ผ่านมาได้มีการเห็นชอบในการควบคุมการตั้งบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจ โดยขณะนี้มีบริษัทลูกอยู่ 120 แห่ง แบ่งเป็น 5 ประเภท คือ 1.บริษัทลูกที่สนันสนุนการทำงานของบริษัทแม่ และมีกำไรก็ให้บริษัทแม่ถือหุ้นต่อไปได้ 2.บริษัทลูกที่สนันสนุนการทำงานของบริษัทแม่ แต่มีผลขาดทุน ก็ต้องทำแผนฟื้นฟูมาให้ คนร.พิจารณา 3.บริษัทลูกที่ไม่มีส่วนสนุบสนุนบริษัทแม่ แต่มีกำไรก็ให้บริษัทแม่ลดสัดส่วนการถือหุ้นลดน้อยลง 4. บริษัทลูกไม่มีส่วนสนุบสนุนกิจการบริษัทแม่ และมีผลขาดทุน ก็ให้บริษัทแม่ลดสัดส่วนหุ้น และให้ยกเลิกกิจการของบริษัทลูก
สำหรับ กลุ่มที่ 5 บริษัทลูกที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อวัตถถุประสงค์พิเศษ เช่น บรรษัทสินเชื่อตลาดรองเพื่อที่อาศัย(บตท.) ตั้งเอสพีวี ขึ้นมาเพื่อระดมทุน หรือกรมธนารักษ์ ตั้งบริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ เพื่อบริหารโครงการศูนย์ราชการ ซึ่งการดำเนินการบริษัทลูกในลักษณะนี้ก็ให้ดำเนินการได้ต่อไป
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย