- Details
- Category: คลัง
- Published: Saturday, 06 February 2016 18:38
- Hits: 2108
คลังจัดสัมมนาส่งเสริมการลงทุนปี 59 ยังมองศก.โลก นโยบายการเงินประเทศมหาอำนาจ - สินค้าเกษตรยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อศก.ไทย
คลังจัดสัมมนาส่งเสริมการลงทุนในปี 2559 ยังมองศก.โลก - นโยบายการเงินประเทศมหาอำนาจ - สินค้าเกษตรยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อศก.ไทย พร้อมเร่งเดินหน้านโยบายภาครัฐฯ ยกปีนี้เป็นปีทองของการลงทุน
นายเกียรติชัย โสภาเสถียรพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนาว่า หากพิจารณาตัวเลขการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 พบว่า เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตามในปี 2559 เศรษฐกิจไทยก็ยังคงเผชิญกับแนวโน้มปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกจากภาวะเศรษฐกิจและการเงินของโลกอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ (1) เศรษฐกิจโลกที่อาจจะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และยังเปราะบาง (2) ความผันผวนของตลาดการเงินโลกซึ่งมีสาเหตุมาจากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกัน (3) ความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร ดังนั้น ปี 2559 จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะเร่งผลักดันให้เกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยลดการพึ่งพิงจากอุปสงค์ภายนอกประเทศและเกิดความสมดุลในโครงสร้างเศรษฐกิจมากขึ้น รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย
นายกฤศ จันทร์สุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวถึงทิศทางนโยบายอุตสาหกรรมไทยในอนาคตจะต้องเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรม ดังนั้น รัฐบาลจึงได้มีการกำหนดทิศทางในการขับเคลื่อนโดยมุ่งสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่สมดุลและยั่งยืน ดังนี้ (1) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในรูปแบบคลัสเตอร์และ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (2) พัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมรวมถึงวิสาหกิจชุมชน (3) ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านผลิตภาพภาคอุตสาหกรรมของไทยจากอันดับปัจจุบันที่ 51 ไปสู่อันดับที่ 45 ขึ้นไป ตามการจัดลำดับประเทศของ IMD พร้อมกับขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมโดยมุ่งสู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนโยบายการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาภาครัฐทั้งกระทรวงการคลังและ BOI ได้ออกมาตรการเพื่อส่งเสริมการลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยผู้ประกอบการสามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ได้ โดยผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจะได้สิทธิประโยชน์ทั้งทางภาษีและมิใช่ภาษี ซึ่ง BOI มีนโยบายในการส่งเสริมการลงทุนหลายรูปแบบ คือ (1) การให้สิทธิประโยชน์ตามประเภทกิจการ (2) การให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของกิจการ (3) สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเชิงพื้นที่ (4) สิทธิประโยชน์สำหรับ SMEs (5) มาตรการเร่งรัดการลงทุน (6) มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ทั้งนี้ ได้มีการยกตัวอย่างการให้สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนผ่านนโยบายส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ และนโยบายการส่งเสริมการลงทุนผ่านเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นการให้สิทธิประโยชน์ในเชิงพื้นที่ร่วมกับเป็นการให้สิทธิประโยชน์ตามคุณค่าของกิจการ
นางสาวสุมาลี สถิตชัยเจริญ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการลงทุน ทางกระทรวงการคลังได้จัดทำมาตรการเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทย ดังนี้
1) สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมกิจการ SMEs แบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ มาตรการด้านการเงินและมาตรการด้านภาษี สำหรับมาตรการทางการเงินประกอบด้วยโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs (Soft Loan) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme และมาตรการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมผ่านการร่วมลงทุนโดยจัดตั้งเป็นกองทุนร่วมลงทุน ในส่วนของมาตรการด้านภาษีประกอบด้วย การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ SMEs เหลือร้อยละ 10 เป็นเวลา 2 รอบระยะเวลาบัญชี มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 รอบระยะเวลาบัญชีสำหรับกิจการ New Start-up
2) มาตรการส่งเสริมการลงทุนทั่วไป ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่ (1) มาตรการหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่าสำหรับการลงทุนในทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินธุรกิจของกิจการ (2) มาตรการหักค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาได้ 3 เท่าและ (4) มาตรการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะยานยนต์ต้นแบบในภูมิภาค โดยการยกเว้นภาษีสรรพสามิต อากรขาเข้า (หากมี) ภาษีมูลค่าเพิ่ม และให้สามารถหักค่าเสื่อมได้เต็มจำนวน สำหรับรถยนต์ต้นแบบที่ผลิตในประเทศหรือนำเข้ามาเพื่อการวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะในประเทศไทย
3) สิทธิประโยชน์ในการลงทุนใน New Growth Engine สำหรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมตลอดจนการให้แรงจูงใจทางการเงินสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายผ่านกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย
4) สิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับการลงทุนโดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการลงทุนใน AEC โดยให้สิทธิประโยชน์สำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนเป็นการทั่วไปหากไม่ได้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI และสิทธิประโยชน์ในการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC)
นายชาญวิทย์ นาคบุรี ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนรัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีทองแห่งการลงทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้าต่อไปของภาครัฐวิสาหกิจมีดังนี้ (1) ปีนี้เป็นปีแห่งการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 58 เห็นชอบงบลงทุนประจำปีงบประมาณ 2559 วงเงินเบิกจ่ายจำนวน 593,167 ล้านบาท โดยภาครัฐวิสาหกิจมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเงินลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย (2) รัฐบาลได้มีมาตรการ PPP Fast Track เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการจาก 25 เดือนลดเหลือ 9 เดือน และขจัดปัญหาการให้ภาคเอกชนมาร่วมลงทุนกับรัฐบาล โดยโครงการที่ภาคเอกชนร่วมลงทุนกับรัฐบาลผ่านมาตรการ PPP Fast Track ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 2 สาย (สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี) (3) กองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) เพื่อการระดมเงินทุนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในโครงการที่มีความเสี่ยงสูง (Green Field Project) และโครงการที่มีความเสี่ยงต่ำ (Brown Field Project) รวมทั้งเป็นการลดภาระเงินลงทุนของภาครัฐ
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย