- Details
- Category: คลัง
- Published: Thursday, 08 May 2014 22:08
- Hits: 4112
คลังออกบอนด์ 4 พันล.ชดเชยขาดดุล ปัดปล่อยกู้อุ้มจำนำข้าว
แนวหน้า : ธกส.เผยชาวนานับแสนยังไม่ได้เงินค่าข้าว ไม่รับปากจะจ่ายหนี้ได้เมื่อไหร่ เผยยอดค้างล่าสุดเหลือ6.4หมื่นล้านบาท ขณะที่กรมบัญชีกลาง ยัน ‘พาณิชย์’ คืนงบกลางที่กู้ยืมก่อนหน้านี้มาคืนทันในวันที่ 31 พ.ค.ตามที่ ‘กกต.’กำหนดแน่ ด้าน ‘สบน.’ออกพันธบัตรรัฐบาลอีกลอต การันตีไม่นำไปปล่อยกู้โครงการรับจำนำแน่ เพราะสถาบันการเงิน กลัวมีความเสี่ยงทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ
มีรายงานจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แจ้งว่า ขณะนี้ยังมีเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับเงินค่าข้าวใน โครงการรับจำนำข้าวประมาณ 7 แสนราย คิดเป็นเงินเงินค้างจ่ายอีก 9.4 หมื่นล้านบาท ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะจ่ายได้เมื่อไหร่ แม้ว่า ก่อนหน้านี้ กรมการค้าต่างประเทศ ได้ขอกู้ยืมเงินทดลองราชการ จาก กระทรวงการคลัง ซึ่งเงินงบประมาณกลาง 2หมื่นล้านบาทมาจ่ายแล้วก็ตาม
“ผมเองก็ไม่รู้ ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาล โดย กระทรวงการคลัง กับ กระทรวงพาณิชย์ จะหาเงินมาจ่ายอย่างไร”แหล่งข่าวกล่าว
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ตามที่ คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้อนุมัติในหลักการให้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในวงเงิน 20,000 ล้านบาท ให้ กรมการค้าต่างประเทศ เพื่อขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลังตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ พ.ศ. 2547 เพื่อนำไปจ่ายให้แก่ชาวนาตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/2557 นั้น ตามขั้นตอนเมื่อได้รับกระแสเงินสดจากกระทรวงการคลังและ การระบายข้าว หรือขายข้าวแล้ว ให้กรมการค้าต่างประเทศ นำเงินจำนวนดังกล่าว มาชดใช้คืนเงินทดรองราชการต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)กำหนดให้ชดใช้คืนเงินทดรองราชการ ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2557
อย่างไรก็ดีที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศ ได้มีการส่งคืนแล้ว จำนวน 10,734 ล้านบาท ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2557 ได้นำส่งคืนอีกจำนวน 4,675 ล้านบาท รวมได้ส่งคืนเงินทดรองราชการแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 15,409 ล้านบาท คงเหลืออีก 4,591 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำเงินจำนวนที่เหลือนี้ส่งคืนได้ภายใน 31 พฤษภาคม ตามที่ กกต.กำหนดไว้ได้อย่างแน่นอน
ด้านนายสุวิชญ โรจนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กล่าวว่า ในวันที่ 8 พฤษภาคม.2557นี้ สบน.จะออกพันธบัตรออมทรัพย์รัฐบาลให้กับนักลงทุนรายย่อยจำนวน 4,000 ล้านบาท อายุ 3 ปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการกู้เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณ 2557 พร้อมยืนยันว่าจะไม่ไปนำไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าว เพราะสถาบันการเงินเกรงว่าจะนำไปปล่อยกู้ให้โครงการนี้แล้ว จะมีความเสี่ยงกฎหมายรัฐธรรมนูญ
“การออกพันธบัตรรัฐบาลได้รับความสนใจจากสถาบันการเงินมากขึ้น แต่สถาบันการเงินได้ขอข้อมูลการออกพันธบัตรในแต่ละรุ่นว่าจะออกพันธบัตรไปทำอะไร เพราะสถาบันการเงินเกรงว่าจะนำไปปล่อยกู้ให้โครงการรับจำนำของรัฐบาล และจะมีปัญหาได้ในภายหลัง โดยสถาบันการเงินกลัวว่าจะมีความเสี่ยง”นายสุวิชญ กล่าว
ส่วนการจำหน่ายนักลงทุนรายย่อยที่สนใจสามารถซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ นอกจากนี้ ผู้ที่สนใจยังสามารถซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคารทั้ง 4 แห่ง โดยซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อหนึ่งชื่อบัญชีต่อหนึ่งธนาคาร ผลตอบแทนจะต่ำกว่าพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นก่อนหน้านี้ ที่ให้ผลตอบแทน 3.85% ต่อปี เนื่องจากในขณะนี้ทาง สำนักงานนโยบายการเงิน(กนง.)ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ 2.00% จากในขณะนั้นอยู่ที่ 2.50%
“ในไตรมาส 3 ของปีงบประมาณ 2557 สบน.มีแผนการออกพันธบัตรทั้งหมด 1.13 แสนล้านบาท ซึ่งพันธบัตรออมทรัพย์ดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งในแผนการ ในส่วนที่เหลือจะเป็นการออกพันธบัตรในประเภทใดนั้นจะมีการเปิดเผยในภายหลัง”นายสุวิชญ กล่าว