WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Cกฤษฎา จนะวจารณะผอ.สศค.เผย ดีเดย์จัดเก็บภาษีมรดก สำหรับผู้ที่รับมรดกมากกว่า 100 ลบ.ต้องเสียภาษี เริ่ม 1 ก.พ.นี้

      ผอ.สศค.เผย ดีเดย์จัดเก็บภาษีมรดก สำหรับผู้ที่รับมรดกมากกว่า 100 ลบ. ต้องเสียภาษี เริ่ม 1 ก.พ.นี้ นับจากวันที่รับมรดก 150 วัน พร้อมสามารถยื่นคำร้องขอผ่อนชำระภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ในฐานะโฆษก กระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกฎหมายลำดับรองออกตามความในพ.ร.บ.ภาษีรับมรดก พ.ศ.2558 และพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ.2558 ว่า ที่ประชุมครม.ได้รับทราบตามที่กระทรวงการคลังเสนอเรื่องกฎหมายดังกล่าวเมื่อการประชุมครม.เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยหลังจากนี้จะอยู่ในกระบวนการในการตรวจร่างกฤษฎีกา และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.พ. 59 โดยระบุว่าผู้รับมรดก ซึ่งประกอบด้วยอสังหาริมทรัพย์ / หลักทรัพย์ / เงินฝาก / ยานพาหนะ รวมถึงตราสารทางการเงิน ที่มีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาทจะต้องเสียภาษี โดยนับจากวันที่รับมรดก 150 วัน 

      ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการแจ้งการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดกนั้น เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก ให้แจ้งการจดทะเบียนนั้นต่อกรมสรรพากร ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ซึ่งกรณีที่ต้องเสียภาษีนั้น ให้นับจากวันที่รับมรดก 150 วัน ซึ่งสามารถเลือกการผ่อนชำระภาษีได้ โดยผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องแสดงรายการภาษีภายในระยะเวลาที่กำหนด และสามารถยื่นคำร้องขอผ่อนชำระภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี พร้อมกำหนดวิธีการผ่อนชำระ โดยการกำหนดจำนวนปี จำนวนงวด และจำนวนเงินที่ต้องชำระในแต่ละงวด

    นอกจากนี้ ผู้ขอผ่อนชำระต้องจัดหาหลักประกันที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่าภาษีที่ต้องชำระ ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันยื่นคำร้อง และกรณีที่ผ่อนชำระภาษีภายใน 2 ปี จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม กรณีผ่อนชำระภาษีเกินกว่า 2 ปีต้องเสียเงินเพิ่ม 0.5% ต่อเดือน โดยคำนวณเงินเพิ่มตั้งแต่วันที่การขอผ่อนชำระมีผลบังคับ หากผู้ผ่อนชำระภาษีนำเงินมาชำระภาษีครบถ้วนภายใน 2 ปี ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียเงินเพิ่มและให้นำเงินเพิ่มและให้นำเงินเพิ่มที่ชำระแล้วมาหักออกจากภาษีที่ต้องชำระ ขณะเดียวกันกรณีผิดนัดไม่ชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่ง จะหมดสิทธิการผ่อนชำระภาษีและต้องชำระภาษีที่ค้างอยู่พร้อมกับเงินเพิ่ม

     นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนกรณียกเลิกการยกเว้นเงินได้บางประเภท ประกอบด้วย เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทน ได้แก่ บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมบุตรบุญธรรม เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น และให้ยกเว้นเงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์ครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของตนโดยไม่มีค่าตอบแทนบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมด้วย

   สำหรับ บุคคลที่ได้รับยกเว้นมรดก ได้แก่ บุคคลผู้ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่า มีความประสงค์ให้ใช้มรดกนั้น เพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือ กิจการสาธารณประโยชน์ ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ แต่ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัท องค์การมหาชนหน่วยงานของรัฐที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐที่มีกฎหมายจัดตั้งโดยเฉพาะ วัดวาอาราม สภากาชาดไทย มูลนิธิหรือสมาคมตามประกาศกระทรวงการคลัง สถาบันอุดมศึกษาเอกชนและโรงเรียนเอกชย แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน

    อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีมูลนิธิ หรือ สมาคมที่ได้รับมรดกนั้น จะต้องนำส่งเอกสาร ได้แก่ สำเนาพินัยกรรม เอกสารเกี่ยวกับการโอนทรัพย์สินเป็นมรดกตามพินัยกรรม หนังสือแจ้งผลการประกาศให้เป็นองค์การหรือสาธารณกุศล งบดุล บัญชี รายได้รายจ่าย ต่อกรมสรรพากร โดยกรมสรรพากรจะทำการตรวจสอบและติดตามการรับมรดกต่อเนื่องเป็นเวลา 9 ปี ว่าดำเนินการตามที่เจ้ามรดกแจ้งวัตถุประสงค์ไว้หรือไม่

 * รายละเอียดสำหรับกฎหมายลำดับรองออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558

   เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เรื่อง กฎหมาย ลำดับรองออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558 อันประกอบด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในแจ้งการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก และอนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกาฯ จำนวน 1 ฉบับ และร่างกฎกระทรวงฯ จำนวน 6 ฉบับ ดังนี้

  1. การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการแจ้งการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดกเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก ให้แจ้งการจดทะเบียนนั้นต่อกรมสรรพากร ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการรับชำระและนำส่งภาษีอากรจากการขายอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2542 ดังนี้

   (1)     ระยะเวลาในการจัดส่ง

 -       สำหรับการจดทะเบียนระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 15 ให้แจ้งภายในวันที่ 20 ของเดือนเดียวกัน

 -       สำหรับการจดทะเบียนระหว่างวันที่ 16 ถึงวันสิ้นเดือน ให้แจ้งภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป

   (2)  วิธีการนำส่ง

 - กรณีมีการจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินในเขตกรุงเทพมหานคร ให้นำส่งต่อกรมสรรพากร สำนักงานใหญ่

 - กรณีมีการจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินในต่างจังหวัด ให้นำส่งต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่แต่ละจังหวัด

   2. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ว่าด้วยการกำหนดประเภทบุคคล หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการตรวจสอบติดตามบุคคลที่ได้รับยกเว้นภาษี

การรับมรดก ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มีรายละเอียด ดังนี้

   (1)      บุคคลที่ได้รับยกเว้นภาษีการรับมรดก ได้แก่

 - บุคคลผู้ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่า มีความประสงค์ให้ใช้มรดกนั้นเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์

 - ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ แต่ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัท องค์การมหาชนหน่วยงานของรัฐที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐที่มีกฎหมายจัดตั้งโดยเฉพาะ

 - วัดวาอาราม สภากาชาดไทย มูลนิธิหรือสมาคมตามประกาศกระทรวงการคลังฯ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนและโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน

 - บุคคลหรือองค์การระหว่างประเทศตามข้อผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศ องค์การสหประชาชาติ ทบวงชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ สถานเอกอัครราชทูต สถานทูต สถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุล บุคคล ในคณะทูต บุคคลในคณะกงสุล และบุคคลที่ถือว่าอยู่ในคณะทูตตามความตกลง ตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติกับนานาประเทศ

   (2)      หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการตรวจสอบติดตามการรับมรดกของมูลนิธิหรือสมาคม มีดังนี้

 - ให้นำส่งเอกสาร ได้แก่ สำเนาพินัยกรรม เอกสารเกี่ยวกับการโอนทรัพย์สินอันเป็นมรดกตามพินัยกรรม หนังสือแจ้งผลการประกาศให้เป็นองค์การหรือสาธารณกุศล ข้อบังคับ รายงานการประชุมใหญ่ งบดุล บัญชีรายได้รายจ่าย ฯลฯ ต่อกรมสรรพากร

 - ให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของเอกสารหลักฐาน รายงานประชุมงบดุล และบัญชีรายได้รายจ่าย และรายงานการดำเนินงานของมูลนิธิหรือสมาคมว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเจ้ามรดกหรือไม่มีการดำเนินงานในลักษณะเป็นทางค้าหรือหากำไรหรือไม่ หรือมีการหาประโยชน์ส่วนตัวหรือไม่

 - กรณีตรวจสอบพบความไม่ถูกต้องครบถ้วน โดยไม่มีเหตุอันควร หรือมีการดำเนินงานไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเจ้ามรดก ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง มีการดำเนินงานในลักษณะเป็นทางค้าหรือหากำไร หรือเพื่อหาประโยชน์ส่วนตัว มูลนิธิหรือสมาคมต้องรับผิดในการเสียภาษีการรับมรดก พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม

   3. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ว่าด้วยการกำหนดทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ตามมาตรา 14 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดกพ.ศ. 2558

กำหนดให้ทรัพย์สินดังต่อไปนี้ เป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย

 - อสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย

 - หลักทรัพย์ที่ออกโดยนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยหรือจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

 - เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนหรือสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้ ซึ่งอยู่ในประเทศไทย

 - ยานพาหนะที่จดทะเบียนในประเทศไทย

   4. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์การหักภาระที่ถูกรอนสิทธิในการคำนวณมูลค่ามรดกที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 15 (1) แห่งพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มีรายละเอียด ดังนี้

   (1) ภาระที่ถูกรอนสิทธิ หมายความว่า ภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ ที่ตกติดมากับอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก รวมถึงสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่มีการชำระค่าตอบแทนเป็นการล่วงหน้าตลอดระยะเวลาของการเช่า ที่ตกติดมากับอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก

   (2) ค่าตอบแทน หมายความว่า เงินที่ได้รับล่วงหน้า เพื่อเป็นการตอบแทนจากภาระที่ถูกรอนสิทธิตลอดระยะเวลาของภาระ

 - กรณีที่เจ้ามรดกมิได้รับค่าตอบแทนใดๆ จากภาระที่ถูกรอนสิทธิ ให้คำนวณมูลค่าภาระที่ถูกรอนสิทธิจากมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับมรดก คูณด้วยอัตราส่วนลดตามจำนวนปีที่ผู้ได้รับมรดกจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์นั้นนับตั้งแต่วันที่ได้รับมรดก

 - กรณีที่เจ้ามรดกได้รับค่าตอบแทนใดๆ จากภาระที่ถูกรอนสิทธิ ให้คำนวณมูลค่าภาระที่ถูกรอนสิทธิ โดยนำค่าตอบแทนที่พึงคำนวณได้คูณด้วยอัตราส่วนลดตามที่กำหนด  ทั้งนี้ ค่าตอบแทนที่พึงคำนวณได้ หมายถึง ค่าตอบแทนเฉลี่ยเป็นรายปีตามกำหนดเวลาที่ถูกรอนสิทธิ คูณระยะเวลาที่ผู้ได้รับมรดกจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์นั้น นับตั้งแต่วันที่ได้รับมรดก

 ทั้งนี้ อัตราส่วนลดตามจำนวนปีที่ผู้ได้รับมรดกจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์คำนวณจากมูลค่าปัจจุบันสุทธิ ( Net Present Value: NPV) ของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกรอนสิทธินั้น

   5. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. .... ว่าด้วยการคำนวณมูลค่าของทรัพย์สิน ตามมาตรา 15 (3) แห่งพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558

มีรายละเอียด ดังนี้

   (1) การคำนวณมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ซึ่งตั้งอยู่ในต่างประเทศ ให้ใช้ราคาตลาดในวันที่ได้รับมรดก

   (2) การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่เป็นหลักทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

แห่งประเทศไทย ให้ถือตามราคาหรือมูลค่าอันพึงมีในวันที่ได้รับมรดก เว้นแต่

   (2.1) หุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ถือมูลค่าหุ้นเท่ากับมูลค่าทางบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้น

   (2.2) ตั๋วเงินคลัง พันธบัตร ตั๋วเงิน หุ้นกู้ ให้ใช้ราคาที่จำหน่ายในครั้งแรกหรือราคาไถ่ถอนแล้วแต่ราคาใดจะต่ำกว่า

   (3) การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่เป็นยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียนให้ถือเอา

ราคาตลาดในวันที่ได้รับมรดก

   (4) การคำนวณมูลค่าของเงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนหรือสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้ ให้ถือเอาตามมูลค่าในวันที่ได้รับมรดกนั้น

   6. ร่างพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการผ่อนชำระภาษีการรับมรดก พ.ศ. .... ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มีรายละเอียด ดังนี้

   (1) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในกำหนดเวลา สามารถยื่นคำร้องขอผ่อนชำระภาษีภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี

   (2) ผู้ขอผ่อนชำระยื่นคำร้องขอผ่อนชำระภาษีตามแบบที่อธิบดีกำหนด พร้อมกำหนดวิธีการผ่อนชำระภาษี โดยการกำหนดจำนวนปี จำนวนงวด และจำนวนเงินที่จะต้องชำระในแต่ละงวด

   (3) ผู้ขอผ่อนชำระต้องจัดหาหลักประกันที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่าภาษีที่ต้องชำระ ภายใน 30 วันนับแต่วันยื่นคำร้อง

   (4) กรณีผ่อนชำระภาษีภายใน 2 ปี ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม กรณีผ่อนชำระภาษีเกินกว่า 2 ปีต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 0.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน โดยคำนวณเงินเพิ่มตั้งแต่วันที่การขอผ่อนชำระมีผลบังคับ หากผู้ผ่อนชำระภาษีนำเงินมาชำระภาษีครบถ้วนภายใน 2 ปี ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียเงินเพิ่มและให้นำเงินเพิ่มที่ชำระแล้วมาหักออกจากภาษีที่ต้องชำระ

       (5) กรณีผิดนัดไม่ชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่ง จะหมดสิทธิการผ่อนชำระภาษีและต้องชำระภาษี     ที่ค้างอยู่พร้อมกับเงินเพิ่ม

  7. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558บุคคลผู้ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่า มีความประสงค์ให้ใช้มรดกนั้นเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์

  8. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรยกเลิกการยกเว้นเงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของตนโดยไม่มีค่าตอบแทน บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมตาม (18) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!