WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Gกลยาสศค.เล็งปรับจีดีพีหลังปีใหม่

     บ้านเมือง : น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการภาษีที่ให้ประชาชนนำค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการ ตั้งแต่วันที่ 25-31 ธันวาคม 2558 หักลดหย่อนภาษีตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท นั้น จะสามารถช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศในเดือนธันวาคม โดยมาตรการภาษีที่ออกมาใช้ 7 วัน มีผู้ที่ได้รับสิทธิ์การลดหย่อนภาษี ประมาณ 3 ล้านคน แต่คาดว่าจะมีผู้บริโภคใช้จ่ายประมาณร้อยละ 50 ของผู้ที่ได้รับสิทธิ์ทั้งหมด ซึ่งหากใช้จ่ายสูงสุดที่ 15,000 บาท ต่อคน จะมีเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ 22,500 ล้านบาท จะช่วยจีดีพี ขยายตัวขึ้นร้อยละ 0.1 การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4

     โดย สศค. ยังคงประมาณการเศรษฐกิจปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.8 แต่อาจจะใกล้เคียงร้อยละ 3 มากขึ้น เพราะมีหลายมาตรการเสริม แต่ยอมรับกังวลการส่งออกในเดือนพฤศจิกายนที่หดตัวลงมากถึงร้อยละ 7.4 ทำให้ทั้งปีการส่งออกติดลบมากกว่าที่คาดการณ์คือติดลบร้อยละ 5.5 จากเดิมคาดติดลบร้อยละ 5.4 ซึ่ง สศค. จะมีการปรับประมาณการใหม่ในเดือนมกราคมนี้

     น.ส.กุลยา กล่าวต่อว่า ในปี 2559 สศค. คาดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ ร้อยละ 3.8 โดยยังมีความเป็นห่วงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่น ดังนั้น การฟื้นตัวยังเปราะบาง ขณะที่มีความผันผวนทางการเงินโลก การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศขนาดใหญ่ในโลก ใช้นโยบายการเงินไม่สอดคล้องกัน กระทบเงินทุนเคลื่อนย้าย ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังต่ำ และราคาน้ำมันยังอยู่ในขาลง ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรทรงตัวในระดับต่ำ กระทบรายได้เกษตรกร และยังมีปัญหาภัยแล้งกดดัน

     อย่างไรก็ตาม มีความหวังจากการลงทุนภาครัฐ ที่คาดว่าเม็ดเงินจะมากกว่าปีนี้ หลายโครงการประมูลได้โดยเฉพาะการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โครงข่ายรถไฟฟ้า การก่อสร้างทางหลวงพิเศษ การขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนการท่องเที่ยวเป็นตัวสนับสนุนเช่นกัน นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไทยจะขยายตัวเกินร้อยละ 10 บวกกับการค้าชายแดนเร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะจากเมียนมา ลาว กัมพูชา จะส่งผลให้การส่งออกในปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 2.5 แต่มีแนวโน้มต่ำกว่านี้ได้

คลังเผยเศรษฐกิจ พ.ย.58 ใช้จ่ายเอกชน-ภาครัฐช่วยหนุน แม้ส่งออกยังหดตัว

      น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน พ.ย.58 ว่า เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจบ่งชี้สัญญาณการใช้จ่ายภายในประเทศของภาคเอกชนเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้มีการปรับตัวดีขึ้นในเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ การใช้จ่ายของรัฐบาลยังถือเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการส่งออกยังคงหดตัวจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่ยังอ่อนแอ

      สำหรับ การบริโภคภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล พบว่าขยายตัวร้อยละ 4.0 ต่อเดือน จากการขยายตัวของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวร้อยละ 7.0 ต่อปีเป็นสำคัญ สำหรับปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -12.0 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลพบว่า ขยายตัวร้อยละ 3.9 ต่อเดือน สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 6.9 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลพบว่า ขยายตัวร้อยละ 6.6 ต่อเดือน จากการขยายตัวของปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ทั้งในเขตภูมิภาค และในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

      นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันอยู่ที่ระดับ 63.4 โดยมีปัจจัยบวกจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่ดีขึ้นจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นสำคัญ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่า มาตรการภาษีล่าสุดที่ออกมาในช่วงปลายปี 2558 โดยการให้หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าและบริการภายในประเทศในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 58 ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท จะสามารถช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศในช่วงสิ้นเดือน ธ.ค.58 ต่อไป

       สำหรับ การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 20.3 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลพบว่าขยายตัวร้อยละ 17.6 ต่อเดือน ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค.58 ที่ผ่านมา

      ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลพบว่า ขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อเดือน สำหรับการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์พบว่า ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน โดยขยายตัวร้อยละ 15.7 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลพบว่า ขยายตัวร้อยละ 16.2 ต่อเดือน

     สถานการณ์ด้านการคลังในเดือน พ.ย.58 สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนของรัฐบาลที่ยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง และดุลงบประมาณที่ขาดดุล โดยการเบิกจ่ายงบประมาณรวมสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 232.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 13.2 ต่อปี โดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 209.0 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.7 ต่อปี แบ่งออกเป็น 1.รายจ่ายประจำ 197.5 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14.9 ต่อปี และ 2.รายจ่ายลงทุน 11.5 พันล้านบาท ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 31.0 ต่อปี สำหรับการจัดเก็บรายได้รัฐบาลพบว่ารัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ได้จำนวน 179.4 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.0 ต่อปี ส่งผลให้ดุลงบประมาณขาดดุล -54.2 พันล้านบาท สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย

      ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้า พบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -7.4 ต่อปี ขณะที่ภาคการส่งออกยังคงหดตัวจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่ยังอ่อนแอ และทำให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 58 มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ -5.5 ต่อปี ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -9.5 ต่อปี และทำให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 58 มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวร้อยละ -11.2 ต่อปี ทั้งนี้ ดุลการค้าระหว่างประเทศในเดือน พ.ย.58 เกินดุลเล็กน้อยที่ 0.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

      ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ระดับ 85.8 สำหรับภาคการท่องเที่ยวสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ขยายตัวร้อยละ 5.1 ต่อปี ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่ภาคเกษตรกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ -26.2 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -4.8 ต่อปี โดยเป็นผลมาจากการหดตัวของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะผลผลิตข้าวเปลือกที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องจากผลกระทบของปัญหาภัยแล้ง ประกอบกับยางพารา และปาล์มน้ำมันที่หดตัว เป็นสำคัญ

    ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานในเดือน พ.ย.58 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.5 แสนคน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี จากปัจจัยการปรับลดลงของราคาน้ำมัน ราคาไฟฟ้า และราคาเนื้อสัตว์ เป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี

     สำหรับ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือน ต.ค.58 อยู่ที่ระดับร้อยละ 43.8 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน พ.ย.58 ที่อยู่ในระดับสูงที่ 155.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.8 เท่า

สศค.ลุ้น GDP ปี 58 โต 3% จากมาตรการช้อปช่วยชาติ จากเดิมคาด 2.8%

                สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ประเมินว่า จากมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงปลายปี 2558 (มาตรการช้อปช่วยชาติ) จะมีส่วนสนับสนุนให้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ของไทยในปีนี้เติบโตได้เพิ่มขึ้นเป็น 3% จากก่อนหน้าที่คาดไว้ที่ 2.8% โดยน่าจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศให้เพิ่มขึ้นอีก 0.4% พร้อมคาดว่าจากช่วงเวลา 7 วัน (25 ธ.ค.-31 ธ.ค.58) ภายใต้กำหนดเวลาของมาตรการดังกล่าวจะมียอดการใช้จ่ายราว 2.25 หมื่นล้านบาท และมีประชาชนมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 50% ของจำนวนผู้เสียภาษีที่มีสิทธิ 3 ล้านคน

     น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค. ยังคงเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2558 ไว้ที่ 2.8% แต่ยอมรับว่ายังมีปัจจัยเสริมจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลออกมาก่อนหน้านี้ รวมถึงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย 1.5 หมื่นบาท สามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรม ที่จะช่วยทำให้การขยายตัวของ GDP เติบโตได้ใกล้ 3%

    ขณะที่ภาคการส่งออกยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากระทบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ซึ่งอาจทำให้การขยายตัวของตัวเลขส่งออกไทยในปีนี้ชะลอตัวลงจากปัจจุบันคาดว่าจะติดลบ 5.4% โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2558 ที่ผ่านมา ภาคการส่งออกของไทย ติดลบไปแล้ว 5.5%

     "สศค.ประเมินว่ามาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วง 7 วันสุดท้ายของปี 2558 (25-31 ธ.ค.) จะช่วยให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.1% โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 2.25 หมื่นล้านบาท จากจำนวนผู้มีสิทธิขอลดหย่อนภาษีทั้งสิ้น 3 ล้านคน โดยในจำนวนนี้คาดว่า 50% จะมียอดใช้จ่ายและขอใช้สิทธิเพิ่มขึ้น รวมทั้งมองว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นตัวช่วยผลักดันให้การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 0.4%" นางสาวกุลยา กล่าว

    สำหรับ ในปี 59 สศค.ยังคงคาดว่า GDP จะเติบโตได้ 3.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญมาจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นกว่าปีนี้, การเร่งลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่, มอเตอร์เวย์, โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ, โครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวก็จะเข้ามาเป็นปัจจัยหนุนสำคัญด้วย โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังขยายตัวได้ดีในเลข 2 หลัก และการค้าชายแดนจะเข้ามามีส่วนในการสนับสนุนเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปยังพม่า ลาว กัมพูชา เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศดังกล่าวยังขยายตัวได้ดีที่ระดับ 7-8%

    น.ส.กุลยา กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาในปีหน้า ได้แก่ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น จีน ไปจนถึงญี่ปุ่นที่เริ่มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ตัวเลขการส่งออกในปี 59 ปรับตัวลดลงจากคาดการณ์ปัจจุบันที่ 2.5% แต่ยังเชื่อมั่นว่าจะยังขยายตัวเป็นบวกได้แน่นอน

     นอกจากนี้ ยังต้องจับตาความผันผวนในตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายในทิศทางต่างๆ ของประเทศมหาอำนาจที่ไม่สอดคล้องกัน ทำให้เกิดผลกระทบด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย และอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนมากขึ้น ไปจนถึงความผันผวนในราคาสินค้าเกษตรและน้ำมันที่ยังอยู่ในช่วงขาลง

         อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!