- Details
- Category: คลัง
- Published: Saturday, 28 November 2015 17:27
- Hits: 3671
คลังสั่งแบงก์รัฐอัดฉีดเอสเอ็มอี-คนจนพลิกฟื้นเศรษฐกิจฐานราก
แนวหน้า : คลังสั่งแบงก์รัฐเร่งอุดช่องว่างการเงิน หลังพบเอสเอ็มอี เข้าไม่ถึง 1.5 ล้านราย ผู้มีรายได้น้อยเป็นหนี้นอกระบบกว่า 6 แสนครัวเรือน ด้านหอการค้าฯเผยเศรษฐกิจภูมิภาคยังคงทรงตัว แนะรัฐกระจายเม็ดเงิน ลงสู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึง เพื่อผลประโยชน์โดยรวม
รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงผลการประเมินเรื่องช่องว่างทางการเงินที่กระทรวงการคลัง ได้สั่งให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกรายปรับทิศทางการทำงานให้สอดรับเรื่องการเติมช่องว่างทางการเงินให้คนระดับฐานราก พบว่าในกลุ่ม ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ทั้งประเทศอยู่ประมาณ 2.7 ล้านราย แต่มีเอสเอ็มอี 1.5 ล้านราย ที่ยังไม่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน ส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำกว่า 10 ล้านบาทต่อปี
ส่วนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยพบว่า เป็นหนี้นอกระบบกว่า 6 แสนครัวเรือน เพราะยังมีคนเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินกว่า 1.3 ล้านครัวเรือน แต่ใช้บริการองค์กร การเงินชุมชนกว่า 1.76 ล้านครัวเรือน ส่วนกลุ่มเกษตรกร มีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้ให้บริการหลักครอบคลุมภาคเกษตรได้เกือบทั้งหมด ด้านที่อยู่อาศัย พบว่ามีประชาชนที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินกว่า 2.61 ล้านครัวเรือน และมีผู้ที่ถูกปฏิเสธการขอสินเชื่อมากกว่า 0.5 ล้านครัวเรือน ด้านการเงินอิสลามพบว่ามีคนถึง 3.26 ล้านครัวเรือนที่ไม่ได้ใช้บริการเงินฝากกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ ไอแบงก์
สศค. เสนอแนวนโยบายการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือแบงก์รัฐ โดยให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. เป็นแหล่งทุนให้เอสเอ็มอีมากขึ้น และให้เพิ่มสถาบันการเงินชุมชน ดูแลสหกรณ์การเกษตรให้เข้มแข็ง ขณะที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ให้เน้นการให้บริการตามระดับรายได้ เพิ่มนวัตกรรมสำหรับผู้มีรายได้น้อยและเป็นธนาคารเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซิมแบงก์ ให้เน้นเรื่อง ความเสี่ยงการลงทุน ให้มีประกันการส่งออกระยะสั้น ปานกลางและยาว พัฒนาผู้ประกอบการส่งเสริมเรื่องนวัตกรรม ความรู้ใหม่ๆ ให้มากขึ้น ส่วนธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ ให้เน้นเรื่องการพัฒนาศักยภาพรายย่อย และให้บริการ รูปแบบใหม่ๆ นอกจากสินเชื่อ
ไอแบงก์ ให้เพิ่มเรื่องรูปแบบธุรกิจร่วมกับองค์กรชุมชนอิสลาม ขยายฐานลูกค้ามุสลิมและออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องตามหลักศาสนา ด้านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. ให้ขยายขอบเขตการค้ำประกันไปยังนันแบงก์ ขยายประเภทของวิสาหกิจชุมชน และบรรษัทตลาดรองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ บตท. ให้ทำเรื่องมอร์เกจ อินชัวร์รัน สินเชื่อผู้มีรายได้น้อย และเป็นที่ปรึกษาทางการเงินได้
ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ กรรมการรองเลขาธิการ และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยขณะนี้ยังคงทรงตัว แต่เป็นการทรงตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนเศรษฐกิจของภาคกลางตอนนี้ก็ยังทรงตัวตามกำลังซื้อที่ยังมีไม่มาก แม้คนจะเริ่มมีความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายมากขึ้น แต่ก็ยังระมัดระวังตัวอยู่ ขณะที่การท่องเที่ยวซึ่งเริ่มต้นช่วงไฮซีซั่นมาตั้งแต่เดือนตุลาคม แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังน้อย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงการส่งออกที่ติดลบมาต่อเนื่อง 10 เดือนยังทำให้คนกังวลกับการใช้จ่าย
สำหรับ แนวโน้มเศรษฐกิจของภาคกลาง ส่วนใหญ่ จะขึ้นกับสินค้าเกษตร หากราคาไม่ดี ก็จะมีผลต่อกำลังซื้อ อีกทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ยังไม่ดีมากอย่างที่ คาดการณ์ไว้ ส่วนนักท่องเที่ยวไทยจะเที่ยวในช่วงเทศกาล สำคัญมากกว่า ทำให้ช่วงไฮซีซั่นไม่คึกคักมาก
ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นทางหอการค้าไทย มีการทำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งก็ยอมรับว่ามีเอสเอ็มอีได้ประโยชน์จำนวนมาก แต่ก็มีบางส่วนเสียโอกาส เนื่องจากหนี้ครัวเรือน เป็นเหตุให้การ ใช้จ่าย และการลงทุนไม่ดีนักถือว่าสำเร็จในระดับหนึ่ง ขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลตำบลละ 5 ล้านบาท คาดว่าดำเนินการได้แล้วประมาณ 50% ซึ่งการกระตุ้นต้องมี การกระจายไปให้ทั่วถึงประชาชนส่วนรวมได้รับประโยชน์ต้องเป็นกิจกรรมที่ทำให้เงินมีการหมุนเวียนในระบบของคนส่วนใหญ่ ไม่ควรกระจุกตัวเพียงจุดเดียว เพื่อให้การกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นให้ได้ประโยชน์มากที่สุด
"อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นเศรษฐกิจที่กระจายไป ทั่วประเทศ ต้องไม่เป็นในลักษณะเดียวกันทั้งหมด ต้องดูความต้องการของแต่ละพื้นที่ ให้สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่นนั้นๆ"
นายวิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ ประธานคณะกรรมการ พัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของภาคเหนือตอนนี้ถือว่าพอใช้ เนื่องจากราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าว ราคาทรงตัวในระดับดี เพราะผลผลิตที่ลดลง โดยข้าวหอมมะลิ อยู่ที่ 9,000-12,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก ข้าวขาว 7,000-8,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก ซึ่งมีผลดีต่อกำลังซื้อของเกษตรกร ขณะที่กำลังซื้อทั่วไปก็ถือว่าอยู่ในระดับดี เพราะเริ่มมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวในภาคเหนือ และอัตราการจองห้องพักในสถานที่จังหวัดภาคเหนือ ถือว่าดีมาก
ทั้งนี้ ในการที่หอการค้าจังหวัด ได้รับมอบหมายให้ดูในการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ขณะนี้ทางหอการค้าแต่ละจังหวัดก็มีการสอดส่องดูแลอย่างเต็มที่ ให้เม็ดเงินของภาครัฐที่ลงมากระตุ้นเศรษฐกิจสามารถกระจายไปอย่างทั่วถึง ใช้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ ขณะเดียวกันหอการค้าเองก็ดำเนินการโครงการต่างๆ ของหอการค้าอย่างต่อเนื่อง เช่น 1 หอการค้า 1 สหกรณ์ ที่เข้าไปดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกร ก็มีความคืบหน้าไปมาก รวมถึงการเข้าไปให้คำแนะนำต่างๆ