- Details
- Category: คลัง
- Published: Tuesday, 24 November 2015 00:05
- Hits: 7579
'ไทยแลนด์อินฟราฟันด์'1แสนล้านบาท อีก 2-3 สัปดาห์ชงครม.เคาะ ลุย 5 โครงการใหญ่คลังดึงเงินประกันปั๊มลงทุน
แนวหน้า : ปลัดกระทรวงการคลัง เล็งดึงเม็ดเงินธุรกิจประกัน ช่วยกระตุ้นการลงทุน ผ่านรูปแบบ PPP และกองทุน หลังต้นปีหน้า รถไฟฟ้า 3 สาย มอเตอร์เวย์อีก 2 เส้นทาง จะเริ่มปักเสา ด้าน รมว.คลัง คาดอีก 2-3 สัปดาห์ จะเสนอให้ ครม.พิจารณารูปแบบ 'ไทยแลนด์อินฟราฟันด์'ขนาดกองทุน 1 แสนล้านบาท เผยเบื้องต้นอาจคล้าย กองทุนวายุภักษ์ ตลท.ขานรับ ร่วมเป็นช่องทางช่วยระดมเงิน
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวระหว่างร่วมงาน "ประกันภัยกับบริบทของเศรษฐกิจไทย" ว่า ธุรกิจประกันภัยมีเงินออมระยะยาวสอดคล้องกับความต้องการของรัฐบาลในการระดมทุนผ่านกองทุน Future Infrastructure Fund เนื่องจากรัฐบาลต้องการระดมทุนจากภาคเอกชนผ่านกองทุน และผ่านการร่วมลงทุนแบบ PPP รวมไปถึงนักลงทุนสถาบัน เช่น สถาบันการเงิน กองทุน กบข., กองทุนประกันสังคม
ขณะนี้ ได้กำหนดเงื่อนไขการจัดตั้งกองทุนไว้หลายด้าน เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาในช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า เมื่อเอกชนชะลอการลงทุนรัฐบาลจึงได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนของเอสเอ็มอี และให้รายย่อยลงทุนประกอบอาชีพ ผ่านโครงการต่างๆ เงินจะเริ่มออกสู่ระบบจึงมองว่าเศรษฐกิจไตรมาส 4 เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น หลังจากนั้นในปีหน้า รัฐบาลจะเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ทั้งรถไฟฟ้า 3 เส้นทาง ทั้งสายสีชมพู สีเหลือง สีน้ำเงิน มอเตอร์เวย์ 2 เส้นทาง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา,กรุงเทพฯระยอง ธุรกิจประกันภัยจึงมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงต้องนำมาช่วยขับเคลื่อนประเทศให้ได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจากเป็นภาคที่มีความสำคัญในการระดมเงินออมระยะยาว การช่วยลดความเสี่ยงด้านต่างๆ และลดภาระด้านสวัสดิการให้กับรัฐบาล จึงมีความสำคัญต่อการบริหารความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ เมื่อพัฒนาธุรกิจประกันภัยให้เข้มแข็งมองว่าจะปรับเพิ่มจากอันดับ 3 เพื่อแซงสิงคโปร์ มาเลเซียให้ได้ในอนาคต เนื่องจากรัฐบาลต้องการนำธุรกิจประกันภัยเข้ามาอยู่ในการปฏิรูปทั้งด้านตลาดเงิน ตลาดทุน และธุรกิจประกันภัย เพื่อลดความเสี่ยงด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในปัจจุบัน เช่น ภัยจากการก่อการร้ายในรูปแบบต่างๆ จึงมองว่าการปฏิรูปในครั้งนี้จะเป็นแบบก้าวกระโดดของธุรกิจประกันภัย
ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าจะเสนอคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาเรื่องการออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Infrastructure Fund หรือ ไทยแลนด์อินฟราฟันด์ ขนาดกองทุน 1 แสนล้านบาท เพื่อระดมทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
เบื้องต้นกองทุนดังกล่าวสามารถลงทุนเปิดกว้าง เช่น ลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ ในลักษณะใกล้เคียงกับกองทุนวายุภักษ์ ในระหว่างที่โครงการก่อสร้างพื้นฐานยังไม่แล้วเสร็จ เพื่อให้กองทุนดังกล่าวมีผลตอบแทนให้กับ ผู้ถือหน่วยกองทุน โดยรัฐบาลจะรับประกันผลตอบแทนขั้นต่ำให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เพื่อให้นักลงทุนสถาบันซึ่งเป็นกลุ่ม เป้าหมายหลักสามารถลงทุนได้ทั้งสถาบันในประเทศ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข. และบริษัทประกันชีวิต และต้องมีการออกกฎหมายใหม่เพื่อรองรับการออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐานด้วย คาดว่าจะจัดตั้งเสร็จภายในสิ้นปีนี้
รัฐมนตรีคลัง กล่าวว่า ขณะนี้เป็นเวลาที่เหมาะสม เพราะช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการลงทุนภาคเอกชนโตเพียง 2% ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตด้อยลงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน จากที่จีดีพี เคยเติบโตถึง 6-7% ดังนั้นไทยจะต้องปรับประสิทธิภาพการลงทุนใหม่เพื่อช่วยการผลิตเพื่อการส่งออกให้ทันสมัยตอบสนองต่อตลาดโลก ดังนั้นปี 2559 จึงเป็นปีแห่งการลงทุน ใน 10 อุตสาหกรรมอนาคตประเทศ และ มั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะดีขึ้นกว่าปีนี้
นายอภิศักดิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า รัฐบาลอาจดึงเงินจากการประมูลคลื่น 1800 MHZ บางส่วนมาใช้ในโครงการบ้านเพื่อผู้มีรายได้น้อย ว่า การประมูลคลื่น 1800 MHZ ได้เม็ดเงินประมูลสูงกว่าที่คาดไว้ ดังนั้นก็สามารถที่จะนำมาใช้ในการดูแลภาคสังคมเช่นโครงการบ้านผู้มีรายได้น้อย หรือ การพัฒนาระบบ National E-payment ได้
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. กล่าวว่า ขณะนี้ กำลังร่วมทำงานกับกระทรวงการคลังในการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นทางเลือกของการลงทุนที่ดีมีความมั่นคง มีผลตอบแทนที่สม่ำเสมอและได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในตราสารหนี้และพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเหมาะสำหรับนักลงทุนที่เริ่มต้นการลงทุน โดยคาดว่าในปี 2559 นักลงทุนจะเริ่มลงทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐานได้
นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท กล่าวในการเสวนา "Thailand Economic Outlook 2016 โอกาส ความเสี่ยง อนาคตเศรษฐกิจไทย"ว่า ในปีหน้า โดยภาพรวมแล้ว ปีหน้ายังเป็นปีที่น่าลงทุน โดยที่การลงทุนภาครัฐจะช่วยให้ภาคอสังหาริมทรัพย์โตต่อเนื่อง แต่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวตามภาวะ
ด้านร.อ.จิตร์ เอี่ยมรุ่งโรจน์ กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่า ปีหน้า จะเป็นปีที่มีบรรยากาศ น่าสนใจลงทุน แต่บรรยากาศภาครัฐในการแก้ไขกฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ จะต้องสอดคล้องด้วย เช่น เนชั่นแนลซิงเกิลวินโดวส์จะต้องทำได้จริงหรือไม่
ด้านนายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนาคารทหารไทย แนะให้ผู้ประกอบการ เร่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงขึ้น เพราะการที่ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยกว่าร้อยละ 6 ต่อปี ก็ยากที่ประเทศจะหลุดพ้นจากการติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้ และประเทศไทย จะก้าวสู่การเป็นประเทศที่แก่และยากจน ซึ่งสถานการณ์นี้ จะเกิดในช่วง 5 ปีหรือ 10 ปีข้างหน้า ประวัติศาสตร์จึงอยู่ในมือของคนไทยในวันนี้แล้ว