WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Cเอกนต นตทณฑประภาศสคร. คาดจีดีพีไทยปี 59 จะโต 4% ส่งออกขยายตัวได้ 3-4% เชื่อ'พีพีพี ฟาสแทร็ค'จะเร่งสร้างความเชื่อมั่นกลับมา

    สคร.คาดจีดีพีไทยปี 59 โต 4%ส่งออกโตได้ 3-4% เชื่อ "พีพีพี ฟาสแทร็ค" จะเร่งสร้างความเชื่อมั่นกลับมา ประเมินก่อการร้ายในฝรั่งเศส - การประกาศสงคราม กระทบเศรษฐกิจวงจำกัด เหตุส่งออก - ท่องเที่ยวมีสัดส่วนไม่มาก แต่หวั่นหากลากยาวจะระบบเศรษฐกิจในหลายประเทศ 

     นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวนการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ประเมินว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีของไทยปี 59 จะขยายตัวได้ 4% ส่วนภาคการส่งออกขยายตัวได้ 3-4%

    ทั้งนี้ ประเทศไทยเอง ต้องมีการปรับโครงสร้างทางด้านเศรษฐกิจ ลดการพึ่งพาการส่งออกลง และหันมาเตรียมพร้อมการลงทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไป ซึ่งมองว่าการลงทุนของภาครัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน แม้ว่าปัจจุบันสัดส่วนการลงทุนของภาครัฐจะอยู่ที่ 5% ของระบบเศรษฐกิจ แต่หากทำได้อย่างเต็มที่ ก็เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 20% ของระบบเศรษฐกิจ และช่วยเพิ่มความเชื่อมั่น ดังนั้น จึงยืนยันว่า การลงทุนเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ และยังมีผลในการช่วยเสริมศักยภาพการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวด้วย

   นอกจากนี้ ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เห็นชอบโครงการพีพีพี ฟาสแทร็ก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญช่วยในการเร่งกระยวนการลงทุนที่เป็นโครงการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ พีพีพี ซึ่งตอนนี้อยู่ในแผน 5 โครงการ วงเงิน 350,000 กว่าล้านบาท โดยคาดว่าภายในเดือนมีนาคม 2559 จะสามารถสรุปรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงาน เพื่อเสนอเข้าคณะกรรมการพีพีพีอนุมัติ ก่อนจะเสนอเข้าครม.พิจารณาและเริ่มร่างสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2559 และคาดว่าภายในปลายปี 2559 จะเริ่มมีเม็ดเงินจากการลงทุนในโครงการดังกล่าวเข้าสู่ระบบ ซึ่งช่วงแรกคาดว่าจะมีเม็ดเงินไม่มากนัก แต่จะมีผลในแง่ของความเชื่อมั่น

   นายเอกนิติ กล่าวว่า ทั้งนี้ปัจจุบันไทยกำลังเผชิญกับปัญหา 2 สิ่งไปพร้อมกันทั้งปัญหาระยะสั้น และปัญหาระยะยาว ซึ่งปัญหาระยะยาวนั้นจะเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่จะต้องได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ การป้องกันปัญหาการคอรัปชั่น การปฏิรูประบบการเงิน และการปฏิรูปกฎหมายต่างๆ แต่สำหรับปัญหาระยะสั้นที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างนั้น ประกอบด้วย

     1.โครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่มีความสมดุล เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกมากเกินไปจนไม่ได้สนใจการพึ่งพาการลงทุนในประเทศ ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจและการค้าโลกประสบปัญหาชะลอตัวจึงทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนด้านที่ 2.โครงสร้างการผลิตในภาคเกษตรและภาคแรงงานไม่มีความสมดุล นำมาซึ่งปัญหาแรงงานที่ไม่มีคุณภาพ และ 3.ความไม่สมดุลในการเติบโตของหัวเมืองหลักกับท้องถิ่น ซึ่งจะเห็นได้ว่าความเจริญในด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ถึง 44% มีการกระจุกตัวอยู่เฉพาะในกทม. ปริมณฑล และภาคตะวันออกเท่านั้น

    ดังนั้น การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในอนาคตนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการลงทุนของประเทศที่จะต้องมีการวางแผนให้ชัดเจน ลดการแทรกแซงทางการเมือง และสามารถเดินหน้าโครงการลงทุนต่อได้แม้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ในขณะที่ภาคการเกษตรควรหันไปพึ่งพาเทคโนโลยีให้มากขึ้น ลดการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร ส่วนภาคอุตสาหกรรมและภาคแรงงานนั้น จำเป็นต้องมีการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาด ศึกษาและให้ความสำคัญกับกติการการค้าโลกมากขึ้น และสุดท้ายในการปฏิรูประบบราชการนั้น การกระจายอำนาจเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ในเรื่องการป้องกันปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในวงราชการก็ควรต้องมีระบบที่ช่วยปกป้องผู้ที่กล้าตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน

    ส่วนการก่อการร้ายในฝรั่งเศส และการประกาศสงคราม มองว่า จะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยในวงจำกัด เนื่องจากไทยมีการส่งออกไปฝรั่งเศสไม่ถึง 3% ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวมาไทยไม่ถึง 3% เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด หากปัญหาระยะยาวมากขึ้น ผลกระทบอาจกระจายสู่ภาคต่างๆในระบบเศรษฐกิจ

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!