WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Gอภศกด ตนตวรวงศรมว.คลัง แย้มภายใน 2 สัปดาห์นี้จะออกแผนส่งเสริมการลงทุนเพิ่ม ส่วนแผนกระตุ้นศก.ระยะยาว คาดแล้วเสร็จสิ้นเดือนพ.ย.นี้

    รมว.คลัง แย้มภายใน 2 สัปดาห์นี้จะออกแผนส่งเสริมการลงทุนเพิ่ม จะเน้นลดภาษีให้ผู้ประกอบการ ทั้งซื้อเครื่องจักร- รถยนต์ ฯลฯ ส่วนแผนกระตุ้นศก.ระยะยาว คาดแล้วเสร็จสิ้นเดือนพ.ย.นี้ เน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน โดยเฉพาะการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ กระตุ้นการจับจ่าย ยันไม่เรียกเก็บภาษีย้อนหลัง- นิรโทษกรรมเอสเอ็มอี แต่จะผลักดันเอสเอ็มอีทำบัญชีเดียวให้ถูกต้อง เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายขึ้น วอนธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามาช่วยธุรกิจขนาดเล็กมากขึ้น

     นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในการปาฐกถาพิเศษ นโยบายของกระทรวงการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทย จัดโดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. ว่า ภายใน 2 สัปดาห์นี้ คาดว่าจะมีมาตรการกระตุ้นการลงทุนออกมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีแนวโน้มเช่นเดียวกับการออกมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ โดยเบื้องต้น คาดว่าจะเป็นมาตรการทางด้านภาษี ของผู้ที่จะต้องการลงทุน เช่น สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร อุปกรณ์ รถยนต์เพื่อใช้ในเชิงธุรกิจ เป็นต้น

   "หลังจากนี้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเป็นกลุ่มๆ รัฐบาลเองพยายามที่จะเน้นการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือ หาอุตสาหกรรมที่เหมาะสมกับประเทศไทย เพื่อให้ก้าวไปข้างหน้าในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ซึ่งขณะนี้ มีคณะกรรมการที่ดูแลและ กำลังดำเนินการศึกษาอยู่ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จสิ้นเดือน พ.ย. นี้ โดยมองว่า การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้น"นายอภิศักดิ์ กล่าว

    นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้า ตนจะเข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อหารือเกี่ยวกับการลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน เพื่อให้รัฐบาลหาแนวทางในการช่วยเหลือ และลดอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้การลงทุนมีความคล่องตัวมากขึ้น

    นอกจากนี้ ในระยะต่อไป รัฐบาลจะเน้นในเรื่องของการดูแลธุรกิจตั้งแต่เริ่มจัดตั้ง การขอใบอนุญาตให้มีความรวดเร็ว ปรับปรุงให้ง่ายขึ้น อำนวยความสะดวกในเรื่องของภาษี เพื่อให้ภาคธุรกิจมีความสะดวกและคล่องตัว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินกำ ซึ่งในเบื้องต้นได้มีการหารือกับกรมสรรพากรเรียบร้อยแล้ว และมีการปรับรายละเอียดด้วย ซึ่งการดำเนินการดัวกล่าว จะช่วยให้ภาคธุรกิจมีความสะดวกและสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น

     ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังจะผลักดัน ในเรื่องของการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน ซึ่งประกอบด้วย การชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายมากขึ้นในการจับจ่ายใช้สอย และการทำบัญชีเดียวของเอสเอ็มอี เพื่อให้กลุ่มเอสเอ็มอีที่ทำบัญชีไม่ถูกต้อง เข้ามาทำให้ถูกต้อง

    ส่วนกรณีที่ภาคธุรกิจมีความกังวลว่าจะถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังนั้น ขอยืนยันว่าจะดูแลเรื่องนี้โดยจะไม่มีการตรวจย้อนหลัง แต่จะไม่นิรโทษกรรมแน่นอน แต่ทั้งนี้ หากในระยะต่อไปกลุ่มเอสเอ็มอียังดำเนินการไม่ถูกต้อง อาจมีการเรียกเก็บย้อนหลังได้ ทั้งนี้ มองว่า การทำบัญชีเดียวนั้น จะส่งผลให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

     นายอภิศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในด้านของภาคอุตสาหกรรมนั้น จะต้องสำรวจอุตสาหกรรมตัวเอง ว่าจะสามารถเพิ่มโอกาสในการแข่งขันได้อย่างไร มีความจำเป็นในการเพิ่มการลงทุนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งรัฐบาลกำลังจะมีมาตรการออกมา เพื่อกระตุ้นการลงทุนพิเศษ ซึ่งตนหวังว่า น่าจะใช้โอกาสนี้ เพื่อให้ธุรกิจตัวเองมีความสามารถในการแข่งขันและเดินไปข้างหน้าได้ ส่วนรัฐบาลก็จะมองอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อมาช่วยเติมเต็มเศรษฐกิจในอนาคตด้วย

    ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจนั้น ประเมินว่า จะไม่เห็นอัตราการเติบโตเศรษฐกิจแบบอัตราสูงนั้นอีกแล้ว โดยมองว่าหลังจากนี้ไป จะต้องเน้นการสร้างความเข้มแข็งในประเทศเพิ่มมากขึ้น ทั้งในเรื่องของการกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐ การท่องเที่ยว เพื่อให้ประเทศก้าวข้ามความยากลำบากที่อยู่ทั่วโลก นอกจากนี้ ตนต้องการให้ธุรกิจขนาดใหญ่ ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดเล็ก เพื่อให้สามารถเติบโตไปด้วยกันได้

     สำหรับ ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย การเสริมสร้างผู้มีรายได้น้อย การกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็ก โดยการออกมาตรการดังกล่าวนั้น เพื่อไปเติมเต็มให้กับกลุ่มที่ลำบาก เช่น ภาคเกษตร กองทุนหมู่บ้าน มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยมองว่าเงินจะเข้าสู่ระบบ เพื่อให้เกิดการบริโภค มีการจ้างงาน

    ขณะที่มาตรการกระตุ้นการลงทุนในช่วงปี 58-59 ปรับปรุงโครงสร้างการประกอบธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 57 แต่โครงการดังกล่าวต้องมีการประมูล และกระบวนการต่างๆ ทำให้มีความล่าช้า จึงทำให้เกิดช่องว่างระหว่างรอการลงทุน ผู้ประกอบการ นักลงทุน ประชาชน จึงมีความรู้สึกว่าไมีมีความเชื่อมั่น  กลุ่มอุตสาหกรรมบอกของขายไม่ได้ ต้องลดโอที ความต้องการยิ่งหด เมื่อเศรษฐกิจหมุนลง เราจึงต้องเติมกลุ่มที่ลำบาก คือ กลุ่ม เกษตรกร

     ดังนั้น สิ่งที่เราทำต่อมา ช่วยเหลือเอสเอ็มอี ก็คือ กลุ่มที่กำลังลำบากเช่นเดียวกัน ทำอย่างไรให้เข้าสู่สภาพคล่อง มีเงินทุนหมุนเวียน และให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ เพราะสถาบันการเงินก็มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเช่นเดียวกัน

     "ณ ขณะนี้ สภาพเศรษฐกิจแบบนี้ ตลาดขนาดใหญ่ยังดำเนินการไปได้ดี ตัวที่ลำบาก คือกลุ่มกลาง กลุ่มเล็ก ถ้าเราไม่ทำอะไร สิ่งเหล่านี้เห็นมาแล้ว จากเล็ก หนี้รายกลางเสีย ก็จะลุกลามเป็นลูกโซ่ รู้ว่าตรงไหนจะเป็นปัญหา เราแก้ปัญหาก่อน อย่าให้ปัญหารุกลาม ผมอยากให้รายใหญ่ มีโอกาสช่วยเอสเอ็มอีที่อยู่ในภาคธุรกิจเดียวกัน ถ้าสามารถจูงเอสเอ็มอีเล็กๆเติบโตได้ จะเป็นเรื่องที่ดี เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น บริษัทแม่ดีเข้มแข็ง สามารถพาบริษัทเล็กตามไปได้ เอสเอ็มอีจะเป็นแหล่งดูดซับกำลังคนของประเทศ หากเอสเอ็มอีไม่เข้มแข็ง จะมีปัญหาเรื่องสังคม คนจะมีงานทำน้อย"นายอภิศักดิ์ กล่าว

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!