WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Gอภศกดรัฐยอมสูญ 1.5 หมื่นล.ปลุกอสังหาฯ ครม.งัดมาตรการกระตุ้นซื้อ-ขายที่อยู่อาศัย

   แนวหน้า  : คณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น ช่วยผู้มีรายได้น้อยที่อยากมีบ้านแต่ถูกแบงก์ปฏิเสธให้สินเชื่อ ให้มากู้ขอกับ ธอส. โดยตั้งวงเงิน 1 หมื่นล้าน คนซื้อบ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 3 ล้าน ยื่นลดหย่อนภาษีได้ 20% หั่นค่าธรรมเนียมจดจำนองการโอน เป็นเวลา 6 เดือน สมคิด ชี้แม้รัฐเสียรายได้จากภาษี แต่ช่วยให้ภาคธุรกิจฟื้นตัวได้

     นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้คนมีรายได้น้อย และกู้เงินซื้อบ้านไม่ผ่านการพิจารณาของสถาบันการเงินมายื่นขอกู้ใหม่ ด้วยการให้ ธอส. เตรียมวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท พิจารณาสินเชื่อจากผู้ถูกปฏิเสธ สินเชื่อจากแบงก์อื่น เพื่อผู้ซื้อที่อยู่อาศัยได้มีบ้านได้ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว คาดว่าจะมีผู้ถูกปฏิเสธสินเชื่อกลับมาขอสินเชื่อผ่าน ธอส.ประมาณ 5-6 พันราย กำหนดระยะเวลารับคำขอและการทำนิติกรรม 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2558 และให้ ธอส. สามารถขยายระยะเวลาได้ตามความเหมาะสม ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 30 ปี และมีกลุ่มเป้าหมาย คือผู้ที่มีรายได้สุทธิต่อเดือนไม่เกิน 30,000 บาท โดยเกณฑ์หลักประกันเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติงานสินเชื่อของ ธอส.

    นอกจากนี้ ยังเห็นชอบ การลดค่าธรรมเนียมจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% ของมูลค่าจดจำนอง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ในกรณีการจำนองฯ เหลือ 0.01% เพื่อเร่งให้เกิดการทำนิติกรรมโดยเร็ว รวมทั้งการลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เหลือ 0.01% เป็นเวลา 6 เดือน สำหรับการซื้อบ้านทุกราคา เริ่มตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคมปี’59 รวมทั้งมาตรการลดภาระคนซื้อบ้านไม่เกินราคา 3 ล้านบาท ด้วยการนำเงินสัดส่วน 20% ของราคาซื้อบ้านมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทำให้ราคาบ้านลดลง 20% โดยผู้ได้รับสิทธิจะต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์มาก่อน และมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ที่ซื้อเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี กล่าวคือต้องเป็นการซื้อครั้งแรกและเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยจริง โดยต้องใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อเนื่องกัน5 ปีภาษี นับแต่ปีภาษีที่มีการจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ โดยให้แบ่งใช้สิทธิ์เป็นจำนวนเท่าๆ กันในแต่ละปีภาษี ทั้งนี้ ต้องจ่ายค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบวันนี้ ถึงวันที่31 ธันวาคม 2559

    ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า แม้ว่ามาตรการดังกล่าวกระทบรายได้รัฐบาลลดลง15,000 ล้านบาทต่อปี แต่จะช่วยให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวดีขึ้น หลังจากนั้นจะผลักดันให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องขยายตัวดีขึ้นตามไปด้วย นายกรัฐมนตรียังมีนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศให้มีที่อยู่อาศัย จึงได้หารือกับการเคหะแห่งชาติ และกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้มีบ้านเป็นของตนเอง

     ด้านนางสาวกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการ ด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลืออสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลคาดว่าจะช่วยให้ผลประกอบการของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ปีนี้เป็นไปตามเป้าหมาย แต่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมปีนี้เพียงเล็กน้อย เพราะเหลือเวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น จึงมองว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจปีหน้าเมื่อผู้ซื้อบ้านนำเงินที่เหลือจากการลดหย่อนภาษี ไปใช้จ่ายซื้อวัสดุก่อสร้าง เพื่อต่อเติมบ้าน

      ส่วนการผ่อนปรนเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ยอมรับว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่ยังน้อยกว่าการปล่อยสินเชื่อประเภทอื่น เนื่องจากยังมีสินทรัพย์ค้ำประกันอยู่ต่างจากสินเชื่อเพื่อการบริโภคที่มีความเสี่ยงสูงกว่า ขณะที่ผู้กู้เพื่อที่อยู่อาศัยจะหาเงินมาชำระค่างวดเพื่อไม่ให้บ้านถูกยึด สำหรับผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมปีนี้ตั้งแต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะแรกวงเงิน 130,000 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยเศรษฐกิจไทยให้เติบโตเพิ่ม 0.1-0.4% จากหลายหน่วยงานคาดการณ์ทางเศรษฐกิจขยายตัว 2.5-3% ปีนี้

     ด้านนางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (เจแอลแอล) กล่าวว่า จากการที่มีนักสังเกตการณ์และนักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยยังมีทิศทางที่ไม่สดใสในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า รัฐบาลจึงมีการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือการกระตุ้นภาคธุรกิจที่อยู่อาศัย ซึ่งมีการเสนอให้มีการออกประกาศลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% ของราคาประเมิน และค่าธรรมเนียมการจดจำนองจาก 1% ของมูลค่าสินเชื่อเหลือ0.01% สำหรับค่าธรรมเนียมทั้ง 2 รายการเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งแม้มาตรการดังกล่าวจะเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นแต่นับเป็นข่าวดีสำหรับตลาดบ้านและคอนโดมิเนียม

     นางสุพินท์กล่าวว่า แม้มาตรการระยะสั้นที่ได้รับการเสนอดังกล่าวอาจไม่ช่วยกระตุ้นให้เกิดดีมานด์หรือความต้องการใหม่เพิ่มขึ้นในตลาดที่อยู่อาศัย แต่เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นให้มีการเร่งการซื้อและโอนบ้าน-คอนโดฯให้เร็วขึ้น แต่โครงการบ้านและคอนโดฯที่ก่อสร้างยังไม่เสร็จพร้อมให้โอนในช่วง 6 เดือนข้างหน้าจะไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ นอกจากนี้ ค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนองมีสัดส่วนที่ไม่มากเมื่อเทียบกับมูลค่าของบ้านหรือคอนโดฯที่ซื้อ ดังนั้น การลดค่าธรรมเนียมทั้ง 2 รายการ อาจไม่ได้มีผลมากถึงกับสามารถจูงใจให้ผู้ที่ยังไม่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยขณะนี้เปลี่ยนมาตัดสินใจซื้อได้

    “ข้อเสนอมาตรการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์สำหรับโครงการบ้านและคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จแล้วและมียูนิตเหลือขาย รวมถึงโครงการที่จะสร้างเสร็จพร้อมโอนได้ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า คาดว่าผู้ที่กำลังพิจารณาอย่างจริงจังที่จะซื้อบ้านหรือคอนโดฯในโครงการเหล่านี้อยู่แล้วจะเร่งตัดสินใจซื้อเร็วขึ้น เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมการซื้อนางสุพินท์ กล่าว

   สำหรับ มาตรการที่เสนอนับเป็นแนวทางหนึ่งที่ดีเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจที่อยู่อาศัยในช่วงที่การซื้อขายชะลอตัว การกระตุ้นให้มีการซื้อและการโอนเร็วขึ้นจะช่วยเสริมความเข้มแข็งทางการเงินให้กับผู้พัฒนาโครงการให้สามารถลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ๆ ต่อไปได้ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการลงทุนโดยภาคเอกชนที่จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจมหภาคของประเทศต่อไป อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรมีการเร่งพิจารณาโดยเร็วเนื่องจากเมื่อมีข่าวการเสนอมาตรการกระตุ้นเผยแพร่ต่อสาธารณะแล้ว ทำให้ผู้ซื้อชะลอการตัดสินใจซื้อไว้ก่อน เพื่อรอการประกาศมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!