- Details
- Category: คลัง
- Published: Thursday, 24 September 2015 08:29
- Hits: 6342
รมช.คลัง มั่นใจเบิกจ่ายงบลงทุนปีงบฯ 59 ดีกว่าปี 58 เร่งปลดล็อคโครงการต่างๆ เร็วสุด ขณะที่ขู่ดึงงบคืนหากพบโครงการล่าช้า
รมช.คลัง มั่นใจเบิกจ่ายงบลงทุนปีงบฯ 59 ดีกว่าปี 58 เร่งปลดล็อคโครงการต่างๆ เร็วที่สุด ขณะที่ขู่ดึงงบคืนหากพบโครงการล่าช้า คาดสิ้นปีนี้ ประชาชนสมัครเข้ากอช.เป็น 500,000 ราย จากปัจจุบัน 280,000 ราย ด้านสศค.ห่วง 10 ปี ข้างหน้า รัฐฯ ต้องใช้งบดูแลประชาชนพุ่งเป็น 800,000 ลบ. หรือ 3% ของจีดีพี จากปัจจุบันอยู่ที่ 300,000 ลบ. หวั่นกระทบเสถียรภาพการคลัง
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในการปาฐกถาพิเศษ นโยบายเศรษฐกิจในการส่งเสริมการออมอย่างเป็นระบบของผู้ใช้แรงงานในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จัดโดย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข. ว่า การเบิกจ่ายงบประมาณในการลงทุนปี 2559 คาดว่าจะดีขึ้นกว่าปีนี้อย่างแน่นอน โดยจะพยายามปลดล็อคโครงการลงทุนต่างๆ โดยโครงการวงเงินที่ 500,000 -2 ล้านบาทนั้นจะใช้วิธีการสอบราคา ซึ่งหากพบว่า โครงการใดไม่คืบหน้า หรือดำเนินการล่าช้า จะดึงงบคืน โดยในปีงบประมาณ 58 ที่ผ่านมาดำเนินการในไตรมาส 4 ปี แต่สำหรับในปี 59 จะดำเนินการในช่วงไตรมาส 3
ทั้งนี้ คาดว่า ภายในสิ้นปีนี้คาดว่าจะมีผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. รวมทั้งสิ้น 500,000 ราย จากปัจจุบันมีทั้งสิ้น 280,000 ราย โดยมองว่าจะมีผู้สูงวัยเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะต้องวางแผนบริหารจัดการการใช้งบประมาณเพื่อดูแลคูณภาพชีวิตของประชาชน โดยจะหาแนวทางเพิ่มผลตอบแทน เพื่อดึงให้ประชาชนเข้าสู่ระบบการออมเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดภาระงบประมาณของภาครัฐ ที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต โดยปัจจุบันภาครัฐมีการจ่ายเงินชดเชยให้กับภาระเบี้ยยังชีพ และบำเหน็จบำนาญ รวมประมาณ 300,000 ล้านบาท และในอนาคตคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 600,000-700,000 ล้านบาท ซึ่งภาครัฐจะต้องมาวางแผนว่าจะบริหารอย่างไรให้มีความยั่งยืน
"เป็นความท้าทายของทุกประเทศทั่วโลกที่จะต้องหารายได้ให้พอในการดูแลประชาชน โดยประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถดูแลได้ครอบคลุม แต่ยังขาดความยั่งยืน เนื่องจากปัจจุบันยังไม่พบปัญหาดังกล่าว แต่ในอนาคตจะต้องมีแน่นอน เพราะเมื่อประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี จะอายุยืนขึ้น"นายวิสุทธ์ กล่าว
ทั้งนี้ สิ่งที่ภาครัฐจะต้องคำนึงถึง คือ ทำอย่างไรไม่ให้ภาระเกินกว่าที่จะสามารถรองรับได้ โดยปัจจุบันภาระที่รับอยู่ที่ 2% ต่อจีดีพี ซึ่งภาครัฐจะต้องดูแลไม่ให้เกินกว่าที่ภาครัฐจะรองรับได้
นายวิสุทธ์ กล่าวว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันที่อยู่ที่ 80% ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี นั้น เกิดจากการไม่รักษาสมดุลระหว่างรายได้และรายจ่าย ซึ่งในอนาคตมองว่า การออมถือเป็นเรื่องใหญ่ที่คนไทยจะต้องตระหนัก เพราะไทยกำลังเข้าสู่ประชากรวัยสูงอายุเพิ่มมากขึ้น
ด้านนางนวพร วิริยานุพงศ์ เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. กล่าวว่า สศค.ห่วงในอีก 10 ปีข้างหน้า ห่วงภาระงบประมาณแผ่นดิน ที่จะต้องใช้ในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประขาชน และแรงงาน ผ่านกองทุนต่างๆ เช่น บำเหน็จบำนาญ เบี้ยยังชีพ เงินสบทบเข้ากองทุนวัยเกษียณจะเพิ่มขึ้นเป็น 800,000 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 3% ของจีดีพี ซึ่งในปีที่ผ่านมาภาครัฐใช้งบประมาณในการชดเชยและสมทบเข้ากองทุนประมาณ 300,000 ล้านบาท ซึ่งหากใช้งบประมาณเยอะ จะกระทบต่อเสถียรภาพการคลัง
โดยในสัดส่วนดังกล่าว แบ่งเป็น บำเหน็จบำนาญข้าราชการ 60% เบี้ยยังชีพ 20% กบข. 15% ที่เหลือเป็นประกันสังคมและกอช. 5%
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย