- Details
- Category: คลัง
- Published: Saturday, 19 September 2015 08:09
- Hits: 5504
รมว.คลัง-ผู้ว่าธปท.คาดเฟดขึ้นดบ.แบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่กระทบเงินทุนเคลื่อนย้าย เหตุตลาดรับรู้แล้ว
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ระบุว่า การที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยมองว่าน่าจะมีผลดีกับทุกประเทศทั่วโลก ไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้น โดยจะเป็นผลดีกับประเทศที่กำลังพัฒนา เนื่องจากหลายฝ่ายมีความเป็นห่วงว่า หากเฟดมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอาจส่งผลให้ผลตอบแทนของค่าเงินดอลลาร์สูงขึ้นจะทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออก
นอกจากนี้ มองว่า การที่เฟด ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาพรวมเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เองที่ฟื้นตัวดีขึ้น ไม่ได้มีปัญหาเหมือนที่ผ่านมา แต่อาจจะยังมีความเป็นห่วงเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวอยู่ โดยเฉพาะจีน ดังนั้นแนวทางการในการพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจึงอาจชะลอไปก่อน แต่ท้ายที่สุดเชื่อว่าเฟดจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแน่นอน ซึ่งจะเป็นการปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป
ในกรณีที่หากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย จะส่งผลให้เกิดภาวะเงินไหลกลับหรือไม่นั้น รมว. คลัง ระบุว่า ส่วนใหญ่ตลาดจะมีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง นักลงทุนจะไม่ตื่นตกใจ ก็เหมือนการปรับขึ้นดอกเบี้ยองเฟด ที่มีการพูดกันมาหลายเดือนแล้ว ตลาดรับรู้และมีการปรับตัวแล้ว จึงไม่น่ามีอะไรกังวล
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า FED คงพิจารณาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศแล้ว โดยปัจจัยภายในคือพิจารณาจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯเอง ว่าถึงจุดเหมาะสมที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ ส่วนปัจจัยภายนอกนั้น เชื่อว่า FED คงมองว่าตอนนี้ตลาดการเงินโลกค่อนข้างอ่อนไหว จึงทำให้ตัดสินใจคงดอกเบี้ยไว้ก่อน ซึ่งเป็นการตัดสินใจจากการประเมินสถานการณ์ของหลายๆ ประเทศ ไม่ใช่แค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง
ส่วนการที่ FED คงอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มความผันผวนให้ตลาดการเงินหรือไม่ และเม็ดเงินที่คาดว่าจะไหลออกจะกลับมาเป็นไหลเข้าหรือไม่นั้น ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า คงไม่ส่งผลรุนแรงขนาดนั้น เพราะโจทย์เดิมก็ยังคงอยู่ โจทย์ไม่ได้กลับทิศหรือมีโจทย์ใหม่ เพราะแนวโน้มคือ FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ย เพียงแต่ว่าจะปรับขึ้นในช่วงเวลาใดเท่านั้น
“โจทย์มันยังค้างอยู่ โจทย์ไม่ได้กลับทิศ โจทย์ยังไปทิศนั้น(ขึ้นดอกเบี้ย) แต่ว่าเมื่อไรเท่านั้น เขาคงไม่ได้ทำ QE4 เขาคงคิดว่าจะเริ่มปรับดอกเบี้ยเมื่อไร" ผู้ว่าฯธปท. กล่าว
ส่วนจะเป็นการเปิดพื้นที่นโยบายการเงินของไทยมากขึ้นหรือไม่นั้น นายประสาร กล่าวว่า ยังไม่คิดถึงขนาดนั้น เพราะโจทย์เดิมยังค้างอยู่ คงต้องติดตามความไม่แน่นอนยังค้างอยู่ในตลาด
นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การตัดสินใจคงดอกเบี้ยของเฟดดังกล่าวเป็นสิ่งที่นักลงทุนในตลาดการเงินโลกส่วนใหญ่คาดหมายไว้แล้ว
สำหรับ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดการเงินมิได้รุนแรงและเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ กล่าวคือ ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่าลงบ้างประมาณ 1%เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะสั้นปรับลดลงเล็กน้อยจากการกลับเข้ามาซื้อของนักลงทุน ส่วนตลาดหุ้น Dow Jones ของสหรัฐฯ ผันผวนบ้าง แม้ในช่วงแรกจะตอบรับเป็นบวก แต่ปิดตลาดปรับลดลง เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น
ส่วนผลต่อตลาดในภูมิภาค ในช่วงเช้าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยค่าเงินและดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคปรับตัวในลักษณะผสม เช่นเดียวกับค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวในกรอบ ล่าสุดเงินบาทอยู่ที่ระดับ 35.84 บาท (เวลา 9.00 น.)ปรับอ่อนค่าลงเล็กน้อย 0.3%เทียบกับปิดตลาดวานนี้
ทั้งนี้ แม้ช่วงเวลาที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะล่าช้าออกไปบ้าง แต่ความผันผวนในตลาดการเงินโลกน่าจะคงอยู่ต่อไปจากความเสี่ยงของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน
ดังนั้น ธปท. จะติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินโลกอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็ควรจะระมัดระวังและเตรียมความพร้อม เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนได้ทั้ง 2 ทิศทาง โดยอาจพิจารณาใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อลดทอนผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นได้
อินโฟเควสท์
กระทรวงคลังยันพร้อมรับมือเฟด ชี้สหรัฐฯชะลอขึ้นดอกเบี้ยส่งผลดี
แนวหน้า :นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0-0.25% นั้นมองว่าในตลาดมีการคาดการณ์อยู่แล้วว่า จะคงดอกเบี้ย ถึงแม้ประเทศสหรัฐฯ จะไม่มีปัญหา แต่สหรัฐฯคำนึงว่า สหรัฐฯเป็นประเทศใหญ่ หากเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจส่งผลให้ประเทศอื่นๆ เกิดปัญหาเพิ่มขึ้นได้ ประกอบกับเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าระมัดระวัง แต่อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วเชื่อว่า เฟดจะต้องค่อยๆ ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ การที่สหรัฐฯชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะหากเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย ผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยสหรัฐจะปรับสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เงินไหลกลับเข้าสหรัฐฯ
"สิ่งที่ตลาดกลัว คงไม่ใช่เฟดขึ้นดอกเบี้ย เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนพูดมาหลายเดือนแล้วว่าจะขึ้น เขาคงทยอยปรับขึ้น และตลาดก็รับรู้มาอยู่แล้ว แต่ที่คนกลัวคือ เหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จะสร้างความตกใจให้กับตลาดมากกว่า"นายอภิศักดิ์ กล่าว
BBL คาดเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.-มองบาทขณะนี้อ่อนค่าสอดคล้องภูมิภาค
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ(BBL) กล่าวว่า แม้ที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน(FOMC) ยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบนี้ แต่ได้เห็นการตัดสินใจที่ชัดเจนมากขึ้นว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้อย่างแน่นอนอย่างน้อย 1 ครั้ง
"การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมนัดสำคัญที่มีการแถลงถึงแนวคิดเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยอย่างชัดเจน แม้จะมีการคงดอกเบี้ยในครั้งนี้เพื่อรอดูเหตุการณ์ต่างๆ แต่ประธานเฟดบอกว่ากรรมการส่วนมากอยากขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งในปีนี้จะเหลืออีก 2 meeting คือ ตุลาคม และ ธันวาคม" นายกอบศักดิ์ กล่าว
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถือว่าฟื้นตัวจากวิกฤติเรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้ตัวเลขการจ้างงานสูงขึ้นกว่าปี 2008 ถึง 2-3% มีการจ้างงานเดือนละ 2-3 แสนคนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงหมายความว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ภาวะปกติ จึงทำให้สหรัฐฯ เองมีคำถามว่าแล้วทำไมถึงจะต้องคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำไว้ที่ 0-0.25% ต่อเนื่องมาถึง 7 ปี ดังนั้นเมื่อสหรัฐฯ มองว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติ การที่จะยังคงอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องไปนานขนาดนี้ สหรัฐฯ อาจจะเป็นต้นเหตุของปัญหาในอนาคตได้ จึงทำให้ขณะนี้สหรัฐฯ กำลังเตรียมการที่จะนำไปสู่การขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้
นายกอบศักดิ์ คาดว่า FOMC จะปรับดอกเบี้ยในช่วงเดือน ธ.ค.58 ซึ่งเป็นการประชุมรอบสุดท้ายของปีนี้ เพราะการตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงนั้นจะทำให้ได้รับข้อมูลภาวะเศรษฐกิจในช่วงสิ้นปีของประเทศต่างๆ รวมทั้งเศรษฐกิจโลกก่อนที่จะนำมาตัดสินใจ รวมทั้งให้เวลาตลาดได้ปรับตัวอีกเล็กน้อย
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะอ่อนค่าลงเล็กน้อยในระยะสั้นๆ เนื่องจากเป็นการปรับความคาดหมายใหม่ว่า FOMC ยังไม่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้ แต่จะเป็นการปรับขึ้นในรอบต่อไป ซึ่งเมื่อถืงช่วงเวลาที่ FOMC ปรับขึ้นดอกเบี้ยจริงเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็จะกลับมาแข็งค่าขึ้นและจะมีผลต่อเงินบาทให้อ่อนค่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมการไว้ในช่วงปลายปี
นายกอบศักดิ์ มองว่า ค่าเงินบาทที่ระดับ 36 บาท/ดอลลาร์ ถือว่าปรับตัวได้ดีแล้ว จากก่อนหน้าที่แข็งค่าอยู่ที่ระดับ 32.50 บาท/ดอลลาร์ ถึง 3-4 เดือนในช่วงต้นปี ซึ่งแข็งขึ้น 2% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่สกุลเงินของประเทศอื่นอ่อนค่า และการที่เงินบาทได้ปรับตัวอ่อนค่าลงมา 3-4 บาท/ดอลลาร์ หรืออ่อนค่าลง 10-12% จากช่วงต้นปี ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงมาใกล้เคียงกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคยกเว้นริงกิตมาเลเซีย
"ตอนนี้ ค่าเงินบาทสอดคล้องกับภูมิภาค น่าจะแข่งขันได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเงินบาทจะหยุดอยู่ตรงนี้ เพราะต้องขึ้นกับสถานการณ์ของจีน การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้ ชี้ไปทิศทางเดียวกันว่าในช่วง 3-6 เดือนนี้เงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าได้อีกจากปัจจัยภายนอก"นายกอบศักดิ์ กล่าว
ขณะที่มองว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยหมดช่วงขาลงแล้ว การลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเพราะต้องการส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง และขณะนี้เงินบาทได้อ่อนค่าลงไปจากช่วงต้นปีมากแล้ว จึงเชื่อว่า กนง.คงจะไม่ปรับลดดอกเบี้ยลงอีก ซึ่งเงินบาทในระดับ 36.00 บาท/ดอลลาร์ ถือว่ามีความเหมาะสมต่อสภาพเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน
อินโฟเควสท์
'ประสาร'ย้ำศก.ไทยแกร่งทุนฯสูงกว่าหนี้-เกินดุลอื้อ
ไทยโพสต์ : ราชประสงค์ * 'ประสาร' ระบุ กนง.คงดอกเบี้ย 1.50% เป็นระดับที่ประคองเศรษฐกิจได้ดี ย้ำ ศก.ไทยแข็งแกร่ง ทุนสำรองฯ 1.7 แสนล้านดอลลาร์ สูงกว่าหนี้ต่างประเทศ แถมยังเกินดุลบัญชีสะพัด
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี 2558 ว่า กรณีการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นั้น มองว่าอัตราดอกเบี้ยในระดับ 1.50% จะช่วยประคองเศรษฐกิจได้ดี เนื่องจากขณะนี้มีความไม่แน่นอนในตลาดการเงินมาก การดำเนินนโยบายการเงินจึงควร คำนึงถึงเสถียรภาพ จึงไม่ต้องการให้เกิดความไม่แน่นอนในตลาดการเงิน
ประกอบกับยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนอยู่พอสมควร เช่น ปัจจัยในเรื่องมุมมองของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อความผันผวนของตลาดการเงิน และปัจจัยจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่กำลังจะมีการพิจารณาว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ หากมีการปรับขึ้นจริง กนง.ประเมินว่าจะสามารถรับมือได้จากเครื่องมือต่างๆ ที่มีอยู่และไม่กระทบกับการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ
ปัจจุบันทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยสูงถึง 170,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศที่มีอยู่ 130,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนต่างชาติมีไม่มาก เพราะต่างชาติถือครองพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตร ธปท.อยู่ 8% นักลงทุนต่างชาติลงทุนหุ้นไทย 30% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนระยะยาว นอกจากนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น หากพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่งและมีทุนสำรองมากพอที่จะสามารถชำระหนี้ได้ไม่มีปัญหา.
ผู้ว่าธปท.คาดเลือกกนง.ใหม่แทนอาคมได้ต.ค. ก่อนประชุมตามกำหนดในต้นพ.ย.
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิมาทำหน้าที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) หลังจากที่มีการแต่งตั้งเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) คนใหม่แทนนายอาคม เติมพิทยาพิสิฐ อดีตเลขาธิการ สศช.ว่า คาดว่าจะมีการประชุมเพื่อคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนต.ค.นี้ ก่อนที่จะมีการประชุม กนง.อีกครั้งในช่วงต้นเดือน พ.ย.
“จะให้ผู้ว่าฯ ธปท.คนใหม่เป็นคนเสนอ บอร์ดแบงก์ชาติคงต้องประชุมในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนต.ค. เพราะเมื่อได้คนใหม่แล้ว จะได้มีเวลาก่อนจะเริ่มประชุม กนง.สัก 2 อาทิตย์" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
ทั้งนี้ กรรมการ กนง. 7 คน จะเป็นคนในธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) 3 คน และจะพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ธปท.อีก 4 คน ซึ่ง 1 ใน 4 คนจะเป็นเลขาธิการ สศช.หรือไม่ก็ได้ เพราะเป็นการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ได้ยึดกับตำแหน่งเลขาธิการ สศช. ซึ่งแตกต่างจากคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (บอร์ดธปท.) ที่ต้องมีเลขาธิการ สศช.เป็นกรรมการในบอร์ดธปท.โดยตำแหน่ง
ผู้ว่าธปท.แนะทำความเข้าใจ-ปรับตัวรับ New Normal ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ปาฐกถาในหัวข้อ“เศรษฐกิจไทยกับบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ"ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี 2558 ว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมาบริบทของเศรษฐกิจการเงินโลกและเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในหลายมิติ และเป็น New Normal หรือบรรทัดฐานใหม่ที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เช่น New Normal ด้านการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลง ซึ่งมีนัยต่อบทบาทของภาคการส่งออกไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ, New Normal ของอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำทั้งในไทยและต่างประเทศ ส่วนหนึ่งมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงมาก ซึ่งมีผลต่อภาคธุรกิจในการตั้งราคาสินค้าและบริการ, New Normal จากระบบการเงินโลกที่มีความเชื่อมโยงมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดเงินและตลาดทุนในแต่ละประเทศถูกกระทบจากความผันผวนในตลาดการเงินโลกบ่อยครั้ง และ New Normal เกี่ยวกับโครงสร้างประชากร ที่จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุที่มากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อภาคการผลิตรวมถึงงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐเกี่ยวกับสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ และความยั่งยืนทางการคลัง
นายประสาร กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้มีขอบเขตที่กว้างกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และรวมถึงความท้าทายในมิติต่างๆ ที่กระทบต่อทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ดีเพื่อให้เห็นถึงโอกาสและความท้าทายที่ภาคส่วนต่างๆ ต้องเริ่มทำความเข้าใจและปรับตัวให้พร้อมกับบรรทัดฐานใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในการก้าวเข้าสู่บริบทใหม่นี้ มี 3 ประเด็นที่ควรจะเน้นและตระหนักถึง
ประเด็นแรก New Normal เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และนโยบายเชิงรุกมีส่วนช่วยทำให้เศรษฐกิจก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไปด้วยดี และมองว่า New Normal คือการเปลี่ยนแปลงที่มีผลยั่งยืนยาวนาน โดยมาจากการปรับตัวของปัจจัยเชิงโครงสร้างที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรเชิงลึกในระบบเศรษฐกิจที่บ่อยครั้งถูกมองข้ามไป แต่จริงๆ แล้วเป็นปัจจัยพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลังของผลลัพธ์ต่างๆ ในวงกว้าง
ทั้งนี้ หากวิเคราะห์โครงสร้างเศรษฐกิจผ่านปัจจัยการผลิตจะพบว่ากำลังแรงงานหลายประเทศหดตัว การสะสมทุนน้อยลง เทคโนโลยีพัฒนาในอัตราช้าลงส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในหลายประเทศลดลง นอกจากนี้ การค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มชะลอลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่การรวมตัวทางการเงินระหว่างประเทศกลับมีการปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดความเชื่อมโยงระหว่างภาคการเงินในแต่ละประเทศ ขณะเดียวกันเป็นการเพิ่มความผันผวนในตลาดการเงินด้วยเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่ต้องจับตาคือ โครงสร้างการค้าโลก และระดับการรวมตัวทางการเงินระหว่างประเทศ
สำหรับ นโยบายการเงิน ระดับอัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ในหลายประเทศเป็นพัฒนาการที่สำคัญ โดยสิ่งที่ทุกฝ่ายจับตาขณะนี้คือแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ ที่กำลังก้าวสู่ New Normal แต่จริงๆ แล้วคือ Back to Normal ซึ่งอาจจะกระทบต่อค่าชดเชยความเสี่ยงที่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าอยู่ในระดับที่ต่ำเกินควรจากการดำเนินนโยบายผ่อนคลายมาเป็นเวลานาน
"การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างนี้ นโยบายภาครัฐมีบทบาทสำคัญ ทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะปานกลางที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และมาตรการเชิงรุกอันจะสร้างความแข็งแกร่งในระยะยาว"นายประสาร กล่าว
ประเด็นที่สอง นโยบายเชิงรุกที่เหมาะสมจะต้องมุ่งเน้นที่โครงสร้างเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างการรับมือกับการส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอก จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลกที่อยู่นอกเหนือการควบคุม และอีกส่วนหนึ่งสะท้อนปัจจัยเชิงโครงสร้างในประเทศที่อยู่ภายใต้การควบคุมด้วย ซึ่งการปฏิรูปเชิงรุกที่มุ่งเน้นปัจจัยที่อยู่ภายใต้การควบคุม เช่น โครงสร้างการส่งออกและโครงสร้างเศรษฐกิจมหภาคสามารถมีส่วนช่วยให้การส่งออกยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำค้ญในระยะต่อไปได้
“บทบาทของไทยในห่วงโซ่อุปทานโลก เป็นปัจจัยที่จะส่งผลสำคัญต่อการส่งออก และจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจหากสามารถบริหารจัดการได้ดี" ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว
ประเด็นที่สาม ประสิทธิภาพของภาครัฐเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากขึ้นในการกำหนดขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ซึ่งสะท้อนบทบาทของภาครัฐในการวางกรอบ กฎ กติกาที่เป็นทั้งขอบเขตและแรงจูงใจของภาคเอกชนในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยในประเทศไทย ประสิทธิภาพของภาครัฐเป็นสิ่งที่ต้องเร่งพัฒนา เริ่มจากการทำงานของรัฐวิสาหกิจที่มีการถือครองสินทรัพย์สำคัญของประเทศ ทั้งไฟฟ้า ระบบขนส่ง คลื่นความถี่ ดังนั้น หากรัฐวิสาหกิจไม่มีประสิทธิภาพจะทำให้ศักยภาพเศรษฐกิจโดยรวมถูกบั่นทอน ที่ผ่านมาการทำงานของรัฐวิสาหกิจมีปัญหาค่อนข้างมาก ทั้งถูกแทรกแซงทางการเมือง ปัญหาเชิงโครงสร้าง การขาดทุน คุณภาพสินค้าหรือบริการที่ยังด้อย ดังนั้นการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจึงเป็นสิ่งเร่งด่วนและจำเป็น ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงตัวแปรเชิงลึกของระบบเศรษฐกิจซึ่งจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปข้างหน้าได้
อินโฟเควสท์
กนง.ประกาศคงดอกเบี้ย 1.50% คลังมั่นใจมาตรการรัฐบาลหนุนจีดีพีโต 3%
แนวหน้า : กนง.มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 1.50% ต่ออีกรอบ ด้วยเหตุผลเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า รายได้ครัวเรือนไม่กระเตื้อง บั่นทอนความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายของเอกชน ตลาดเงินโลกผันผวน ด้านสศค.ชี้มาตรการรัฐบาลจะช่วยดันจีดีพีโต 3% ตามเป้า “สมคิด” ถกเอกชนเช็คสภาพเศรษฐกิจ
นายเมธี สุภาพงษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง.วันที่ 16 กันยายน 2558 ว่าคณะกรรมการ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี
โดยประเด็นที่คณะกรรมการ ให้ความสำคัญในการตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้คือเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 และเดือนกรกฎาคม 2558 ขยายตัวอย่างช้าๆ การส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชีย และรายได้ครัวเรือนที่ยังไม่กระเตื้องขึ้นเป็นปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายของภาคเอกชน อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวสูง และการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาลที่เร่งตัวขึ้น รวมทั้งจะได้รับผลจากมาตรการเศรษฐกิจชุดใหม่ของภาครัฐด้วย
แรงกดดันเงินเฟ้อปรับลดลงตามราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดเป็นหลัก ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีนี้ และคาดว่าจะกลับเป็นบวกในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีหน้าซึ่งช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวก สะท้อนว่าราคาสินค้านอกกลุ่มพลังงานส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับสูงขึ้น และการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายเงินเฟ้อ ทำให้ความเสี่ยงของภาวะเงินฝืดยังคงมีจำกัด
คณะกรรมการ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับปัจจัยลบโดยเฉพาะจากต่างประเทศรวมทั้งความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่อาจสูงขึ้น อย่างไรก็ดีภาวะการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนยังเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้โดยในระยะต่อไปคณะกรรมการ เห็นว่านโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ได้ประเมินผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลออกมาในขณะนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ขยายตัวเพิ่ม 0.4% ทำให้เชื่อว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ 3% ตามที่ประเมินไว้ล่าสุด
ทั้งนี้ การประเมินของ สศค. คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการปล่อยสินเชื่อกองทุนหมู่บ้าน การให้เงินลงทุนตำบล และการเร่งโครงการลงทุนขนาดเล็ก วงเงินรวมทั้งหมด 1.36 แสนล้านบาท รวมถึงมาตรการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี 1 แสนล้านบาท หากเม็ดเงินเข้าระบบทั้งหมดก็จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เพิ่มตามที่คาดไว้ อย่างไรก็ตามสุดท้ายต้องประเมินผลว่าการเบิกจ่ายและการใช้เงินจะได้ตามเป้าที่คาดไว้หรือไม่
นายกฤษฎา กล่าวว่า รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องทั้งการกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนซึ่งมีมาตรการภาษีส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพิ่มเติม ขณะเดียวกันยังมีการลดภาษีนิติให้กับผู้ประกอบการเหลือ10% เป็นเวลาอีก 2 ปีโดยรัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณามาตรการกระตุ้นการลงทุนภายใน1-2 ปี ซึ่งจะดูว่าจะส่งเสริมอุตสาหกรรมกลุ่มไหนและจะใช้มาตรการภาษีส่วนไหนเข้ามาสนับสนุน
พร้อมกันนี้ในวันที่ 17 กันยายน นี้ที่กระทรวงการคลังนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจจะเป็นประธานประชุมประเมินสถานการณ์ด้านเศราฐกิจโดยมีกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์กระทรวงอุตสาหกรรม และคณะกรรมการร่วม3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) รวมถึงกรมภาษีต่างๆ เข้าร่วมประชุมด้วย
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่าเดือนธันวาคมนี้สศค. จะปรับจีดีพีใหม่อีกครั้งโดยเชื่อว่าจีดีพีน่าจะสูงกว่า 3% เพราะได้ผลบวกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าสำนักวิจัยเอกชนต่างๆจะปรับลดจีดีพีปีนี้เหลือโต 2.5-2.7% ก็ตาม
ส่วนการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)วันที่ 16-17 กันยายนนี้คาดว่าเฟดจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งแม้ว่าเฟดมีแนวโน้มจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยปีนี้ แต่ฐานะทางการเงินของไทยยังมั่นคง โดยมีเงินคงคลัง ณ สิ้นกรกฎาคม 2558 ทั้งสิ้น 202,000 ล้านบาท และเงินทุนในระบบอีก 700,000-800,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถรองรับกระแสการไหลออกของเงินทุนต่างชาติได้หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นจึงไม่น่ากังวัล
ปลัดกระทรวงการคลังย้ำว่ากระทรวงอยู่ระหว่างการพิจารณาศึกษาการลดภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าธรรมเนียมการโอนและค่าธรรมเนียมการจดจำนองอย่างถาวร เพื่อหวังกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยยังต้องศึกษาข้อดีข้อเสียว่าหากลดค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะกระตุ้นเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ให้ฟื้นตัวได้หรือไม่เปรียบเทียบกับรัฐต้องสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี ค่าธรรมเนียมดังกล่าว โดยจะมีข้อสรุปเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปีนี้แน่นอน